ความหวังของ “การฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลนอกจากอัดฉีดเม็ดเงินผ่านโครงการต่างๆ ให้ประชาชนแล้ว การเร่งลงทุนของหน่วยงานภาครัฐก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้
กระทรวงพลังงาน เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้ให้หน่วยงานในสังกัดเร่งการลงทุน โดยเฉพาะกฟผ.และปตท.ที่มีแผนลงทุนโครงการใหญ่หลายโครงการ
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปีหลัง 2564 กระทรวงพลังงานก็ได้ติดตามแผนการลงทุนของทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งพิจารณาการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสวิด–19
โดยในส่วนของ กฟผ. ก็ได้เตรียมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ไม่ว่าจะเป็นโครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนต่างๆ การลงทุนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน การลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station)
ส่วนบริษัท ปตท. ก็มีแผนขยายการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยการลงทุนในประเทศก็จะเป็นการลงทุนในโครงการโรงแยกก๊าซ แห่งที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซ แห่งที่1, โครงการท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5, โครงการ LNG Terminal 2 (หนองแฟบ), โครงการก่อสร้างท่าเรือ LNG มาบตาฟุด ระยะที่ 3 โดยโครงการ LNG Terminal 2 นั้นจะเป็นการร่วมลงทุนกับกฟผ. ซึ่งเรื่องแผนและทิศทางในการลงทุนคาดว่าปลายเดือนมิถุนายนนี้ก็จะมีความชัดเจน
กฟผ.เร่งลงทุนโรงไฟฟ้า5,495เมกะวัตต์
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า การลงทุนตามแผน PDP 2018 Revision 1 นั้น กฟผ. อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาโรงไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงควบคู่กันไป เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนในอนาคตเป็นไปอย่างราบรื่นและรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ
โดยโครงการพลังงานหมุนเวียนนั้นเตรียมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ (Hydro-floating Solar Hybrid) ขนาด 24 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะออกทีโออาร์ได้ภายในปี 2564 เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2565 และมีกำหนด COD ในปี 2566
นอกจากนี้ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน ขนาดกำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งการพิจารณารายงานศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการภายในเดือนธันวาคม 2564
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 ขนาดกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ และ ภาคเหนือ โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ขนาดกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกพ. และ สศช. และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำรายงาน EIA โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 และรายงาน EHIA โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ฉบับสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอ กก.วล. ซึ่งคาดว่าจะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564
ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม) ขนาด 2,100 เมกะวัตต์ และ โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ระยะที่ 1 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพลังงาน กกพ. และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ปตท.เร่งลงทุนปีนี้ 52,931 ล้านบาท
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ระบุว่า ปตท. ยังคงเดินหน้าลงทุนตามทิศทางกลยุทธ์และแผนธุรกิจที่ได้วางไว้อย่างต่อเนื่องตามกรอบวงเงินลงทุนเฉพาะปี 2564 อยู่ที่ 52,931 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 8,051 ล้านบาท, ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 6,770 ล้านบาท, ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 630 ล้านบาท, ธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรมและสำนักงานใหญ่ 4,063 ล้านบาท และการลงทุนในบริษัทที่ปตท.ถือหุ้น 100% อีก 33,477 ล้านบาท
โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนต่อเนื่องด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โรงแยกก๊าซ แห่งที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซ แห่งที่1, โครงการท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5, โครงการ LNG Terminal 2 (หนองแฟบ), โครงการก่อสร้างท่าเรือ LNG มาบตาฟุด ระยะที่ 3