วันจันทร์, เมษายน 14, 2025
หน้าแรกHighlight“สตง.”เดินสายแจง“กมธ.”ลุยสร้างตึกใหม่ ปรับรูปแบบก่อสร้าง“ไม่สูง-ไม่ทับที่เดิม”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“สตง.”เดินสายแจง“กมธ.”ลุยสร้างตึกใหม่ ปรับรูปแบบก่อสร้าง“ไม่สูง-ไม่ทับที่เดิม”

ล้วงลึกตึกถล่ม! ‘รองผู้ว่าฯ สตง.’ แจง ’กมธ.ติดตามงบฯ‘ ปรับขยายสัญญาสร้างถึง 14 มิ.ย.นี้  ใช้งบฯที่เหลือเดินหน้าสร้างต่อ รับต้องปรับรูปแบบ ‘ก่อสร้างไม่สูง-ไม่ทับที่เดิม’ ยันเหล็ก-ปูนมีมาตรฐาน จะมาบอกตึกเพิ่งเซ็ตตัวไม่ได้ เหตุสร้างตั้งสง่ามา4ปีแล้ว ยันไม่นิ่งเฉยต่อผู้สูญเสีย มอบ ‘สตง.จังหวัด’ ดูแล

วันที่ 10 เม.ย.2568 เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานกมธ. เป็นประธานการประชุม พิจารณาติดตามการบริหารงบประมาณโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่ม โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล ดังนี้ 1.ผู้ว่าการ สตง. 2. อธิบดีกรมบัญชีกลาง 3.อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง 4.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 5.นายกสภาวิศวกร 6.นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และ 7.นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมถัมภ์

โดยนายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษก สตง. กล่าวว่า อาคารของ สตง. เป็นอาคารสูงพิเศษ เป็นไปตามความหมายของพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี 2522 ฉะนั้นจึงต้องมีการจ้างออกแบบซึ่งได้บริษัทฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด  วงเงิน 73 ล้านบาท และได้ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) มีการลงนามสัญญา 23 ก.ย.2563 และมีการแก้ไขสัญญา 9 ครั้ง งบประมาณในสัญญาอยู่ที่ 2,560 ล้านบาท ราคากลางขณะที่ประมูลอยู่ที่ 2,522 ล้านบาท แต่ราคาที่ประมูลได้อยู่ที่ 2,136 ล้านบาท แต่เมื่อมีการแก้ไขสัญญาและปรับเนื้องานปัจจุบันสัญญาอยู่ที่ 2,131 ล้านบาท มีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 36 งวดงาน เริ่มสัญญาเมื่อส่งมอบพื้นที่ได้คือ 1 ม.ค. 2564 และต้องเสร็จตามสัญญาคือวันที่ 31 ธ.ค.2566 แต่ระหว่างนั้นมีการขอขยายระยะเวลา 2 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โควิดและการปรับแก้สัญญา ซึ่งมีการขยายไปจนถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2567 และเราได้มีการปรับแผนตามหนังสือวอ.1459 ต่อไปถึงวันที่ 14 มิ.ย. 2568 ค่าปรับเท่ากับศูนย์ตามหนังสือวอ.3693 วันที่ 7 ส.ค. 2568

รองผู้ว่าสตง.กล่าวว่า สตง.ได้เช่าที่รถไฟในพื้นที่ 10 ไร่ เพราะต้องการใช้พื้นที่ในการทำงานของเจ้าหน้าที่จำนวน 2,400 คน ซึ่งในส่วนนี้รวมถึงอาคารจอดรถ 1 อาคาร อาคารอบรม 1 อาคาร เรามีหน่วยงานภายใน 50 หน่วยงาน จึงจำเป็นต้องมีตึกสูง ซึ่งในระหว่างที่มีการออกแบบได้ไปปรึกษาอัยการสูงสุด เรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ 2-3 ครั้ง จนกระทั่งได้บริษัทที่ชนะออกมา และเราก็ได้ผู้รับจ้างคือบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ที่ถูกมอบให้เป็นผู้เซ็นสัญญา ซึ่งเราได้มีการถามบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ว่าสามารถลดจากราคากลาง 300 กว่าล้านได้หรือไม่ คำตอบที่ได้คือเขามีทุน และมีเครื่องมือ จึงมีการปรับเงินจาก 2,522 ล้านบาท มาอยู่ในวงเงินที่เขาเสนอคือ 3,136 ล้านบาท แต่ต้องได้ตึกตามที่ประกวดราคา และมีการจ่ายเงินไปแล้ว 22 งวด หรือเป็นวงเงิน 966 ล้านบาทรวมเงินที่ต้องจ่ายล่วงหน้า

