“เทพไท” ทำนาย “ชะตากรรม” ของ “44 อดีตสส.ก้าวไกล” หวยออกได้ 3 ทาง ย้ำถ้าไม่มีธงทางการเมือง คงรอดหมด แต่ถ้า “ป.ป.ช.” ตีความตามกฎหมายเพื่อหวังผลการเมือง แค่หยิบคำพิพากษาศาลรธน.ที่ผูกพันทุกองค์กร ก็คงโดนตัดสินแบบเหมาเข่ง
เมื่อวันที่ 22 ก.พ.68 นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์แสดงความเห็นในหัวข้อ “44 อดีตสส.ก้าวไกล หวยออก 3 ทาง” มีเนื้อหาว่า “ตอนนี้มี 44 อดีตสส.พรรคก้าวไกล ได้เดินทางเข้ารับฟังข้อกล่าวหากับ ป.ป.ช. เรื่องการร่วมลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บ้างแล้ว มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะรอดสักกี่คน จะโดนตัดสินทางการเมืองทั้งหมดหรือไม่
ในฐานะที่เป็นนักการเมืองคนหนึ่ง และพอจะมีความรู้ทางด้านกฎหมายอยู่บ้าง จะขอวิเคราะห์ผลการพิจารณา เรื่องข้อกล่าวหาของ 44 อดีตสส.พรรคก้าวไกล เป็น 3 แนวทาง คือ
1.ถ้ามีการตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด เชื่อว่า อดีตสส. 44 คน น่าจะรอดหมด เพราะการลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นกระบวนการทางนิติบัญญัติ ที่สส.ทุกคนสามารถใช้สิทธิ์เสนอกฎหมาย และแก้ไขกฎหมายได้ ส่วนผลการแก้ไขนั้น จะผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ก็เป็นดุลย์พินิจของสส.ทุกคน การใช้สิทธิ์ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่เป็นความผิด
2.ถ้ามีการตีความแบบกว้าง จะต้องพิจารณาพฤติกรรมของ 44 อดีตสส.มาประกอบกับการลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย จะต้องพิจารณาดูถึงพฤติกรรมภายนอก ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเกี่ยวกับประเด็นมาตรา 112 ว่า ได้เข้าร่วมการชุมนุมหรือได้ขึ้นเวทีปราศรัยสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 อย่างไร และได้ใช้สิทธิ์ของสส. ประกันตัวผู้ต้องหาที่มีความผิดเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 บ้างหรือไม่ ซึ่งจะนำเอาพฤติการณ์เหล่านี้ มาพิจารณาร่วมกับการลงชื่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในสภาด้วย
3.ถ้าตีความกฎหมายเพื่อหวังผลทางการเมือง ตามธงของฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องการ ไม่จำเป็นต้องนำเหตุผลใดมาประกอบการพิจารณา สามารถตัดสินแบบเหมาเข่งว่า อดีตสส.ทั้ง 44 คน มีความผิดในการลงชื่อเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สามารถนำคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งผูกพันทุกองค์กรมาอ้างอิงได้เลย
ถ้าหากจะพิจารณาว่า การลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีความผิดหรือไม่ อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอคติใดๆ หรือไม่มีธงทางการเมือง เชื่อว่าทั้ง 44 อดีตสส.พรรคก้าวไกล จะรอดพ้นข้อหาทั้งหมด เพราะเป็นการทำหน้าที่สส.ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ”