วันพุธ, กุมภาพันธ์ 5, 2025
หน้าแรกEXCLUSIVEทำความเข้าใจ MOU44 OCA ไทย-กัมพูชา: ตอนที่ 1 เกาะกูดและเขตทางทะเล
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ทำความเข้าใจ MOU44 OCA ไทย-กัมพูชา: ตอนที่ 1 เกาะกูดและเขตทางทะเล

หลังจากประเด็น MOU 44 ถูกประโคมข่าวกันอย่างกว้างขวาง แต่ทุกอย่างหยุดอยู่กับที่เหมือนที่ผ่านมาโดยทิ้งความไม่เข้าใจในเรื่องนี้ไว้ให้กับสังคม “ดร.คุรุจิต นาครทรรพ” ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน จึงได้ออกมาอธิบายเรื่องนี้ไว้เป็น 4 ช่วงตอน

ในตอนแรกว่าด้วย “อธิปไตยในเกาะกูด และสิทธิอธิปไตยในทะเลโดยรอบเกาะกูด” ดร.คุรุจิต เล่าว่า ในช่วงสองเดือนก่อนนั้น มีข่าวประโคมแพร่กระจายไปทั่วในสื่อโซเชียลมีเดียในเรื่อง MOU 2544 ที่ไทยทำไว้กับกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2544 (2001) ทำนองว่า

ประเทศไทยไปทำบันทึกความเข้าใจอะไรไว้กับกัมพูชา ถึงให้เขามาอ้างสิทธิในเกาะกูดในจังหวัดตราด ส่อไปในทางเสียอธิปไตยของไทยในเกาะกูด?

MOU 2544 เป็นสนธิสัญญาเถื่อน ที่ผิดรัฐธรรมนูญไทย?

MOU 2544 เป็นการไปยอมรับการอ้างสิทธิไหล่ทวีปในปี 2515 ของกัมพูชาและเป็นการไปลดทอนเส้นกำหนดเขตไหล่ทวีปของไทยในปี 2516 ที่ประกาศในรูปแบบของพระบรมราชโองการ ซึ่งควรจะต้องถือเป็นที่สุด เพราะไทยได้อ้างสิทธิโดยชอบตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว?

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ล้วนทำให้เกิดความกังวลวิตกในหมู่คนไทยทั้งหลายว่า รัฐบาลไทยและข้าราชการไทยได้ไปเจรจาทำข้อตกลงอะไรที่ไม่รู้จักรักษาผลประโยชน์ของประเทศเลยหรือ? แบบนี้ควรจะต้องยกเลิก MOU 2544 กับกัมพูชา จะดีกว่าไหม?

คำถามเหล่านี้ เป็นคำถามที่คนควรจะสงสัยได้ และควรได้รับการชี้แจง เพราะคงจะมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่เข้าใจและพากันสับสนในประเด็นเกี่ยวกับ MOU ก่อนอื่น เราควรมารู้จักชื่อเต็มของเอกสารนี้ว่ามีชื่อทางการว่าอะไร ก่อนที่จะไปลงความเห็นว่าทำไมจึงชอบ หรือไม่ชอบ!

MOU 2544 เป็นการเรียกย่อจากชื่อเต็มว่า Memorandum of Understanding between the Royal Thai Government and the Royal Government of Cambodia regarding the Area of their Overlapping Maritime Claims to the Continental Shelf เอกสารจัดทำเป็นภาษาอังกฤษ (แต่มีคำแปลเป็นภาษาไทยชื่อ บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน) ลงนามที่กรุงพนมเปญ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและรัฐมนตรีอาวุโสที่ดูแลกิจการปิโตรเลียมของกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2544 (ค.ศ.2001)

“ดร.คุรุจิต” กล่าวว่า ในฐานะที่เคยทำงานเจรจาเขตทางทะเลและไหล่ทวีปกับประเทศเพื่อนบ้านมาบ้าง ในขณะที่รับราชการมาเป็นเวลา 32 ปี ได้สัมผัสและเรียนรู้บรรยากาศในการประชุมเตรียมการท่าทีของฝ่ายไทย และการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งระหว่าง “ไทยกับมาเลเซีย-ไทยกับเวียดนาม-ไทยกับกัมพูชา” ทั้งที่บรรลุเป็นข้อตกลงที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่องค์กรร่วมและพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area) พ.ศ.2522 & 2533 ความตกลงแบ่งเขตทางทะเลระหว่างไทยกับเวียดนาม พ.ศ.2540 และความพยายามในการเจรจากับกัมพูชา แต่ยังไม่สำเร็จ เพราะมีความซับซ้อนหลายปัจจัย ขอขอบพระคุณท่านธรรมรักษ์ฯ รวมทั้งท่านไพโรจน์ พรหมสาสน์ ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมข้าราชการอาวุโสแห่งประเทศไทย และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขียนบทความนี้ขึ้น เพื่อพยายามตอบข้อสงสัยหรือข้อห่วงใยของสมาชิก อย่างน้อยก็เป็นความรู้ให้แก่เพื่อนข้าราชการเกษียณด้วยกัน และหวังว่าจะเป็นข้อมูลหลักฐานอ้างอิงแก่ข้าราชการรุ่นหลังๆและวิญญูชนที่สนใจได้ทราบและค้นคว้าต่อไป”

ท่ามกลางความสับสนในข่าวสารที่คนบางกลุ่มยกขึ้นมากล่าวว่า กัมพูชาได้ขีดเส้นเขตทางทะเลของตนพาดผ่านเกาะกูดทั้งเกาะถือเป็นการไม่ยอมรับว่าเกาะกูด(ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดตราด)เป็นของไทย การทำบันทึก MOU 2544 จึงเป็นการยอมรับการอ้างสิทธิของกัมพูชาอันจะนำไปสู่การเสียอธิปไตยไทยบนเกาะกูดนั้น ถือเป็นการบิดเบือนและสร้างข่าวที่ไม่มีมูลความจริงเลย เรื่องนี้ได้มีผู้ค้นคว้าและเขียนชี้แจงไปบ้างแล้วว่า สนธิสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ.125 (ค.ศ.1907) มีข้อความในสัญญาที่ระบุถึงการคืนเกาะกูดและอื่นๆให้กับไทยว่าไว้ดังนี้ “ข้อ 2 รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย แลเมืองตราดกับเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม…”

พลเรือเอกถนอม เจริญลาภ อดีตเจ้ากรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ศาสตราจารย์พิเศษ สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นที่ปรึกษารัฐบาลไทยในเรื่องเขตแดนทางทะเลด้วย เป็นผู้ที่ผมมีความเคารพนับถืออย่างสูงในฐานะที่เคยทำงานร่วมทีมกับท่านในการประชุมเจรจาเขตไหล่ทวีปและเขตทางทะเลของไทยมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี ท่านได้กรุณามอบเอกสารบทความวิชาการที่ท่านเขียนชิ้นหนึ่งให้ผมไว้กว่า 15 ปีมาแล้ว เรื่อง “อำนาจอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูด” ท่านกล่าวเอาไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้…

“ในช่วงเวลาของปี พ.ศ.2515 (ค.ศ. 1972) ที่กัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปตามกฤษฎีกา ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 1972 นั้น บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่นำมาพิจารณา คือ อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1958 ว่าด้วยไหล่ทวีป (เวลานั้น อนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล UNCLOS 1982 ยังไม่มี)

อนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1958 ว่าด้วยไหล่ทวีป ได้นิยามคำว่า “ไหล่ทวีป” ไว้ดังนี้ “ข้อ 1 เพื่อความมุ่งประสงค์ของข้อเหล่านี้ คำว่า “ไหล่ทวีป” ใช้อ้างอิงถึง (ก) พื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดิน (sea-bed and subsoil) ของบริเวณใต้ทะเล (submarine areas) ที่ประชิดกับชายฝั่งแต่อยู่ภายนอกบริเวณทะเลอาณาเขตจนถึงความลึก 200 เมตร….”

จากนิยามของไหล่ทวีปกล่าวได้ว่า เส้นเขตไหล่ทวีปก็คือ เส้นที่ทอดไปตามพื้นท้องทะเล (sea-bed) ไปตามบริเวณใต้ทะเล (submarine areas) ดังนั้น ไม่เกี่ยวกับเกาะหรือแม้แต่ห้วงน้ำหรือมวลน้ำที่อยู่เหนือพื้นท้องทะเลเสียด้วยซ้ำ ซึ่งข้อพิจารณานี้สอดคล้องกับแผนที่ผนวก กฤษฎีกาประกาศเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาฉบับจริงที่เป็นทางการ ดังจะได้กล่าวถึงในลำดับต่อไป….

กฤษฎีกาประกาศเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา คือ กฤษฎีกาที่ 439/72/PRK ที่แผนที่ผนวกเป็นแผนที่เดินเรือขนาดมาตรฐานของกรมอุทกศาสตร์ฝรั่งเศส แสดงเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาทั้งหมด ลงนามโดยประธานาธิบดีลอนนอล ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 1972

ทั้งนี้แผนที่ตามเอกสารประกอบหมายเลข 4 เป็นแผนที่ถ่ายสำเนาโดยตรงจากต้นฉบับ โดยตัดเอามาแสดงเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกาะกูดที่เป็นประเด็นการพิจารณาของบทความนี้จะเห็นว่าเส้นเขตไหล่ทวีปช่วงแรกออกจากจุด A ซึ่งอ้างว่าเป็นหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา ที่ปักปันตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 (หลักที่ 73) จากนั้นเส้นลากมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เล็กน้อย (เล็งตรงมาที่ยอดสูงสุดของเกาะกูดนั่นเอง) จะเห็นว่าเส้นเขตไหล่ทวีปจะมาหยุดอยู่เพียงขอบเกาะกูดด้านตะวันออก แล้วเส้นนั้นจะเริ่มต้นใหม่ทางขอบเกาะกูดด้านทิศตะวันตกในระดับและทิศทางเดียวกัน ตรงออกไปทางทิศตะวันตกจนถึงเกือบกึ่งกลางอ่าวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กึ่งกลางขอบตะวันตกของเกาะกูดมีอักษรภาษาอังกฤษกำกับว่า “Koh Kut (Siam)” พิจารณาแล้วเห็นว่าจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากเส้นเขตไหล่ทวีปดังกล่าวทอดไปตาม “พื้นดินท้องทะเล” มาหยุดเมื่อถึงขอบเกาะกูดด้านตะวันออกและเริ่มต้นใหม่ที่พื้นท้องทะเลทางขอบด้านตะวันตกของเกาะกูด จะเห็นว่าเส้นนี้ไม่มีข้อพิจารณาได้เลยว่า กัมพูชาอ้างสิทธิใดๆ บนเกาะกูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอักษรกำกับข้างเกาะกูดว่า “เกาะกูด” (สยาม)

ประมาณ 2 เดือนเศษ หลังจากการประกาศกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีป กัมพูชาได้ประกาศกฤษฎีกาตามมาอีกฉบับ ในวันที่ 12 กันยายน ค.ศ.1972 คือ กฤษฎีกากำหนดทะเลอาณาเขตของกัมพูชา (กฤษฎีกาหมายเลข 518/72/PRK) เช่นเดียวกันกับประกาศไหล่ทวีป คือ มีแผนที่ผนวก และลงนามโดยประธานาธิบดีลอนนอล

จากแผนที่ผนวกประกาศทะเลอาณาเขต เส้นสีดำทึบค่อนข้างชัดเจน ที่อยู่ทางด้านซ้าย (ต้นฉบับเป็นสีแดง) เส้นขอบนอกทะเลอาณาเขตกัมพูชา ออกจากจุด A ซึ่งเป็นหลักเขตแดนไทย-กัมพูชาที่กล่าวแล้วในข้อ 2.3 ลากมาทางทิศตะวันตก โดยทับกับเส้นเขตไหล่ทวีปมาถึงจุด E1 ที่ขอบตะวันออกของเกาะกูด จากจุด E1 จะมีเครื่องหมายบวก (++++) ทอดชิดกับขอบเกาะกูดด้านตะวันออกลงมาทางใต้ จนถึงจุด E2 ที่ปลายเกาะกูดด้านใต้ เครื่องหมายบวกนั้นตามเครื่องหมายในแผนที่หมายความว่า

“เขตแดนระหว่างประเทศ ถ้าสังเกตดูจากจุด A ขึ้นไปทางเหนือตามสันเขาก็จะเห็นเครื่องหมายนี้ คือ เขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา จากปลายใต้ของเกาะกูด เส้นทะเลอาณาเขตของกัมพูชาจะลากจากจุด E2 ลงมาที่ E3 -E4 -E5 … ไปตามลำดับ สำหรับเส้นด้านในที่คู่ขนานกันคือ เส้นฐานตรงของกัมพูชาซึ่งจะขอไม่กล่าวถึงในที่นี้

