นายกฯลงพื้นที่ ก่อนประชุม ครม.สัญจรติดตามการจัดการน้ำทะเลสาบสงขลายืนยันรัฐบาลพร้อมดูแลให้ปชช.มีความกินดีอยู่ดี คุยภาคเอกชนไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด หนุนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกร เพาะเลี้ยงกุ้งได้ต่อเนื่อง ย้ำรัฐบาลพร้อมสนับสนุนโครงการที่สนับสนุนภูมิปัญญาเกษตรกร พร้อมเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอกับสภาพยุโรปและประเทศคู่ค้าอื่นๆ เพื่อสินค้าของประเทศไทย
เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 17 ก.พ.ณ บริเวณจุดชมวิวทะเลน้อย ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลา โดยมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และส่วนราชการในพื้นที่ รอต้อนรับ เมื่อมาถึง นายกรัฐมนตรีได้ป้อนหญ้าให้กับครอบครัวควายทะเลน้อย “สุชาติ บัวตอง และทองกวาว” พร้อมกับชมว่า “น่ารัก” ก่อนสอบถามเรื่องพืชที่ใช้เป็นอาหารของควาย และแนวทางในการกำจัดวัชพืชที่เป็นปัญหา ที่ทำให้พื้นที่ตื้นเขิน โดยเห็นว่า ควรนำวัชพืช ขึ้นมาทำปุ๋ย และนำมาถมพื้นที่บางส่วน เพื่อให้พื้นดินสูงขึ้น รวมทั้งสอบถามปัญหาและแนะนำเรื่องจุดจำหน่ายน้ำนมควายกับเกษตรกรผู้เลี้ยงควายในพื้นที่ ซึ่งกำนันในพื้นที่ กล่าวว่า มั่นใจว่าการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี จะได้รับการพัฒนาเหมือนกับสมัยที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยมาลงพื้นที่เมื่อปี 2547 และสนับสนุนด้านต่างๆในพื้นที่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “20 ปีมาแล้วไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหน ถ้ามีความเหมาะสม จะแก้ไขปัญหาโดยไม่เลือกพื้นที่ ” จากนั้น นายกรัฐมนตรีร่วมถ่ายภาพกับคณะส่วนราชการที่ลงพื้นที่เป็นที่ระลึก และ เดินชมบูธนิทรรศการ “เที่ยวชุมชนยลวิถีบ้านทะเลน้อย” ซึ่งเป็นสินค้าวิถีชุมชนขึ้นชื่อของพัทลุง เช่น ลูกปัด ปลาดุกร้า เป็นต้น
ระหว่างนี้ มีกลุ่มชาวบ้านที่มารอต้อนรับ และขอถ่ายภาพ และชูป้ายให้กำลังใจ “นายกฯ สู้ๆ”และชูป้ายที่แสดงความหวังเรื่องคลองไทย โดยมีข้อความว่า “ทักษิณคิดปี 48 อุ๊งอิ๊ง สานต่อปี 68 “

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ทักทายประชาชนที่มารอต้อนรับอย่างเป็นกันเอง พร้อมกับชมการแสดงมโนราห์ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เพื่อต้อนรับสู่แดนใต้ และรับชมวิดีทัศน์ เกี่ยวกับการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำทะเลสาบสงขลาและการพัฒนาพื้นที่ โดยช่วงหนึ่งของการรับชม ได้มีการเปิดรายละเอียดการสร้างสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ (สะพานเอกชัย) ซึ่งเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เพื่อข้ามทะเลสาบเชื่อมการเดินทางระหว่าง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และ อ.ระโนด จ.สงขลา สร้างสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร สนับสนุนงบประมาณ 700 ล้านบาท เมื่อปี 2547 เชื่อมเส้นทางให้ประชาชนเดินทางสัญจรได้สะดวก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ยิ้มพร้อมกับยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก
จากนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวกับประชาชนว่า “แหลงใต้ไม่เป็นยังรักอยู่หรือไม่” และกล่าวว่าขอบคุณที่ต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมกล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ มีรัฐมนตรีหลายท่าน กระจายอยู่ในจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ และในวันที่ 18 ก.พ. จะประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมกัน ขอขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่น และไม่ต้องห่วง มาวันนี้ รัฐมนตรี ได้ทำการบ้านเกี่ยวกับอุปสรรคปัญหาที่พี่น้องพัทลุงประสบอยู่ และดีใจที่ได้รับฟังสรุปปัญหาที่แท้จริงของประชาชนเพราะอย่างที่ตนเองพูดเสมอว่าคนในพื้นที่รู้ปัญหาของตัวเองดีที่สุด ฉะนั้น วันนี้ ต้องขอบคุณที่บอกปัญหาที่เกิดและบอกว่าสิ่งใดจะเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน เพราะหากประชาชนรวย รัฐบาลก็แข็งแรง ประเทศก็แข็งแรงไปด้วย ดังนั้นความอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นส่วนสำคัญที่สุดของรัฐบาล