“จำนวนเงินดังกล่าวเป็นเงินจำนวนมากที่สุดเท่าที่ สตง. ได้ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต โครงการข้อตกลงคุณธรรม กับกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งอยู่ในช่วงการบริหารสัญญา เรายินดีที่จะนำเงินเป็นค่าทำเนียมให้กับผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการข้อตกลงคุณธรรมปีละ 2 แสน เป็นเวลา 3 ปี รวม 6 แสนด้วยเงินของ สตง. เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2567 เขาควรได้งาน 86.77 เปอร์เซ็นต์ หากทำอย่างถูกต้อง แต่เขากลับมีงานแค่ 33 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2568 ที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจรับพัสดุจึงมีมติขอให้บอกเลิกสัญญา และอยู่ระหว่างการเสนอผู้มีอำนาจดำเนินการ แต่ปรากฏว่าผู้มีอำนาจหมดวาระ ต้องรอชุดใหม่เข้ามา เรื่องจึงอยู่ตรงนั้น” รองผู้ว่าฯ สตง. กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ตึกถล่ม ทั้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และทราบว่าเกิดขึ้นเพราะอะไรเราก็จะสามารถชี้ผู้ที่รับผิดได้ การที่ สตง.ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงนั้น ก็เพราะหากมีการตั้งคณะกรรมการจริง เรื่องก็จะยุติ เนื่องจากสิ่งที่เราทำอยู่ เรามีเอกสารอย่างละเอียดทุกประการ ฉะนั้น จึงขอให้หน่วยงานที่ถูกตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ช่วยบอกหน่อยว่าตึกถล่มเพราะอะไร  ยืนยันไม่ได้นิ่งเฉย ได้เข้าไปบริเวณตึกถล่มทุกวัน รวมถึงเมื่อศพผู้เสียชีวิตไปถึงจังหวัดไหน สตง.จังหวัดนั้นต้องเข้าไปเป็นเจ้าภาพ หาก สตง.ตั้งคณะกรรมการสอบ สตง.เอง สตง.ก็จะไม่ผิด ฉะนั้น จึงต้องให้คนนอกตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าใครที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนเรื่องงานก่อสร้างเราต้องเดินหน้าต่อ แต่ก็เห็นว่าจะทำตึกสูงเหมือนเดิมไม่ได้ และเราได้เช่าที่รถไฟบริเวณด้านหน้าเพิ่มอีก 4 ไร่ เราจึงจำเป็นที่จะต้องแก้แบบให้เป็นแบบแนวราบ กว้าง 50 ตารางวา ยาว 100 ตารางวา เอาทุกอย่างให้ไม่ต้องทันสมัย แอร์ก็ติดผนังธรรมดาเวลาเสียจะได้ไม่ต้องซ่อมยาก แล้วค่อยใส่ความทันสมัยในเทคโนโลยีเวลาทำงาน งบประมาณในการก่อสร้างคงจะไม่ถึง 2,000 ล้านบาท และจะไม่สร้างทับ บริเวณที่ตึกถล่ม จะขยับมาข้างหน้า รวมถึงจะใช้งบประมาณที่เหลือในการก่อสร้างต่อ

อย่างไรก็ตามได้มีตัวแทน สตง.อีกคนชี้แจงกรณีเหล็กเส้นที่มีปัญหาว่า เรากำหนดมาตรฐานของเหล็กไว้คือต้องได้ มอก. หรือเหล็กตัวที ที่ปรากฏไว้ในมอก. เรารู้แค่นี้ เราไม่ใช่วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เราเป็นนักกฎหมาย เราเป็นสตง.ที่ดูตามเอกสารว่าต้องมีการพิจารณาอย่างไร และมีการยืนยันว่าเหล็กตัวทีสามารถใช้ได้ แต่มีข้อสังเกตสองอย่างคือ เมื่อเป็นเหล็กตัวทีเขาไม่อยากให้เชื่อมให้ใช้ข้อต่อเชิงกล และมีการทดสอบดัดโครงแล้ว เช่นเดียวกับเรื่องของคอนกรีตที่มีการกำหนดมาตรฐานไว้และมีการทดสอบทางโครงสร้างปรากฏว่าค่าอยู่ที่ 400 กว่า มากกว่ามาตรฐานที่เราต้องกว่า

ทำให้นายสุทธิพงษ์ กล่าวเสริมว่า หากอยากตรวจสอบเรื่องเกี่ยวกับปูน ก็สามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก เพราะเรามีบริษัทที่ทำเกี่ยวกับปูนแค่สองบริษัท การจะบอกว่าตึกเราเพิ่งเซ็ตตัวนั้นไม่ใช่เพราะตึกตั้งสง่ามา 4 ปีแล้ว

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img