ครั้งแรกใครได้ยิน แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาพูดว่า จะให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เพียงวันเดียว คงคิดว่า เป็นการพูดเพื่อสร้างสีสันทางการเมือง แต่พอได้ยิน “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ออกมาพูดซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง
โดยยืนยัน จะให้อภิปรายเพียงวันเดียว จึงมีความเป็นไปได้สูง ที่จะผลักดันตามนั้น แต่ถ้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เกิดขึ้นเพียงวันเดียวจริงๆ รัฐบาลจะถูกวิจารณ์ในแง่ลบ ทำนองว่า “ปิดกั้นกระบวนการตรวจสอบ-หวาดกลัวการทำงานของพรรคฝ่ายค้าน-กลัวฝ่ายค้านจะขุดคุ้ยเรื่องราวความไม่ชอบมาพากลให้สังคมได้รับรู้”
ทั้งนี้ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้ความเห็นถึงกรณีฝ่ายค้าน ไม่พอใจที่รัฐบาลจะให้เวลาเพียงวันเดียว ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯว่า เพิ่งทำงานมาประมาณ 5 เดือน และจะอภิปรายนายกฯเพียงคนเดียว คงไม่มีอะไรให้อภิปรายมาก ไม่เช่นนั้นทำไมไม่อภิปรายรัฐมนตรีทุกคนเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นจะเอา 5 วัน ก็ให้ได้ แต่นายกฯคนเดียว จะเอา 3 วัน 5 วัน อย่าใช้เวทีนี้มาประลองฝีปาก

ถามว่า จะถูกสังคมมองว่าเป็นการปิดปากฝ่ายค้านในการตรวจสอบหรือไม่ “ภูมิธรรม” กล่าวว่า จะปิดปากอะไร นี่ก็พูดกันไปเรื่อย อภิปรายเท่าไหร่ ก็ไปตกลงกันในสภา จะตกลงกี่วัน รัฐบาลก็พร้อม เป็นกติกาที่สภาต้องคุยกัน ยืนยันไม่มีการปิดปาก ส่วนที่ฝ่ายค้านยังยืนยันจะพูดถึงชื่อ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพราะเป็นสารตั้งต้นนั้น เรื่องนี้พูดหลายครั้งแล้ว หากอภิปรายเขา ก็ต้องรับผิดชอบเอง
นั่นหมายความว่า 5 วันไม่มีทางได้ ส่วนอภิปราย 3 วัน ก็ต้องมาลุ้นกันอีกที
ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 2 มี.ค.68 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “6 เดือน รัฐบาลนายกฯ อุ๊งอิ๊ง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24-26 ก.พ.68 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการทำงานของรัฐบาลนายกฯแพทองธาร ชินวัตร ในรอบ 6 เดือน จากการสำรวจเมื่อถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ในรอบ 6 เดือน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.58 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ รองลงมา ร้อยละ 32.60 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ ร้อยละ 20.00 ระบุว่า ไม่พอใจเลย และร้อยละ 12.82 ระบุว่า พอใจมาก
ด้านความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของนายกฯแพทองธาร ชินวัตร ในรอบ 6 เดือน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 32.60 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ รองลงมา ร้อยละ 31.76 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ ร้อยละ 22.28 ระบุว่า ไม่พอใจเลย และร้อยละ 13.36 ระบุว่า พอใจมาก
สำหรับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลนายกฯแพทองธาร ชินวัตร ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.41 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 26.26 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 25.04 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น และร้อยละ 12.29 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก
สะท้อนให้เห็น 6 เดือนที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล ดังนั้นถ้าหากพรรคฝ่ายค้านนำข้อมูลฝ่ายบริหารล้มเหลวมาตอกย้ำ ยิ่งจะส่งผลกระทบกับความน่าเชื่อถือฝ่ายบริหาร แม้ “นายกฯแพทองธาร” จะมีไอแพคคู่ใจไว้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร แต่ยากที่คาดเดาว่า ฝ่ายค้านขออภิปรายหรือซักถามในประเด็นอะไรบ้าง