“ขอบคุณที่ยังนึกถึงอดีตนายกรัฐมนตรีนายทักษิณ ที่เคยมาและสร้างประโยชน์ไว้และขอบคุณรัฐบาลสมัยของท่าน ที่มีส่วนร่วมและส่วนผลักดัน สำหรับตนจะเต็มที่และจะกลับไปทำการบ้านเพิ่มเติม ไม่อยากแก้ปัญหาทีละปี ปีหน้าปัญหาก็มาอีก อยากทำให้ปัญหาหมดไปและอยากให้ประชาชนกินอิ่มนอนหลับขอให้รักษาสุขภาพ รัฐบาลจะช่วยพี่น้องอย่างเต็มที่ รัฐมนตรีทุกคนที่มาให้ความสำคัญกับจังหวัดพัทลุง ด้วยความเป็นห่วง ขอให้มีกำลังใจในการประกอบอาชีพต่อไป” นายกรัฐมนตรี ย้ำ
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่ทะเลน้อย เป็นพื้นที่เชิงนิเวศและเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของนกประจำถิ่น และนกอพยพ โดยมีเนื้อที่ประมาณ 285,625 ไร่ ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวันครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา พื้นที่ทะลน้อยมีลักษณะเด่นเป็นพื้นที่เชิงนิเวศน์ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นที่อยู่อาศัยของนกประจำถิ่นและนกอพยพ มากกว่า 223 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 9 ชนิด ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้รับการประกาศ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (Ramsar Site) แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2541

จากนั้นเวลา 15.15 น. ณ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด จำกัด ตำบลวัดขนุน อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่พูดคุยประเด็นกระบวนการผลิตและส่งออกอาหารทะเล โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายวีระพงษ์ ประภา ผู้แทนการค้าไทย และส่วนราชการในพื้นที่ เข้าร่วม
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับฟังประเด็นกระบวนการผลิตและการส่งออกอาหารทะเล จากประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกกุ้งแช่แข็งชั้นนำของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 โดยมีฐานการผลิตหลักในจังหวัดสมุทรสาคร ก่อนขยายกิจการมายังจังหวัดสงขลา ผลิตภัณฑ์ของบริษัทครอบคลุมอาหารทะเลกระป๋อง อาหารทะเลแช่แข็ง และอาหารทะเลแปรรูป นอกจากนี้ ยังดำเนินธุรกิจในรูปแบบผู้รับจ้างผลิต (OEM) และผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง โดยตลาดหลักอยู่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย

ทั้งนี้ บริษัท ฯ กล่าวถึงปัญหาที่ทำให้ผลผลิตอาหารทะเลลดลง มี 3 สาเหตุ คือ 1.การขาดสายพันธุ์ จึงเสนอให้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในภาคใต้และภาคตะวันออก 2. โรคระบาด ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณให้กับกรมประมงเพื่อแก้ไขปัญหา และ 3.ขาดการเข้าถึงสินเชื่อให้กับเกษตรกร ที่จะประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด จำกัด ได้เสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้เกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงกุ้งได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเน้นการอบรมเทคนิคจัดการคุณภาพน้ำ พัฒนาเทคโนโลยีควบคุมสภาพแวดล้อมในบ่อเลี้ยง และการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งที่ทนต่อสภาพอากาศนอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนระบบประกันภัยและกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามว่า บริษัทมีโครงการหรือกิจกรรมที่ร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่หรือไม่ เพราะหากยังไม่มี รัฐบาลก็พร้อมให้การสนับสนุน เนื่องจากบริษัทดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 40 ปี ย่อมมีองค์ความรู้และประสบการณ์ที่สามารถถ่ายทอดให้กับชุมชนได้
“หากมีแนวทางในการทำโครงการเพื่อสังคม (CSR) หรือโครงการที่สนับสนุนภูมิปัญญาของเกษตรกร อาทิ การถ่ายทอดองค์ความรู้หรือเทคนิคต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนาการประกอบอาชีพ รัฐบาลก็พร้อมสนับสนุนแนวทางเหล่านี้เช่นกัน ส่วนการเจรจาในข้อตกลงทางการค้าที่รัฐบาลไทยได้เริ่มทำกับสหภาพยุโรปหลายประเทศแล้วนั้น มารับฟังธุรกิจประมงของไทย ก็จะเร่งพูดคุยและประสานทั้งในสหภาพยุโรปและในทวีปอื่นๆเพื่อสนับสนุนสินค้าของไทยให้ ค้าขายได้ง่ายขึ้น” นายกรัฐมนตรี ย้ำ