วันพฤหัสบดี, มกราคม 16, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTSส่งสัญญาณนักลงทุนให้ชัด...ไม่เช่นนั้น‘สัมปทานรอบ 25’อาจเงียบ!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ส่งสัญญาณนักลงทุนให้ชัด…ไม่เช่นนั้น‘สัมปทานรอบ 25’อาจเงียบ!!

ตรงไปตรงมาเลยว่า มีหลายเรื่องเลยค้างคาอยู่ที่กระทรวงพลังงาน เกรงว่าเวลามีการโฆษณาผลงานผ่านสื่อโซเชียลจะถูกตีค่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อ เอาเป็นเรื่องๆไปละกัน กิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นที่ทราบว่าเป็นอีกกิจการที่จะกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ และทำให้ไทยมีพลังงานในอ่าวไทยหรือบนบกในราคาไม่แพงใช้ไปอีกยาวๆ แต่ตอนนี้ต้องมาสะดุด เพราะหลายเรื่องผ่านครม.แต่ไม่ถูกนำไปปฏิบัติโดยกระทรวงพลังงาน ทำเอานักลงทุนไม่เชื่อมั่น

อย่างล่าสุด ครม.17 ธ.ค.67 มีมติอนุมัติแล้ว แต่ยังติดค้าง เช่น การให้ บริษัท โททาล เอนเนอร์ยี่ส์ อีพี ไทยแลนด์ จำกัด โอนสิทธิประโยชน์ และพันธะ ที่ถือครองอยู่ในสัดส่วน 33.33% ในสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2549/71 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G12/48 ให้แก่ บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ  เป็นผู้รับสัมปทาน และผู้ดำเนินงานเพียงรายเดียวของสัมปทานนี้บริษัทของคนไทยก็น่าจะสนับสนุนกันไม่น่าต้องดอง

รวมถึงกรณีที่ครม.อนุมัติให้ เมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด และเมดโค เอนเนอร์จี ไทยแลนด์ (อีแอนด์พี) ลิมิเต็ด ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสำหรับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2539/50 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B8/38 ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2568 ถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2578 รวมทั้งมีมติอนุมัติให้บริษัท พลังโสภณ จำกัด โอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะ ที่ถือครองอยู่ในสัดส่วน 11% ในสัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 8/2549/76 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G10/48 ให้แก่บริษัท แวลูร่า เอ็นเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) เช่นกันท่านยังไม่ลงนาม

ผลกระทบจากการดองเรื่องอาจไม่เห็นชัดเจน ความเชื่อมั่นนักลงทุนวัดไม่ได้ ตีค่าไม่ได้จริงหรือ? ตอนนี้ เอกชนไม่แน่ใจนโยบายพลังงานจะไปทางไหนแน่ กระทบแน่ๆ คือ การให้นักลงทุนมาแข่งขันตามที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ประกาศเชิญชวนการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบก ครั้งที่ 25 ถ้างานนี้เงียบไม่มีใครมา เม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่คาดว่าจะได้คราวนี้ก็คงแห้ว

กระทบมาถึงต้นทุนค่าไฟ เพราะการที่นักลงทุนมาพัฒนา และนำปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศขึ้นมาใช้ แปลว่าเราจะลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ราคาแพงกว่าเกือบสองเท่ามาใช้ และจะต้องนำเข้ามากขึ้นๆ เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่เราต้องพึ่งก๊าซฯไปอีกหลายสิบปี เพราะเป็นพลังงานที่จะมาต่อเชื่อมในช่วงเปลี่ยนผ่านไปที่พลังงานหมุนเวียน

การเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบก ครั้งที่ 25 ถือเป็นการเปิดอีกครั้งในรอบ 18 ปี นับจากปี 2550 ที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ใหม่บนบกที่ยังไม่ได้มีการพัฒนาปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์

โดยครั้งนี้เปิดจำนวน 9 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 7 แปลง บริเวณจังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ ของประเทศ และพื้นที่ภาคกลางจำนวน 2 แปลง บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี รวมขนาดพื้นที่ 33,444.64 ตารางกิโลเมตร ตอนนี้เป็นช่วงประชาสัมพันธ์ให้บริษัทผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียมทั่วโลกที่สนใจเข้าร่วมการประมูล มีการเปิดห้อง Data room ให้บริษัทผู้สนใจเข้าศึกษาข้อมูล เป็นความคาดหวังว่าไม่ได้เปิดมานานและเทคโนโลยีก็มีการพัฒนา นักลงทุนน่าจะสนใจมาประมูลแข่งขันอย่างคึกคัก แต่ก็ต้องมาสะดุด เพราะภาคนโยบายพลังงานที่ไม่รู้จะไปทางไหนแน่ 

