“ไอติม” ไม่แตะเรื่องส่วนตัว “แสตมป์ อภิวัชร์” แต่ยัน ม.112 มีปัญหาในการบังคับใช้ แม้พิสูจน์ได้ไม่ผิด เสียเวลา-รับภาระทางคดี ถามส่งผลดีต่อสถาบันจริงหรือ จี้ดำเนินการตรวจสอบบอกถึงคำวินิจฉัยศาลรธน. ทำ ปชน.มีพื้นที่เดินแคบลง แต่ก็ยังหาทางออกเต็มที่ บี้ “นายกฯอิ๊งค์” เอาปัญหามาคุยในสภาตามที่เคยพูด
วันที่ 21 ม.ค. 2568 เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประเด็นร้อนของนายอภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข หรือแสตมป์ ที่มีการอ้างถึง ม.112 ว่า เรื่องนี้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดกันอย่างต่อเนื่อง และอะไรที่เป็นความขัดแย้งส่วนตัว ตนจะไม่ขอแสดงความเห็น แต่ประเด็นสาธารณะ ที่ในฐานะผู้แทนควรจะต้องติดตาม คือเรื่องประมวลกฎหมายอาญา ตาม ม.112 ซึ่งยังไม่เห็นว่าขั้นตอนที่ผ่านมาเป็นเช่นไร ตนขอพูดในเชิงหลักการที่พรรคประชาชนยึดถือ คือไม่อยากจะเห็นการที่กฎหมายเปิดช่องให้มีการใช้ ม.112 มาแก้ไขความขัดแย้งส่วนตน ต้องยอมรับว่าปัจจุบันกฎหมายเปิดช่อง ให้นำไปสู่กรณีดังกล่าวได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะใครก็ได้มีสิทธิ์ร้องทุกข์กล่าวโทษใน ม.112 ดังนั้นจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาส่วนตน ซึ่งจะนำไปสู่ 2 ปัญหาที่ตามมาได้แก่ 1.คนที่ถูกกล่าวหาแม้ว่าท้ายที่สุดพิสูจน์ได้ว่าการกระทำไม่ได้เป็นในลักษณะที่เข้าข่ายฝ่าฝืน ม.112 แต่ก็ต้องรับภาระตามกระบวนการทางคดี ซึ่งอาจจะรบกวนทั้งเวลาและการพิสูจน์ในแต่ละขั้นตอน
“ม.112 แต่ละขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงสิทธิ์ได้รับการประกันตัว ก็อาจจะไม่ได้รับการคุ้มครองด้วยมาตรฐานเดียวกัน จึงเป็นปัญหาที่เรากังวลว่าคนที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ แม้ว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้กระทำอะไรที่ผิด แต่ก็ต้องรับภาระทางคดี” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ ยังกล่าวถึงปัญหาที่ 2 คือ การที่ควรหยิบยกกฎหมายมาตรานี้มาใช้แก้ปัญหาส่วนตน ท้ายที่สุดแล้วมาส่งผลดีจริงหรือ ต่อการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และส่งผลดีจริงหรือ ต่อมุมมองของประชาชนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นปัญหาหนึ่งที่เราเคยสื่อสารมาก่อน กรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าพอกฎหมายเปิดช่องให้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ความเสียหายก็เกิดขึ้น ที่ผ่านมาเรามีการสื่อสารให้จำกัดสิทธิ์ของผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ไม่เปิดให้ใครก็ตามไปร้องทุกข์ได้ ควรจะมีกระบวนการกลั่นกรองให้มันรัดกุม
เมื่อถามว่ากรณีนี้ระบุได้เลยหรือไม่ว่าเป็นการนำ ม.112 มาเป็นเครื่องมือ นายพริษฐ์กล่าวว่า คงต้องรอข้อเท็จจริง เพราะมีข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกันอยู่ สิ่งที่ตนให้ความเห็นไปไม่ได้เจาะจงแค่กรณีนี้ แต่ในเชิงหลักการเราไม่อยากเห็นกรณีนี้หรือกรณีไหน นำมาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาระหว่างบุคคล 2 คน
เมื่อถามว่า ผู้ที่ข่มขู่มียศเป็นนายพล มันจะกลายเป็นเจ้าหน้าที่เสียเองที่กระทำใช่หรือไม่ นายพริษฐ์กล่าวว่า อย่างที่ตนเรียนว่า กรณีนี้รายละเอียดยังไม่ชัด ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำดังกล่าวจริงหรือไม่ ตนเพิ่งเห็นในข่าวว่ากองทัพบกชี้แจงว่า เป็นอดีตข้าราชการทหาร ตนคิดว่าต้องมีการดำเนินการตรวจสอบอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า พรรคประชาชนก็ถูกลดทอนนโยบายนี้จะขับเคลื่อนอย่างไรต่อ นายพริษฐ์กล่าวว่า เรายังเป็นเหมือนวันแรกที่ตั้งพรรคมา ยังยืนยันว่า มา.112 มีปัญหาในเรื่องการบังคับใช้ และตัวบทกฎหมายบางส่วน จึงควรมีการทบทวนเพื่อให้ได้สมดุล ซึ่งพอมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา การหาทางออกเรื่องนี้ก็คงจะแคบลงกว่าเดิม ดังนั้นสิ่งที่เราทำอยู่คือการศึกษาว่า ในพื้นที่ที่เหลืออยู่อะไรคือสิ่งที่พอจะเป็นไปได้ โดยที่ไม่ขัดต่อคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
“ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไม่ให้แก้ไข ม.112 เลย เพียงแต่ว่ามีคำวินิจฉัยบางส่วนที่ไปจำกัด ว่าถ้าแก้ไขต้องแก้ไขอย่างไร กระบวนการเสนอเรื่องนี้ควรจะเป็นเช่นไร ผมยืนยันว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ไปเขียนลักษณะไม่ให้มีการแก้ไข แม้คำวินิจฉัยจะทำให้พื้นที่ในการหาทางออกแคบลง แต่เราก็พยายามหาวิธีการเรื่องนี้ … ประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นที่พรรคประชาชนพูดพรรคเดียว ความจริงนายกรัฐมนตรีเราก็เคยพูด ว่าจะนำเรื่องนี้เข้ามาคุยในสภาฯ ผมก็รอดูเหมือนกันว่าวันนี้เป็นนายกฯแล้ว จะดำเนินการหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร” นายพริษฐ์ กล่าว