ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังเงินยูโรอ่อนค่า ผลพวงจากเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนเดือนมี.ค. ชะลอตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2.2%
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง เล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 34.14 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 34.10-34.24 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ “Liberation Day”
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนมีนาคม ชะลอตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็ชะลอลงสู่ระดับ 2.4% ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้อีกราว 2-3 ครั้ง ในปีนี้
อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตเดือนมีนาคม ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.0 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนภาวะหดตัว) และยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) เดือนกุมภาพันธ์ ก็ลดลงสู่ระดับราว 7.57 ล้านตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่ นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวอยู่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว เพื่อรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ “Liberation Day” อย่างไรก็ดี ในภาพรวมตลาดหุ้นสหรัฐฯพอได้แรงหนุนบ้าง จากการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯใหญ่ นำโดย Tesla +3.6%, Nvidia +1.6% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้น +0.87% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.38%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +1.07% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นบ้างของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ ยุโรป อย่าง ASML +2.3% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมการบิน จากอานิสงส์การปรับตัวขึ้นของ Airbus +3.2% หลังบริษัทสามารถส่งมอบเครื่องบินได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกจำกัดลงบ้าง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯเคลื่อนไหวผันผวน แม้จะมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาแย่กว่าคาด แต่การรีบาวด์ขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯก็พอช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯปรับตัวขึ้นบ้าง เข้าใกล้ระดับ 4.19% ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯเสี่ยงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ขึ้นกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงาน และเนื่องจาก เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ระยะยาวของสหรัฐฯยังมีความน่าสนใจอยู่ ทำให้เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดสามารถรอจังหวะทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว ในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นได้ (เน้นรอ Buy on Dip)
ทางด้านตลาดค่าเงินนั้นพบว่า เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แม้จะพอได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ชะลอตัวลงต่อเนื่องเข้าใกล้เป้าหมายของ ECB ทว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ล้วนออกมาแย่กว่าคาด ก็กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 104.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.0-104.4 จุด)
ส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะมีความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ แต่ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.2025) ก็เริ่มเผชิญแรงกดดันจากแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดบางส่วน รวมถึงจังหวะการรีบาวด์ขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปและสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังคงรอจังหวะเข้าซื้อทองคำในช่วงการย่อตัวลง ทำให้โดยรวมราคาทองคำยังคงแกว่งตัว แถวโซน 3,150 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประกาศมาตรการกีดกันทางการค้า อย่างภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariff) โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงราว 02.00-03.00 น. ของเช้าวันที่ 3 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจของสหรัฐฯ นั้น จะอยู่ที่ รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เดือนมีนาคม ที่อาจสะท้อนถึงแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ได้ นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานข้อมูลยอดคำสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงาน (Factory Orders) และยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะฝั่งตลาดน้ำมัน จะรอลุ้นรายงานยอดสต็อกน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ โดย EIA ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบได้ในระยะสั้น
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท อาจทยอยอ่อนค่าลงได้ หลังเงินบาท (USDTHB) ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้อย่างชัดเจน โดยในช่วงนี้ เรามองว่า เงินบาทยังเสี่ยงเผชิญปัจจัยกดดันพอสมควร โดยเฉพาะประเด็นการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯที่ประเทศไทยอาจอยู่ในรายชื่อของประเทศที่จะเผชิญมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariff)
นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างยิ่งกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมากขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ดังจะเห็นได้จากการทยอยปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทยจากบรรดานักวิเคราะห์ หรือการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับ 2-3 หมื่นล้านบาท จากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งภาพดังกล่าวยังได้สะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่มั่นใจมากขึ้นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ในการประชุมเดือนเมษายน หรืออย่างน้อยอาจต้องลดดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งในปีนี้
อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจถูกชะลอลงได้บ้าง หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์สูงขึ้น หรือแกว่งตัว Sideways ขณะเดียวกัน แม้ว่าเงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนจากความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ แต่เรามองว่า เงินดอลลาร์ก็เสี่ยงเผชิญความผันผวนแบบ Two-Way Volatility ขึ้นกับความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของผู้เล่นในตลาด โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจจำกัดการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หรืออาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ นอกจากนี้เราประเมินว่า ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจากบรรดาผู้เล่นในตลาดอาจยังพอช่วยหนุนเงินบาท ผ่านแรงซื้อบอนด์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้บ้าง แต่แรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติก็อาจลดทอนอานิสงส์จากแรงซื้อบอนด์ดังกล่าวในช่วงนี้
ทั้งนี้ เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีโซนแนวต้านในช่วงระยะสั้นแถว 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับได้ขยับขึ้นมาแถว 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.40 บาทต่อดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้นโยบายการค้าของสหรัฐฯ)