ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเป้าหมายเงินเฟ้อของกนง. 1-3% ระบุมีความเหมาะสมในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาและมีความสอดประสานกับ แนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะเศรษฐกิจ และการเงินของประเทศ
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่ 1/2567 เรื่อง เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจําปี 2568
1. เหตุผลในการออกประกาศ
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบาย การเงิน ประจําปี 2568 ที่เป็นความตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติ ธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551
2. อํานาจตามกฎหมาย
กนง. ได้ออกประกาศฉบับนี้เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามความในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551
3. เนื้อหา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ตกลงร่วมกัน ดังนี้
1. เป้าหมายของนโยบายการเงินสําหรับระยะปานกลางและเป้าหมายสําหรับปี 2568 ที่ร้อยละ 1 – 3 มีความเหมาะสมในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาและมีความสอดประสานกับ แนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะเศรษฐกิจ และการเงินของประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. มีข้อตกลงร่วมกันโดยกําหนด ให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1 – 3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินสําหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสําหรับปี 2568
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะมีการดูแลเพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ภายในช่วงดังกล่าว อย่างเหมาะสมและไม่อยู่ในระดับที่สูงหรือต่ำเกินไปอย่างต่อเนื่อง โดยให้เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในระดับกึ่งกลางของช่วงดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องต้องกันว่า การมีเสถียรภาพด้านราคาจะช่วยเอื้อให้ภาคเอกชนวางแผนการบริโภคและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันเป็นพื้นฐานสําคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และระบบการเงินมีเสถียรภาพในระยะยาว
กรอบเป้าหมายของนโยบายการเงินที่ร้อยละ 1 – 3 มีความเหมาะสมเนื่องจาก
(1) เป้าหมายดังกล่าวเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพ และที่ผ่านมาสามารถ ยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ในระดับสูง (2) ช่วงร้อยละ 1 – 3มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด ทําให้เงินเฟ้อไทยถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยด้านอุปทานและปัจจัยนอกประเทศ ในสัดส่วนที่สูง ซึ่งการมีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยืดหยุ่นช่วยรองรับความผันผวนจากปัจจัยอุปทาน ที่จะมีมากขึ้นในระยะข้างหน้า
(3) การคงเป้าหมายเป็นการแสดงความตั้งใจที่จะรักษาเสถียรภาพด้านราคา อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนและช่วยยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย
2. การบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินในระยะปานกลาง
กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะหารือร่วมกันเพื่อให้การดําเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินมีความสอดประสาน โดยการดําเนินนโยบายการเงินมุ่งที่จะดูแลภาวะเศรษฐกิจ การเงิน โดยใช้เครื่องมือแบบผสมผสาน ทั้งการกําหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมและการดูแลค่าเงิน ไม่ให้ผันผวนเกินไป ซึ่งเป็นปัจจัยสําคัญที่จะเอื้ออํานวยต่อการลงทุน และรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
อีกทั้งสนับสนุนมาตรการทางการเงินโดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนและตรงจุด เพื่อดูแลแนวโน้มเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย และสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้เต็มศักยภาพ ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting)
การดําเนินนโยบายการเงินจะพิจารณาดูแลแนวโน้มเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย ควบคู่กับดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เต็มศักยภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมความเสี่ยงต่อระบบการเงิน โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสมและตรงจุด ทําให้นโยบายการเงินไม่ต้องตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อมากเกินไป จนเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน ทั้งในช่วงที่เงินเฟ้อสูงหรือต่ำจากปัจจัยชั่วคราว ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและ กนง. เห็นพ้องกันว่าไม่ต้องการเห็นภาวะเงินฝืดหรืออัตราเงินเฟ้อที่ติดลบอย่างต่อเนื่องจากราคาสินค้าและบริการ ที่ลดลงในวงกว้างโดยมีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
3. ข้อตกลงในการติดตามและรายงานผลการดําเนินนโยบาย รวมถึงการหารือร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนโยบายการเงิน
กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จะหารือร่วมกันเป็นประจําและ/หรือ เมื่อมีเหตุจําเป็นอื่นตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดําเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทาง ที่สอดประสานกัน
กนง. จะจัดทํารายงานผลการดําเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียด เกี่ยวกับ
(1) การดําเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา
(2) แนวทางการดําเนินนโยบายการเงิน ในระยะถัดไป
(3) การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังทราบ รวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาสเป็นการทั่วไป อันจะช่วยเพิ่ม การรับรู้ของสาธารณชนถึงแนวทางการตัดสินนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใส และประสิทธิภาพของการดําเนินนโยบายการเงินในอนาคต
4. ข้อตกลงในการออกจดหมายเปิดผนึกของ กนง. ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
ในระยะข้างหน้า กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2568 และ 2569 จะอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงทั้งจากปัจจัยด้านอุปทาน และปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในบางช่วงผันผวนและเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายได้
ดังนั้น กนง. จะติดตามและประเมินผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ต่อพลวัตเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง เพื่อเป็นการสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลเสถียรภาพด้านราคา ให้แก่สาธารณชน โดยจะชี้แจงถึง
(1) สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายดังกล่าว
(2) แนวทางการดําเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไปเพื่อนําอัตราเงินเฟ้อทั่วไป กลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม
(3) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะกลับเข้าสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทุก 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย และจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร
5. ข้อตกลงในการแก้ไขเป้าหมายนโยบายการเงินหากมีเหตุจําเป็น
ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจําเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง.อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนําเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา