“แรมโบ้” 1 ในองครักษ์พิทักษ์ลุงตู่ ออกตัวแจงยิบงบประมาณ โต้กลับ “ฝ่ายค้าน” ยันรัฐบาลให้ความสำคัญทุกกระทรวงเพื่อนำไปดูแลประชาชนทุกกลุ่ม เหน็บแรง ส่วนหนึ่งของ “เงินกู้” เพื่อนำไปใช้หนี้จำนำข้าวที่ยุค “รัฐบาลปู” ทำไว้ ลั่นอย่าปั้นน้ำเป็นตัว เอาเท้าราน้ำ พูดให้คนสับสน
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.64 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี หนึ่งใน “องครักษ์พิทักษ์ลุงตู่” กล่าวถึงภาพรวมการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระแรก ของฝ่ายค้าน ที่ทั้งมีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก จัดสรรงบประมาณผิดพลาด ไม่ลำดับความสำคัญ รวมถึงการบริหารจัดการโควิด-19 ล้มเหลว ว่า การบริหารงานของนายกฯ และรัฐบาลที่ผ่านมา ได้แก้ไขปัญหาในหลายอย่าง พัฒนาประเทศในหลายด้าน ซึ่งก็มีผลงานที่ฝ่ายค้านก็เห็น รวมถึงการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สถานการณ์ได้คลี่คลายให้เร็วที่สุด ขณะที่การบริหารจัดการวัคซีนในระยะ 2 ปีนี้ใช้งบกว่า 21,134 ล้านบาท ทั้งเป็นการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วนคือ การจัดหาวัคซีนฟรีสำหรับคนไทยทุกคน เป็นวัคซีนซิโนแวค 8.1 ล้านโดส จำนวน 5,059 ล้านบาท วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส จำนวน 5,287 และ 35 ล้านโดส จำนวน 6,378 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะมีวัคซีนทยอยเข้ามาอีก ยืนยันเป็นไปตามแผนที่วางไว้
นายเสกสกล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตในระยะยาว ด้วยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ใช้เทคโนโลยีและคุณภาพระดับโลก เทียบชั้น Pfizer-Moderna รวมทั้งบริษัทไบโอเนทฯ สวทช. องค์การเภสัชฯ พระจอมเกล้าฯ ธนบุรี ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ต้องเตรียมพร้อมทั้งวัคซีนและโรงงานผลิต ให้ครบวงจร คู่ขนานไปกับการร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศ ระหว่างสยามไบโอไซเอนซ์ กับมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ซึ่งก็จะผลิตใช้เองในประเทศ โดยมีความสามารถในการผลิต 200 ล้านโด๊ส/ปี ใช้งบประมาณรวม 2,860 ล้านบาท รวมถึงยังมีค่าบริการฉีดวัคซีนจำนวน 1,520 ล้านบาท ค่ารักษาอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน จำนวน 30 ล้านบาท
นายเสกสกล กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังมีงบประมาณด้านสวัสดิการสังคม สรุปให้เห็นพัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ดังนี้ เงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จนถึง 6 ขวบ เพิ่มทุกปี จาก 614 ล้านบาท ในปี 59 เป็น 16,659 ล้านบาท ในปี 65 เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพิ่มทุกปี จาก 61,372 ล้านบาท ในปี 59 เป็น 83,999 ล้านบาท ในปี 65 รวมทั้งเบี้ยผู้พิการ ก็เพิ่มทุกปี จาก 10,015 ล้านบาท ในปี 59 เป็น 19,780 ล้านบาท ในปี 65 (เพิ่มรายหัว จาก 500 เป็น 1,000 บาท/เดือน) ขณะที่โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ค่าใช้จ่ายรายหัว เพิ่มจาก 2,895 บาท/คน ในปี 58 เป็น 3,798 บาท/คน ในปี 65 รวมทั้งเพิ่มสิทธิ์อีกกว่า 50 รายการ นอกจากนี้ รัฐบาลก็เห็นใจเพิ่มค่าตอบแทนให้ อสม.อีกรายละ 500 บาท/เดือน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ตอบแทนความทุ่มเทในการทำงานอย่างเสียสละ ดูแลพี่น้องในชุมชนให้ปลอดภัย
นายเสกสกล กล่าวย้ำว่า การจัดสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหมกับงบของกระทรวงสาธารณสุข ต้องพิจารณาในภาพรวมและแนวทางการดำเนินงานในระยะยาว โดยงบประมาณกระทรวงกลาโหมถูกปรับลดลงทุกปีต่อเนื่องตั้งแต่ปี 63 โดยปี 65 กระทรวงกลาโหมเสนอขอตั้งงบประมาณ จำนวน 203,282.0 ล้านบาท ลดลงจากปี 64 จำนวน 11,248.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น -5.24% ขณะที่งบประมาณด้านสาธารณสุข รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ และเสนอขอตั้งงบประมาณ 65 ไว้ที่หลายหน่วยงาน เพื่อสวัสดิการประชาชนอย่างครอบคลุมและทั่วถึงในทุกมิติด้านสุขภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 9 กรม 153,940.5 ล้านบาท ลดลงจากปี 64 จำนวน 4,338.1 ล้านบาท หรือคิดเป็น -2.74%
นายเสกสกล กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องเงินกู้ ตั้งแต่ปี 59 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลมีการลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปกว่า 2.1 ล้านล้านบาท จำนวน 162 โครงการ ซึ่งกว่า 70% เป็นการกู้เพื่อใช้ในการลงทุน วงเงินประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท หากพรรคฝ่ายค้านไม่หูหนวก ตาบอด ใจมืดมัวจนเกินไป ก็คงต้องรู้บ้าง ส่วนที่พรรคเพื่อไทยแกล้งลืมก็คือ รัฐบาลปัจจุบันนี้ต้องใช้ “หนี้จำนำข้าว” ที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สร้างความเสียหายมาเกือบ 10 ปีแล้ว โดยรัฐต้องตั้งงบประมาณชดเชย ขาดทุนจำนำข้าวไปแล้ว 705,000 ล้านบาท ปัจจุบันยังเหลือหนี้จำนำข้าวอยู่อีกประมาณ 280,000 ล้านบาท ประมาณ 12 ปี จึงจะหมด สำหรับการกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ก็มีแผนการใช้จ่ายครบถ้วนแล้ว และเบิกจ่ายไปแล้วกว่าร้อยละ 79.88% เกิดการจ้างงาน 163,628 คน ฝึกอบรมทักษะเกษตรกรไปแล้วอย่างน้อย 90,000 กว่าราย เบิกจ่ายงบประมาณที่ได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 817,000 ล้านบาท ช่วยพยุงเศรษฐกิจและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 2 ของ GDP
“เท่าที่รับฟังการอภิปรายฝ่ายค้าน มองว่านายวิโรจน์ ลักษณาอดิศร พรรคก้าวไกล ใครก็รู้ว่าเป็น “เซียนข่าวปลอม” หลอกพวกเดียวกันเองไม่พอ ชวนกันปล่อยข่าวบิดเบือนหลอกชาวบ้านให้เข้าใจผิดไปด้วย แบบนี้นอกจากจะ “ปั้นน้ำเป็นตัว” แล้ว ยัง “เอาเท้าราน้ำ” ล่าสุดก็เต้าข่าวเรื่องวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ของนายหน้าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ จนชาวบ้านเอือมระอา ประชาชนคอการเมืองฝากบอกมา เห็นหน้าตาเวลาอภิปรายแล้วระวังลูกตาจะถลนออกจากเบ้าตา เพราะท่าทางดูขึงขังเอาจริงจังเกินไป แต่พอฟังข้อมูลบิดเบือนตลอด จะพูดอะไรขอให้ได้อ้าปากพูด ไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนที่จะพูด หรือว่าพอเห็นปากไม่มีหูรูด ก็จะอ้าปากพูดลูกเดียว”นายเสกสกลกล่าวและว่า ส่วนนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ต่างกัน อ่านตามที่คนเขาร่างมาให้ ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง หลายเรื่องตนอธิบายพรรคเพื่อไทยไปหลายคนและก็ได้ตอบคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ไปแล้ว ก็ยังมาพูดซ้ำๆ ผิดๆ เพี้ยนๆ เป็นแผ่นเสียงตกร่อง แล้วบ้านเมืองจะเดินหน้าไปได้อย่างไร ข้อมูลบิดเบือนจนทำให้ประชาชนสับสน
นายเสกสกล กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดสรรงบประมาณ นายกฯและรัฐบาล ได้ให้ความสำคัญกับทุกกระทรวงฯ เพื่อนำงบประมาณไปใช้ให้เกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ดังนั้นพรรคฝ่ายค้านควรนำข้อมูลทั้งหมดออกมาพูดด้วย ไม่ใช่นำแต่ข้อมูลในด้านของตัวเองมาอภิปรายให้ประชาชนได้รับทราบ และทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดต่อรัฐบาล เดี๋ยวประชาชนจะขนานนามฝ่ายค้านว่าเป็นพวกเด็กเลี้ยงแกะ คอยพูดจาเอาข้อมูลเท็จ หลอกลวงต้มตุ๋นประชาชนรายวัน