วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 23, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTSแผน!! ทุบ‘สว.สีน้ำเงิน’ ยืมมือ‘DSI’สลาย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แผน!! ทุบ‘สว.สีน้ำเงิน’ ยืมมือ‘DSI’สลาย

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงทางการเมืองในช่วงสุดสัปดาห์และต้องตามต่อในสัปดาห์นี้ กับกรณี “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” หรือ “ดีเอสไอ” จะนำเรื่อง เข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษหรือบอร์ดคดีพิเศษ วันที่ 25 ก.พ. เพื่อให้ดีเอสไอเข้าไปสอบสวน “การเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันปี 2567” 

ที่ส่วนใหญ่เป็น “สว.สีน้ำเงิน” ที่รู้กันดีว่า มีความใกล้ชิดกับ “พรรคสีน้ำเงิน” ในปีกรัฐบาล และเป็น “ฐานการเมือง” หลักอีกหนึ่งฐานของ “พรรคสีน้ำเงิน” ที่มีขุมกำลังในวุฒิสภาร่วม 130 ขั้นต่ำที่ยืนพื้น และสามารถระดมเข้ามาอีกราวๆ 30 เสียง แบบมาเป็นจ๊อบๆ

โดย “ดีเอสไอ” ต้องการเข้าไป สอบสวนกระบวนการเลือกสว. ที่เกิดขึ้นปีที่ผ่านมา 2567 ซึ่งทำให้ได้ “สว.สีน้ำเงิน” เป็นส่วนใหญ่ และมัก “ฟังคำสั่ง-สัญญาณการเมือง” จาก “บิ๊กเนมการเมือง” แถวๆ “บุรีรัมย์” และ “พรรคสีน้ำเงิน” ในการเคลื่อนไหวการเมือง หรือการลงมติหรือไม่ลงมตินัดสำคัญๆ เช่น การขวางการออก พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ-การไม่เข้าร่วมด้วยกับการประชุมร่วมรัฐสภา ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อ 13-14 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับ “พรรคสีน้ำเงิน”

รวมถึงการลงมติให้บุคคลไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทั้ง คณะกรรมการป.ป.ช.-คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน-ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ “สว.สีน้ำเงิน” ที่มีราวๆ ขั้นต่ำ 130 เสียง จะลงมติให้ “ใครผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” ตามสัญญาณที่ได้มาว่าจะ “ให้ใคร” หรือ “ไม่ให้ใคร” ไปเป็น กรรมการองค์กรอิสระฯ

จนทำให้ “ฝ่ายสีน้ำเงิน” สามารถส่งคนเข้าไปคุม องค์กรอิสระ” ที่เป็น “คนของตัวเอง” ได้หมด และหลังจากนี้ยังมีอีกหลายองค์กรที่รอให้ สว.ชุดปัจจุบันลงมติ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-กรรมการการเลือกตั้ง-ป.ป.ช.ชุดใหม่ ที่จะลงมติกัน 3 ชื่อ ในเร็ววันนี้ หรือการเห็นชอบรายชื่อ กสทช.ชุดใหม่ทั้งคณะ ในปี 2571 เป็นต้น

เลยมีข่าวว่า “ฝ่ายการเมืองบางกลุ่ม” มองว่า หากปล่อยให้ “สว.สีน้ำเงิน” ที่ใกล้ชิดกับ “พรรคสีน้ำเงิน” คอนโทรลคุม “องค์กรอิสระ-องค์กรศาล” ได้หมดแบบนี้ไปอีกหลายปี ย่อมไม่เป็นผลดีกับ “ฝ่ายตัวเอง” จึงต้องการเข้าไป “สลายกลุ่มสว.สีน้ำเงิน” ทำให้เหลือสว.ในกลุ่มนี้น้อยลง หรือไม่ก็บีบให้สว.สีน้ำเงิน “ย้ายค่าย-แยกตัว” ออกมาจากสว.สีน้ำเงิน เพื่อ “แลกกับการไม่โดนดีเอสไอสอบสวน” จะได้เป็นสว.ต่อไปอีก 4 ปีกว่าๆ แบบสบายใจ