แต่จริงๆ จะว่าไป ฝ่ายค้านนำโดย “พรรคประชาชน” (ปชน.) ก็สร้างเซอร์ไพรส์ หลังมีข่าวในช่วงแรกว่า จะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 10 คน แต่ก็มาเปลี่ยนแผนหลังอ้างข้อมูลรั่ว ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจหัวหน้ารัฐบาลเพียงคนเดียว ยิ่งไปดูเนื้อหาในญัตติก็มีความเข้มข้นและดุเดือด โดยสรุปได้ 6 ประเด็นประกอบด้วย
1.ไม่มีคุณสมบัติและไม่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารด้วยประการทั้งปวง ขาดภาวะผู้นำ ขาดวุฒิภาวะ ขาดความรู้ความสามารถ และขาดเจตจำนงในการบริหารราชการแผ่นดินที่แก้ปัญหาให้แก่ประเทศชาติและประชาชน ส่งผลทำลายภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศชาติ
2.จงใจลอยตัวอยู่เหนือปัญหาและไม่มีความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ เพียงเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเอง บิดา ครอบครัว และพวกพ้องเป็นตัวตั้ง อยู่เหนือผลประโยชน์ของส่วนรวม
3.ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์เอาเปรียบประชาชน เอาเปรียบสังคม โกหกหลอกลวง ไม่ดำเนินการตามนโยบายที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน เป็นนั่งร้านช่วยเหลือต่างตอบแทนกลุ่มบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย
4.บริหารบ้านเมืองผิดพลาดล้มเหลวอย่างร้ายแรงทั้งในด้านการเมือง การปฏิรูปกองทัพ ความมั่นคง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ทำลายนิติรัฐ ทำลายระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
5.เจตนาและปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ภายใต้การบริหารงานของตนเอง ทั้งยังทุจริตเชิงนโยบาย บริหารบ้านเมืองเพื่อเอื้อผลประโยชน์แก่พวกพ้องและกลุ่มทุน แต่งตั้งบุคคลที่ขาดความเหมาะสม ขาดความรู้ความสามารถ หรือไม่ซื่อสัตย์สุจริตไปเป็นรัฐมนตรีหรือตำแหน่งสำคัญอื่น
6.สมัครใจยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา ชี้นำ ชักใย ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง ประพฤติตนเป็นเสมือนนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด โดยมีบิดาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจ
ไล่ดูแต่ละข้อหาก็ฉกาจฉกรรจ์ เรียกว่า ถ้าเนื้อหาในการอภิปรายเป็นไปตามญัตติ แม้ “หัวหน้ารัฐบาล” จะได้เสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็คงยากที่อยู่ต่อไปได้ เพราะมีผลกระทบกับภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ
ยิ่งฝีปากของแกนนำพรรคประชาชน ไล่ตั้งแต่ “ศิริกัญญา ตันสกุล-รังสิมันต์ โรม-วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” แต่ละคนก็ไม่ธรรมดา ก่อนหน้านั้นสส.พรรคสีส้มก็ออกมาตรวจสอบ เรื่องทุจริตจัดซื้อยาที่รพ.ทหารผ่านศึก จนกลายเป็นคดีความ พบมีการกระทำความผิดจริง ซึ่งเมื่อถึงเวลาการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคฝ่ายค้านอาจเปิดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ที่ยังไม่เป็นข่าวขึ้นมาให้สังคมรับรู้อีกก็ได้

ขณะที่เรื่องที่หมิ่นเหม่และอาจเกิด ผลกระทบ “หัวหน้ารัฐบาล” มากที่สุด คือหนีไม่พ้นปัญหา “ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์” ซึ่งกรมที่ดินได้เพิกถอนโฉนดให้กลับเป็นที่ธรณีสงฆ์ ก่อนหน้านั้น “นายกฯแพทองธาร” ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว ซึ่งต้องไปดูระหว่างเป็นนายกฯ ยังถือครองหุ้นดังกล่าว ก็ถือสุ่มเสี่ยงจะผิดจริยธรรม
ทั้งนี้ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เปิดเผยว่า วันที่ 1 ต.ค.67 ได้ไปไปยื่นหนังสือเพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ กรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ตั้งแต่เป็นนายกฯเมื่อวันที่ 16 ส.ค.67 จนถึงวันที่ 3 ก.ย.67 ว่า เข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 160 (4) หรือไม่ การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่ และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรธน.มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 17 ก.พ.63 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลอ่านคำสั่งศาลฎีกา คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ อดีต รมว.มหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย คดีทุจริตที่ดินสร้างสนามกอล์ฟอัลไพน์ โดยคดีนี้นายยงยุทธ ยื่นขออนุญาตฎีกา และใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัว 9 แสนบาท
