“กมธ.พัฒนาการเศรษฐกิจ” เผย “เอกชน” เสี่ยงโดนขึ้นภาษีจากมาตรการสหรัฐฯ 2 เม.ย.นี้ เหตุเกินดุลส่งออก-นำเข้า แนะ “พาณิชย์” เร่งออกมาตรการช่วยเหลือ 3 ข้อ จี้ รบ. สื่อสารให้ชัดจะช่วยเหลือ SME ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร
วันที่ 27 มี.ค.68 ที่รัฐสภา นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า ที่ประชุมมีการหารือใน 2 เรื่องคือความกังวลต่อสหภาพยุโรปจัดทำข้อตกลง FTA ไทย-สหภาพยุโรป เนื่องจากไทยส่งชาวอุยกูร์กลับ ประเทศจีน ในมุมมองของภาคเอกชน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นสอดคล้องกันว่าไทยและสหภาพยุโรปมีความต้องการเร่งเจรจา FTA จากความต้องการทั้งสองฝ่าย ในภาวะสงครามการค้าสหรัฐจำเป็นต้องเปิดตลาดใหม่ ในมุมผู้เจรจาเห็นว่าน่าจะกระทบต่อการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสภาพยุโรปไม่มากนัก แต่สิ่งที่เป็นข้อกังวล หลังจากมีการเจรจาผ่านไปแล้ว แต่ละประเทศที่อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป จะมีการดำเนินการตามข้อตกลง FTA มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับหลายประเทศที่จะปฏิบัติตามข้อตกลง
ปธ.กมธ. การพัฒนาการเศรษฐกิจ กล่าวต่อว่า ส่วนการรับมือผลกระทบมาตรการภาษีการค้าไทยกับสหรัฐอเมริกาจากถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ โดยวันที่ 2 เม.ย.นี้สหรัฐจะออกบัญชีรายประเทศ และรายค้า ทั่วประเทศใดมีความเสี่ยงที่จะถูกขึ้นภาษี และมีสินค้าใดที่จะถูกขึ้นภาษี ทำให้ภาคเอกชน และหน่วยงานส่วนราชการมีความกังวลใจมาก ซึ่งประเทศไทยอยู่ไหนข่ายความเสี่ยงสูง เนื่องจากไทยเกินดุลสหรัฐอเมริกา ปีที่แล้วอยู่ในลำดับที่ 11 ในการเกินดุล ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าไทยจะโดนภาษีที่เรียกเก็บในสินค้าทั่วไป และภาษีที่เรียกเก็บรายเฉพาะประเทศ
“เค้าจะรู้เลยว่าประเทศไทยเกินดุลสหรัฐฯมากขนาดนี้ มีการเก็บภาษีในสินค้าใดบ้าง ที่เก็บภาษีสูงกว่าสหรัฐฯ เช่นสินค้าเกษตร และมีสินค้าใดบ้างที่ไทยเกินดุลสหรัฐเยอะ เช่นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซต์ เครื่องปรับอากาศ สินค้าเหล่านี้อยู่ในบัญชีที่มีความเสี่ยง ถูกสหรัฐขึ้นภาษี จากการประเมินโดยกระทรวงพาณิชย์ ว่าอัตราภาษีที่ไทยเรียกเก็บจากสหรัฐสูงกว่าที่สหรัฐเรียกเก็บจากไทย 4-6 % ซึ่งหากนำอัตราภาษีดังกล่าวมาคำนวณกับมูลค่าสินค้าที่ไทยส่งออก ไทยมีความเสี่ยงถูกขึ้นภาษี ดังนั้นเศรษฐกิจไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบหากคิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ 1-1.4 แสนล้านบาท คือผลกระทบในมิติเศรษฐกิจไทย จากมาตรการขึ้นภาษีของรัฐบาลสหรัฐ”นายสิทธิพล กล่าว
นายสิทธิพล กล่าวอีกว่า ทางกมธ.ได้ฝากข้อคิดเห็นไปถึงกระทรวงพาณิชย์ 3 เรื่อง คือ เร่งพิจารณาการใช้มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ มีหลายอย่างที่สามารถทำได้ เช่นมาตรการตอบโต้การตลาด ขอให้ตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าต่างๆให้ชัดเจน เนื่องจากผู้ประกอบการแจ้งว่าปัจจุบันมีสินค้าที่ต่างประเทศใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อสวมสิทธิ์ในการส่งออกไปยังประเทศอื่น ซึ่งประเด็นนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ-ภาคเอกชนขอให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายย่อยโดยเฉพาะ SME เพราะเป็นการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในการใช้ FTA มากขึ้น และจะมีการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้นในการใช้สิทธิ์ดังกล่าว มีข้อกังวลเล็กน้อยในกรรมการว่าในเดือนมิถุนายนนี้ทางสหรัฐอเมริกา จะออกรายงานเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งประเทศไทยจะมีผลกระทบเรื่องการส่งชาวอุยกูร์ กลับจีนอาจเป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องติดตามว่าจะส่งผลต่อการจัดลำดับหรือลดลำดับประเทศไทยหรือไม่ เป็นประเด็นที่ภาคเอกชนให้ความกังวลและต้องติดตาม ผู้ประกอบการSME กังวลเรื่องของต้นทุนจะสูงขึ้น และตลาดจะหายากขึ้น เสนอแนะว่ารัฐบาลควรจะมีมาตรการช่วยเหลือSME อย่างชัดเจนว่าควรทำอย่างไร และรัฐบาลต้องสื่อสารไปถึงภาคเอกชนและผู้ประกอบการให้รับผลกระทบ เพราะเห็นว่าการสื่อสารของรัฐบาล ในเรื่องนี้ยังน้อยไป