ทำให้มีกระแสข่าวว่า เบื้องหลังที่ “ดีเอสไอ” จะเข้าสอบสวนดังกล่าว เป็นเรื่องของ “ความต้องการ-ใบสั่ง” จาก “ฝ่ายการเมือง” ที่ต้องการ “ทุบสว.สีน้ำเงิน” หวังให้ “แพแตก” นั่นเอง

เพราะ “ดีเอสไอ” ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด “กระทรวงยุติธรรม” ที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม คุม “ดีเอสไอ” เองโดยตรง…จึงเป็นที่น่าจับตามองยิ่ง

อย่างที่รู้กันดีว่า “พ.ต.อ.ทวี” ทำงานการเมืองใกล้ชิด “ทักษิณ ชินวัตร” มาตั้งแต่สมัยรับราชการอยู่ “ดีเอสไอ” จนขึ้นเป็น “อธิบดีดีเอสไอ” และในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้แรงหนุนขึ้นไปเป็น “เลขาธิการ ศอ.บต.” และเมื่อมาเป็น “รมว.ยุติธรรม” เรื่อง “ชั้น 14 รพ.ตำรวจ” ของ “ทักษิณ” อยู่ยาวหกเดือน ไม่ต้องกลับไปรับโทษที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครฯ จนทำให้ไม่ต้องติดคุกแม้วันเดียว โดยมี “กรมราชทัณฑ์” คอยตอบสนอง “ทักษิณ” ก็เป็นผลงานระดับ “ทวี…จัดให้”

จึงไม่แปลก!!! ที่เมื่อ “ดีเอสไอ” แสดงอาการต้องการจะเข้าไป “สอบสวนการเลือก สว.” โดยมีการปูดชัดๆ ว่า มีสว.เกี่ยวข้อง ร่วมๆ 138 คน ที่อาจต้องถูก “ดีเอสไอ” สอบสวน

มันก็เห็นชัดว่า งานนี้ไม่พ้นข้อครหา มี “การเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้อง อยู่เบื้องหลังเต็มๆ ทำนองต้องการ “ทุบสว.สีน้ำเงิน” เพื่อ “ลดอำนาจ” ของ “พรรคสีน้ำเงิน” โดยยืมมือ “ดีเอสไอ” เข้ามาจัดการ…ก็เท่านั้น

สำหรับประเด็นที่ “ดีเอสไอ” ต้องการเข้าไปสอบสวนกระบวนการเลือกสว. ก็คือ การอ้างว่า การเลือกสว.ดังกล่าว พบว่ามีความผิดปกติฯ และเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3), 209 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 107, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2561 และความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

“เนื่องจาก การกระทำผิดของกลุ่มขบวนการในครั้งนี้ เป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการ อื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติมีความสลับซับซ้อน กระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ ผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ

โดย มีการวางแผนมาตั้งแต่ก่อนเริ่มกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาต่อเนื่องมา จนถึงหลังจากการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเสร็จสิ้นแล้ว ลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม มีการแบ่งหน้าที่กันทำ มีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศในการเตรียมโปรแกรมคำนวณการลงคะแนน ออกเป็น โพยฮั้ว เพื่อให้ได้ผลลัพธ์จำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ต้องการ เตรียมบุคคลที่มาลงคะแนนที่เรียกว่ากลุ่ม “พลีชีพ” หรือ “โหวตเตอร์”

พฤติการณ์ดังกล่าวมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ก)(ข) (ค) และ (ง) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 จึงอาศัยอำนาจตามข้อ 8 แห่งประกาศ กคพ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอและเสนอให้ กคพ. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษฯ”

อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่า บอร์ดคดีพิเศษ ที่มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน จะประชุมกันวันอังคารที่ 25 ก.พ.นี้ จะมีมติรับเรื่องนี้ไว้สอบสวนหรือไม่

ซึ่งมติที่จะรับคดีไว้สอบสวนเป็นคดีพิเศษ ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 หรือจำนวน 15 คน จากทั้งหมด 22 คนเป็นต้นไป ให้ความเห็นชอบจึงจะรับเป็น “คดีพิเศษ” ได้

จึงต้องจับตาว่า “คณะกรรมการคดีพิเศษ” จะกล้าพิจารณาหรือไม่???