จากเส้นแสดงทะเลอาณาเขตของกัมพูชา แสดงชัดเจนว่ากัมพูชาไม่ได้อ้างสิทธิเหนือเกาะกูดเลย จะเห็นว่าจากจุด E1 ถึง E2 กัมพูชาเขียนเครื่องหมายแสดงเส้นเขตแดนระหว่างประเทศกำกับพื้นที่ไว้ และเส้นทะเลอาณาเขตกัมพูชาที่แนบชิดกับเกาะกูดทางด้านตะวันตกของปลายด้านใต้ของเกาะก็เป็นสิ่งที่แสดงชัดเจนว่าเกาะไม่ได้เป็นของกัมพูชา เพราะถ้ากัมพูชาคิดว่าเป็นของกัมพูชาทะเลอาณาเขตของกัมพูชาจะต้องขยายไป 12 ไมล์รอบเกาะส่วนที่เป็นของกัมพูชา (จาก E2 มา E3) และเช่นเดียวกัน ที่ข้างเกาะกูดด้านซ้ายจะมีอักษรกำกับว่า “เกาะกูด (สยาม)”

ในปี 2517 กองทัพเรือ โดยกรมอุทกศาสตร์ได้สร้างกระโจมไฟขึ้นที่ปลายด้านใต้ของเกาะกูด กระโจมไฟเกาะกูดประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2517 ประกาศโดยเอกสารที่ชื่อว่าประกาศชาวเรือ (Notice to Mariners) จะมีรายละเอียดของตำบลที่ติดตั้งลักษณะกระโจมและลักษณะไฟ ประกาศนี้จะจัดส่งไปตามบรรดาประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การอุทกศาสตร์สากลทั่วโลก การติดตั้งกระโจมไฟนี้จะถูกนำไปแสดงไว้ในแผนที่ของประเทศต่าง ๆ ที่ผลิตแผนที่เดินเรือที่มีเกาะกูดปรากฎในแผนที่เดินเรือนั้น ดังเช่น แผนที่เดินเรืออังกฤษหมายเลข 3967

ไม่ว่าการติดตั้งกระโจมไฟเกาะกูดจะมีความประสงค์ที่จะแสดงอำนาจอธิปไตยของไทยเหนือเกาะกูดให้ปรากฎเป็นพยานหลักฐานยืนยันไปทั่วโลกหรือไม่ก็ตาม แต่การตั้งกระโจมไฟที่เกาะกูดเป็นหลักฐานแสดงอำนาจอธิปไตยของประเทศไทยเหนือเกาะกูดเสียยิ่งกว่าการย้ายคนเข้าไปอยู่ หรือแม้แต่เอาทหารเข้าไปตั้งหน่วยในพื้นที่ แทน…..”

ต่อมาจอมพลลอนนอล หลุดจากอำนาจเพราะชัยชนะในการปฏิวัติโดยเขมรแดง หลังปีพ.ศ. 2515 จนถึงปี 2538 เป็นยุคของรัฐบาลเขมรแดงภายใต้นายเขียวสัมพันและนายเอียงซารี ที่มีความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ การเจรจาปัญหาเขตแดนทางทะเลไทยและกัมพูชาต้องชงักงันไปนานถึง 24 ปี

โดยพล.ร.อ.ถนอมฯ ได้เล่าไว้ในอีกบทความของท่านเรื่อง “ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาในอ่าวไทย และ MOU 2544 ไทย-กัมพูชา” ว่า…

“การเจรจาเขตไหล่ทวีปไทย-กัมพูชาได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2538 ซึ่งช่วงนั้นกัมพูชาบริหารภายใต้นายกรัฐมนตรี 2 คน คือ เจ้ารณฤทธิ์กับท่านฮุนเซน การเจรจาครั้งแรกที่กรุงเทพฯ มีหัวหน้าคณะเจรจา 3 ท่าน โดยฝ่ายไทย 1 ท่าน คือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และฝ่ายกัมพูชามีหัวหน้าคณะ 2 ท่าน คือ นายโพธิ์ สุดธิรักษ์ รัฐมนตรีผู้แทนนายกรัฐมนตรีเจ้ารณฤทธิ์ และนายซก อาน รัฐมนตรีเป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ผลการเจรจาครั้งแรกได้มีการตกลงให้ตั้งคณะกรรมการเทคนิคร่วม (Joint Technical Committee) เพื่อดำเนินการเจรจาประเด็นทางเทคนิคต่อไป 