อย่างไรก็ดี ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในคดีนี้ ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวนายยงยุทธ จำเลยไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาที่ผลถึงที่สุด ตามศาลอุทธรณ์ที่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ก.พ.62 ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษจำคุก นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เนื่องจากจงใจตีความโดยใช้กฎหมายผิดเพี้ยนจากความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) คำสั่งจำเลยจึงเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ เพราะเมื่อปี 53 “นายยงยุทธ” ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้วย
ขณะที่รายงานข่าวจาก พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แจ้งว่า สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในส่วนของพรรค เบื้องต้นได้รับการจัดสรรเวลาในการอภิปรายมา จำนวน 2 ชั่วโมง และขณะนี้ได้ให้ นายสุธรรม จริตงาม สส.นครศรีธรรม และกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) นำเอกสารประเด็นที่จะอภิปรายไปส่งให้พรรคประชาชน ในฐานะแกนนำฝ่ายค้าน ได้ใส่เข้าไปในญัตติของฝ่ายค้านแล้ว โดยมี 4 เรื่องหลักที่จะอภิปราย ได้แก่ เรื่องที่ดินอัลไพน์, เรื่องการพักรักษาตัวชั้น 14 รพ.ตำรวจของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ, เรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ในประเด็นกาสิโน และ เรื่องเอ็มโอยู 2544

ขณะที่การตั้งรับของพรรคเพื่อไทยนั้น “สุทิน คลังแสง” สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมพรรคในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะต้องมีการตั้งองครักษ์พิทักษ์น.ส.แพทองธารหรือไม่ว่า ขออย่าเรียกว่า “ทีมองครักษ์พิทักษ์นายกรัฐมนตรี” แต่ทีม PTP Academy หรือ “พรรคเพื่อไทยอคาเดมี” ประกอบด้วย สส.รุ่นใหม่ รุ่นเก่า รัฐมนตรี และนักวิชาการทั้งในพรรคและนอกพรรค เตรียมข้อมูลที่จะใช้ในการอภิปราย และดูแลเรื่องข้อมูล รวมถึงจะมีทีมที่คอยดูแลรักษาข้อบังคับในการประชุมสภา และทีมอธิบายคือทีมประชาสัมพันธ์พรรคหรือทีมโฆษกพรรค โดยทีมโฆษกพรรคจะช่วยอธิบายเพิ่มเติมด้วยหากประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับสภาหรือพรรคเพื่อไทย โดยตนเป็นหนึ่งในทีม สส.ที่จะช่วยดูแลรักษาข้อบังคับ ซึ่งอาจจะลุกขึ้นเพื่อช่วยชี้แจงบ้างเท่าที่จำเป็น และพรรคได้มอบหมายให้ตนเป็นคนจัดทีม แต่ตอนนี้ยังไม่จัดทีม ซึ่งจะมี สส.รุ่นเก่า รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ คาดว่ารวมกันประมาณ 10 คน
จับดูอาการพรรคเพื่อไทย ทั้งการให้เวลาอภิปรายเพียงวันเดียว หรือตั้งทีมขึ้นมารับทั้งในที่ลับหรือที่แจ้ง แสดงให้เห็นถึง “อาการหวั่นไหว” ต่อญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งเนื้อหาและการพุ่งเป้าไปที่ “หัวหน้ารัฐบาล” เพียงคนเดียว ซึ่งอาจเป็นเพราะ “พรรคเพื่อไทย” เคยหักหลัง “พรรคประชาชน” หันมาตั้ง “รัฐบาลข้ามขั้ว” กับ “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม”
จนทำให้ “ผู้มีบารมีเหนือพรรคประชาชน” ได้พูดคุยกับ “หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค” ยืนยัน “จะไม่ขอจับมือกับพรรคเพื่อไทย ในการตั้งรัฐบาลครั้งหน้า ดังนั้นเชื่อว่า แกนนำพรรคฝ่ายค้านคงใส่เต็มที่ เพราะถือเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นครั้งแรก
อีกทั้งแกนนำพรรคฝ่ายค้านเชื่อว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยคงผลักดัน “แพทองธาร” ให้เป็นนายกฯอีกสมัย
ดังนั้นการทำลายภาพลักษณ์ และความชอบธรรม จึงเป็นเป้าหมายสำคัญ ไม่มีการรอมชอม ไม่มีการฮั้วอีกต่อไป
……………………….
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”