นโยบายที่ให้ทบทวนในหลายเรื่องของกระทรวงพลังงาน กระทบการเปิดเชิญชวนนักลงทุนมาประมูลสัมปทานแข่งขันแน่นอน เพราะหลังจากที่นักลงทุนตัดสินใจยื่นขอสิทธิฯ ต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติให้พิจารณาคัดเลือก และนำเสนอผลการคัดเลือกต่อคณะรัฐมนตรีผ่านรัฐมนตรีพลังงาน เขาก็ต้องคิดว่าจะสะดุดอีกหรือไม่ อยู่ๆ อาจมีการประกาศให้ชะลอการลงนาม หรือไม่อย่างไรก็เกิดได้ทั้งนั้น

ความย้อนแย้งของนโยบายโปร่งใส ตงฉิน ขณะที่เราต้องการส่งเสริมการลงทุน เราต้องการพี่งพาตนเองด้านพลังงาน เราต้องการลดค่าไฟ เราต้องการนำค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมมาลดค่าไฟ แต่เราไม่สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน นี่คือจุดเจ็บปวดของประเทศไทยที่นโยบายไม่แน่นอน

ตอนนี้เจ็บปวดซ้ำอีกกับจะฟังนโยบายจากใครกันแน่ เพราะผู้กุมอำนาจบ้านเมืองตัวจริง ที่ขยันพูดเรื่องลดค่าไฟทุกเวที ล่าสุดจริงๆพูดเมื่อ 13 ม.ค.68 ว่า “เราต้องทำให้ค่าไฟถูก ต่างประเทศพูดถึง 6 เซนต์ (คิดเป็น 2 บาทต่อหน่วย) เราต้องทำให้ได้หรือใกล้เคียง สมัยหน้าถ้าเป็นรัฐบาลจะได้เห็นใกล้เคียง”

โดยได้มีการเกริ่นแนวทางที่เรียกว่า “รีดไขมันออกจากราคาค่าไฟ” ไว้ ดังนี้ 1.ภาษีปิโตรเลียม ถ้าลด ค่าไฟก็ลด และดูภาษีตรงไหนรีดได้อีก เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าไฟ 2.รีดจากสามการไฟฟ้า 3.โรงไฟฟ้าเก่าหยุดเดินเครื่องไว้สแตนด์บายยามฉุกเฉินเท่านั้น ตรงนี้จะลดค่าไฟที่เกินได้ด้วย 4.เปิดให้ประชาชนติดโซลาร์เซลล์บนหลังคา

แนวทางการลดค่าภาคหลวง และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่จะเอาไปลดค่าไฟนั้น นักลงทุนพัฒนาปิโตรเลียมอยากรู้อยู่แล้วว่าจะทำอย่างไร ซึ่งรายได้จากค่าภาคหลวง และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเป็นเม็ดเงินที่สร้างรายได้เข้าคลังมหาศาล 1-2 แสนล้านบาทต่อปี จะทำอย่างไรต้องมีกฎหมายรองรับซึ่งเป็นงานยาว อาจจะมาทีหลังเขาหันมารีดกับรัฐวิสาหกิจง่ายกว่าเยอะ ปตท. กฟผ. กฟน. กฟภ. เตรียมตั้งรับกันให้ดี ทำอะไรง่ายๆแต่เห็นผลทางการเมืองเร็วเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว จะให้มาแก้กฎหมายแบบรื้อทั้งโครงสร้างแม้จะดีในระยะยาว แต่ยากไป ชาวบ้านเข้าใจยาก และใช้เวลานานไป ท่านคงเอาไว้ก่อน …

บลัฟไปมาหลายวันระหว่างสองพรรคเรื่องลดค่าไฟ แต่มาถึงตรงจุดนี้พรรคใหญ่เคลมจริงจังแล้ว ว่า เขาเป็นเจ้าของเรื่องนี้ เลือกตั้งใหม่ ถ้าเลือกเขาเยอะๆได้เป็นรัฐบาลสมัยหน้าค่าไฟฟ้าใกล้เคียง 2 บาทต่อหน่วยแน่นอน!  หาเสียงกันแบบนี้เลย

ทีนี้ล่ะทุกคนก็ต้องเทไปฟังผู้บริหารประเทศตัวจริงมากกว่า เห็นท่ารมว.พีระพันธุ์จะไร้ความหมาย ต้องหาเรื่องอื่นมาเคลมใหม่ อย่างไรก็ตามจากแนวทางของผู้บริหารประเทศตัวจริง สังเกตว่าไม่แตะต้องกับแนวทางการรื้อสัญญากับโรงไฟฟ้าเอกชน เพราะอย่างที่บอก บี้กับรัฐวิสาหกิจง่ายกว่าเยอะ แนวทางลดค่าไฟของเขาโดยให้โรงไฟฟ้าเก่าหยุดเดินเครื่อง คงไม่พ้นหยุดโรงไฟฟ้าของกฟผ. ..…ค่าไฟถูกใครๆก็ชอบ แต่ต้องไม่ซุกซ่อนอะไรไว้

……………

………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย….”ศรัญญา ทองทับ ”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img