ปัญหาเขตทางทะเลในอ่าวไทยมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน ทั้งประเด็นทางเทคนิค กฎหมาย และประวัติศาสตร์ที่จะต้องยกขึ้นมาพิจารณาหาความตกลงได้ มีการเจรจากันทั้งเป็นทางการและโดยการประสานงานในโอกาสต่าง ๆ แต่ผลการเจรจาไม่มีความก้าวหน้าแต่อย่างใด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2543 จึงได้มีการเจรจาที่ อ.หัวหิน (ชะอำ) แต่ท่าทีของทั้งสองฝ่ายมีความแตกต่างกันไปคนละแนว คือ ไทยต้องการจะให้มีการเจรจากำหนดเขตแดนในทะเลต่อจากหลักเขตแดนทางบกที่ 73 (บ้านหาดเล็ก) ไปจนบรรจบกับเขตแดนทางทะเลไทย-เวียดนาม (ในปี พ.ศ. 2540 ไทยกับเวียดนามบรรลุความตกลงการกำหนดเขตแดนในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยแล้ว) แต่กัมพูชาต้องการให้ชะลอเรื่องการกำหนดเขตแดนในทะเลไว้ก่อนและให้ไทยกับกัมพูชาเจรจาเพื่อแสวงประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อนทั้งหมด (JDA) (ทำนองเดียวกันกับ JDA ไทย-มาเลเซีย) แนวทางที่ขัดแย้งกันนี้ทำให้ทุกอย่างหยุดอยู่กับที่ไม่มีความก้าวหน้าแต่อย่างใด

ในปี พ.ศ.2544 เพื่อให้การเจรจาเดินหน้าต่อไปได้ รัฐบาลทั้งสองได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (ซึ่งฝ่ายไทยก็ถือว่าเป็นการประนีประนอม (Compromise Solution)) บันทึกดังกล่าวมีการลงนามโดยรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2544 ความตกลงอันนี้มักจะรู้จักกันในชื่อว่า MOU 2544”

พล.ร.อ.ถนอมฯ ได้อธิบาย ถึงสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฯนี้ ไว้ว่า “MOU 2544…..เป็นความตกลงซึ่งกำหนดกรอบการเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อให้คณะผู้แทนของทั้งสองประเทศได้ดำเนินการเจรจา สรุปได้ดังนี้ การเจรจาต่อไปจะดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ การเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน และการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงแบ่งเขตแดนสำหรับทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกัน 

การเจรจาตามข้อ (1) จะต้องดำเนินการเจรจาไปพร้อมกันในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้

พื้นที่ดังกล่าวคือพื้นที่ที่อ้างสิทธิทับซ้อนของไทยและกัมพูชา พื้นที่ที่จะเจรจาเพื่อแบ่งเขตแดนคือพื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป (พล.ร.อ.ถนอมฯอธิบายว่า…เกาะกูดจะมีทะเลอาณาเขตและเขตไหล่ทวีปครบถ้วนเพราะละติจูดที่ 11 องศาเหนืออยู่ใต้เกาะกูดลงมาประมาณ 30 ไมล์ทะเล) และเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่จะต้องเจรจาเพื่อการพัฒนาร่วมคือ พื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา

รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาตกลงจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชาเพื่อรับผิดชอบการเจรจาตามกรอบที่กำหนดดังกล่าว”

นอกจากนั้น พล.ร.อ.ถนอมฯ ยังเล่าด้วยว่าตัวท่านได้รับเกียรติแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็นหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญร่วมด้านเทคนิคฝ่ายไทย ภายใต้คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา หรือ Joint Technical Committee (JTC) ซึ่งในครั้งนั้นมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน JTC ฝ่ายไทย

จากที่เล่ามาในตอนแรกของบทความนี้ สรุปยืนยันได้ว่า เกาะกูดอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) ของประเทศไทย ซึ่งกัมพูชาไม่เคยอ้างอธิปไตยบนเกาะกูด

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเห็นว่า เกาะกูดจำเป็นต้องมีทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่องรวมทั้งเขตทางทะเลของตนเองด้วยเพื่อเป็นฐานในการใช้สิทธิอธิปไตย (Sovereign Rights) ของไทยในการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในเขตนั้น MOU 2544 จึงถือเป็นครั้งแรกที่กัมพูชายอมรับว่า จะต้องเจรจากับไทยแบ่งเขตทางทะเลต่อลงมาทางด้านใต้ของเกาะกูด

…………….

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ

ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img