“รมว.อุตฯ” แจงกระทู้ยันไม่เลือกปฏิบัติปิดรง.น้ำตาลที่จ.อุดร แจงผลสอบชี้รับซื้ออ้อยเผา 40% ย้ำเป็นนโยบายรัฐบาล ลดปัญหาฝุ่น ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างพรรค พร้อมแฉ เป็นรมต.มีค่าหัว 200-300 ล้านบาท ถูกจ้องย้าย
วันที่ 23 ม.ค.2568 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในการประชุมเพื่อพิจารณากระทู้ถามสดของนายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เรื่องการปิดโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี จ.อุดรธานี ถามนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ว่า เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากพื้นที่ที่พบว่ามีรับซื้ออ้อยเผาสูงกว่า จ.อุดรธานี ไม่พบการสั่งปิดโรงงานเพราะรับซื้ออ้อยเผา เกิน 25%
โดยนายเอกนัฏ ชี้แจงว่า ยืนยันไม่มีการเลือกปฏิบัติแน่นอน และตั้งแต่ตนทำหน้าที่รมว.อุตสาหกรรมไม่ใช่นั่งเฉยๆในห้องแอร์ แต่ได้ลงพื้นที่ตรวจจับและจัดระบบใหม่ในภาคอุตสาหกรรม ปัญหากากอุตสาหกรรม สินค้าด้อยคุณภาพนำเข้าประเทศ ตนสั่งปิดและจับ ดำเนินคดีเด็ดขาด ทั้งนี้มีวางค่าตัวไว้ว่ามีเงิน 200-300 ล้านบาท เพื่อย้ายรัฐมนตรี ตนไม่กลัวเพราะตนมีหน้าที่ที่ต้องการรักษาประโยชน์ของส่วนรวม ทั้งนี้การช่วยเหลืออ้อยสด 120 บาท เสนอเข้าครม.เมื่อ พ.ย. 67 แต่ขณะนี้ ครม. ยังไม่มีมติ อย่างไรก็ดีแนวทางที่จะดำเนินการนั้นต้องการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ ที่ให้ของเหลืออ้อย เช่น ใบ ชานอ้อย ไปผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย เพื่อให้เกษตรกรตัดใบส่งขายให้โรงงาน หากกำหนดราคาที่เป็นธรรม โรงงานจะได้ และเกษตรกรมีรายได้เสริม โดยการวางระบบดังกล่าวจะทำให้ทันก่อนฤดูกาลหน้าที่จะเปิดหีบอ้อย
“การปิดโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี เป็นภารกิจของรัฐบาล ช่วยลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เป็นปัญหาระดับประเทศ โดยการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่มีเส้นแบ่งระหว่างพรรคการเมืองหรือ รมว.กระทรวงใด แต่เป็นภารกิจที่นายกฯ ให้ความสำคัญ ทั้งนี้เป็นความตั้งใจของผมที่ต้องการให้ลดการเผาอ้อย โดยล่าสุดพบอัตราการเผาอยู่ที่ 11% ที่ถือว่าต่ำที่สุด บางทีการตัดสินใจไม่ง่าย แต่ต้องช่วยกัน โดยแก้ปัญหามีต้นทุนที่ต้องจ่าย สำหรับโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี ที่ถูกปิด อุตสาหกรรมจังหวัดเข้าตรวจสอบพบว่ามีการรับซื้ออ้อยสูงสุดปริมาณ 4แสนตัน พบเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ซื้ออ้อยเผา 40% ถือว่าสูงสุด ” นายเอกนัฏ กล่าว
นายเอกนัฏ กล่าวว่า สำหรับมาตรการในปีนี้ชัดเจนตั้งแต่ ต.ค. 67 ได้แจ้งในการรประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มีโรงงานและเกษตรกร เมื่อต.ค.67 มีการขอความร่วมมืองดการเผา เกินวันละ 25% และให้โรงงานรับซื้ออ้อยเผาเกิน 25% ทั้งนี้มีมติ ครม.ที่ส่งมาถึงตน ขอให้กระทรวงเพิ่มมาตรการงดรับอ้อยเผาโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ปัญหาการไม่รับซื้ออ้อยเผาที่จ.อุดรธานี ตนได้ช่วยแก้ปัญหาและทราบว่ามีการเคลียร์อ้อยที่ค้างการรับซื้อทั้งหมดแล้ว ส่วนที่พบว่ามีอ้อยเน่านั้นจะมีมาตรการเยียวยาต่อไป