เพราะก็เริ่มมีกระแสข่าวว่า “กรรมการบางส่วน” โดยเฉพาะพวก “บิ๊กข้าราชการ” ที่เป็น “บอร์ดโดยตำแหน่ง” ก็หวั่นเกรงว่า หากมีมติไป จะเกิดปัญหาตามมาภายหลังหรือไม่ เพราะอาจถูก “กลุ่มสว.” ร้องเอาผิดได้ ว่า ลงมติผิดกฎหมาย แล้วร้องเอาผิดตาม มาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา หากบอร์ดมีมติให้สอบสวนเรื่องนี้ โดยกล่าวหา สว.เป็น “องค์กรอาชญากรรม” และ “อั้งยี่-ซ่องโจร” เพราะ “บอร์ดบางคน” อาจมองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของดีเอสไอ แต่เป็นอำนาจของ กกต.

ขณะเดียวกัน ฝ่ายสำนักงาน กกต.ก็อาจไม่ยอมให้ “ดีเอสไอ” เข้ามาสอบสวนเรื่องดังกล่าว เพราะอาจมองว่า เข้ามาก้าวก่ายการทำงานของ “กกต.” ที่มีอำนาจโดยตรงในเรื่องนี้ แต่ “ดีเอสไอ” พยายามจะเอาประเด็นเรื่อง การวางแผนสมคบคิดเพื่อฮั้ว-บล็อกโหวตการเลือกสว. ที่ “กกต.” อาจมองว่า ไม่เข้าข่ายทำ…ก็ได้

เห็นได้จาก ฝ่าย กกต.เอง ก็ทำหนังสือถึงดีเอสไอเมื่อ 18 ก.พ.ที่ผ่านมานี้เองว่า…

“สำนักงาน กกต.ขอเรียนว่า ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ดีเอสไอได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้วหรือไม่ จึงไม่ได้เสนอเรื่องให้ กกต. พิจารณาตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ กกต.ปี 2560 กำหนดไว้ว่า เมื่อความปรากฏต่อ กกต.ว่าหน่วยงานของรัฐ หรือพนักงานสอบสวน ได้รับเรื่องไว้พิจารณา และ กกต.เห็นว่าเป็นการสมควรที่จะดำเนินการเองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ กกต.มีหนังสือแจ้งทะเบียนหน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนนั้น โอนสำนวนการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งและพรรคการเมืองให้ กกต.ภายใน 7 วัน

ซึ่งในคำร้องนี้เกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว. ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการประสานงานระหว่างสำนักงาน กกต.และดีเอสไอ โดยจะต้องได้รับหนังสือจากดีเอสไอแจ้งโอนคดีก่อนที่จะนำเสนอ กกต. ว่าจะพิจารณารับโอนคดีหรือไม่”

หาก “กกต.” ยืนกรานว่า เรื่องนี้เป็น “อำนาจของกกต.” ในการไต่สวน-สอบสวน และ ไม่ยอมให้ “ดีเอสไอ” เข้ามายุ่มย่าม และ ไม่ใช่หน้าที่ดีเอสไอ ทำให้กว่าจะถึงการ “ไล่ทุบสว.สีน้ำเงิน” ให้ทัพแตก…คงต้องรอ

เพราะอาจได้เห็น การเปิดศึกกันระหว่าง “กกต.” กับ “ดีเอสไอ” ก่อน ก็เป็นไปได้

………………………………………..

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img