สภาผู้แทนราษฎร ปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.68 ก่อนจะเปิดสมัยประชุมอีกครั้งในวันที่ 3 ก.ค.68 เท่ากับว่า ช่วง 3 เดือนต่อจากนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ “แพทองธาร ชินวัตร” จะไม่มีแรงกดดันจาก พรรคฝ่ายค้าน ซึ่งใช้เวทีสภาฯตรวจสอบฝ่ายบริหาร ไม่ต้องเจอเสียงวิจารณ์เรื่องการไม่ตอบกระทู้-ไม่สนใจกระบวนการนิติบัญญัติ
แม้ที่ผ่านมาจะอภิปรายไม่ไว้วางนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่เมื่อไร้ใบเสร็จ ไม่มีหลักฐานชัดเจนในเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เลยไม่สามารถทำให้รัฐบาลมีปัญหาได้ ส่วนกรณีมีคนไปยื่นให้ตรวจสอบ ทั้งเรื่องการถือครอง “ตั๋วพีเอ็น” ซึ่งถูกวิจารณ์หวังเลี่ยงภาษี รวมทั้งการได้มาซึ่งที่ดินของโรงแรมเทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ ที่ “แพทองธาร” และ “ครอบครัว” เป็นเจ้าของว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในที่สุดต้องรอดูว่า บทสรุปทั้งสองเรื่อง จะเป็นอย่างไร ซึ่งคาดจะใช้เวลาพอสมควร
แต่ “เรื่องร้อน” ที่ “หัวหน้ารัฐบาล-หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” (พท.) ต้องรับมือ ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ มี 2 ประเด็นใหญ่คือ
1.รับมือกับการปรับขึ้นภาษีการค้า 36% กับสินค้าประเทศไทย แม้ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯจะประกาศเลื่อนบังคับใช้ไป 90 วัน แต่ด้วยท่าทีและบุคลิกส่วนตัวของผู้นำมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก คาดเดายาก อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หากบ้านเราไม่มีมาตรการรับมืออย่างดีเพียงพอ
2.การทำความเข้าใจกับร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์) ที่กำหนดให้มีพื้นที่ “กาสิโน” 10% หลังก่อนหน้านี้รัฐบาลพยายามผลักดันให้สภาฯ ให้ความเห็นชอบในสมัยประชุมที่ผ่านมา แต่เจอ “กระแสต่อต้าน” จากผู้คนหลากหลาย ซึ่งประกาศจุดยืนชัดเจน “ไม่เห็นด้วย” อีกทั้งพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน นายกฯจึงสั่งให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน เพื่อใช้เวลาช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ ทำความเข้าใจกับประชาชน ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม และพรรคร่วมรัฐบาล ยังไม่นับความเสี่ยงในเรื่องขัดรัฐธรรมนูญ (รธน.) และอาจมีปัญหาเกี่ยวกับหลักมาตรฐานทางจริยธรรม
เริ่มตั้งแต่การรับมือกับปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลกระทบตามมาอย่างไรบ้าง โดย “พงศ์นคร โภชากรณ์” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกมาระบุว่า นโยบายภาษีของ “ทรัมป์” ถือเป็นแผ่นดินไหวในระดับรุนแรงของเศรษฐกิจโลก โดย สศค.คาดว่า หลังจากการขึ้นภาษีมีผลบังคับใช้ จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง จากที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.2% ลดลงเหลือ 2.8% ซึ่งประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างประเทศไทย จะได้รับผลกระทบอย่างมาก และมีโอกาสที่ไทยอาจจะมีจีดีพี (อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ) ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทางเทคนิค (Technical Recession)
โดย สศค.จะมีการแถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2568 วันที่ 28 เม.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานเศรษฐกิจแรกที่จะมีการคาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก 2 ปัจจัยลบสำคัญ คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวตึกถล่ม และ การประกาศภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 36% ทั้งนี้ ปัจจัยลบทั้งสองอย่างเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในแง่ของความเชื่อมั่น ซึ่งการประเมินครั้งนี้จะมีการปรับตัวเลขจีดีพีลงด้วย

ก่อนหน้านี้ สศค. มีการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 ณ วันที่ 30 ม.ค.68 ว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.5%–3.5%) จาก 4 ปัจจัยบวก ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน-การส่งออก-การท่องเที่ยว-การลงทุน
ถ้าจีดีพีของประเทศไทยไม่ถึง 3% ย่อมกระทบกับความเชื่อมั่นของรัฐบาล และอาจส่งผลต่อคะแนนนิยม ซึ่งต้องเร่งสร้างผลงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากเหลือเวลาอีก 2 ปี จะถึงการเลือกตั้งใหม่ ซึ่ง “พรรคเพื่อไทย” ตั้งเป้าหมายว่า ต้องกลับมาเป็นแกนนำรัฐบาลอีกครั้ง
แต่อาจไม่ได้เป็นไปตามที่หวังไว้ เพราะ “พรรคประชาชน” (ปชน.) ก็ตั้งเป้าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ต้องได้สส.เกินครึ่งหรือมากที่สุด หวังลุ้นเป็นแกนนำรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้ แกนนำพรรคสีส้ม ก็เปิดทางพร้อมจับมือกับพรรคการเมืองต่างๆ เนื่องจากไม่ได้กำหนดเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้ในนโยบายพรรคแล้ว จึงคิดว่าคงไม่เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้พรรคการเมืองไม่ยอมร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาชนอีกต่อไป
สำหรับ แนวทางการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯของไทย ได้จัดทำเป็นข้อเสนอที่จะเสนอให้สหรัฐฯ ผ่านทาง สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) โดยเน้นวางกรอบแนวทางความร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อปรับสมดุลความสัมพันธ์ทางการค้ามากกว่าที่จะลดภาษี ทั้งนี้ ไทยตั้งเป้าลดการเกินดุลการค้าของไทยกับสหรัฐฯลง 50% ภายใน 5 ปี จากในปี 2567 ที่ไทยได้ดุลการค้า 35,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้ไทยลดได้ดุลการค้าสหรัฐฯลงเหลือประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์ และมีเป้าหมายสร้างสมดุลการค้ากับสหรัฐฯภายใน 10 ปี โดยที่ผ่านมา ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯถึง 300% ของมูลค่านำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งในส่วนนี้ทำให้ไทยถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐฯเพราะตัวเลขการเกินดุลการค้าค่อนข้างสูง
สำหรับแนวทางการเจรจา ประกอบด้วย 5 ประเด็น คือ 1.ความร่วมมือในธุรกิจอาหารแปรรูปไทยและสหรัฐฯ จะใช้ศักยภาพร่วมกัน โดยเฉพาะการนำวัตถุดิบทางการเกษตรของสหรัฐฯ มาปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ ส่งออกสู่ตลาดโลก รวมถึงยกระดับมาตรฐานเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแปรรูปของภูมิภาค
2.เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยไทยจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เช่น น้ำมัน LNG อุปกรณ์ไอที เครื่องบิน และผลิตภัณฑ์เกษตร อย่างข้าวโพดและถั่วเหลือง
3.เปิดตลาด-ลดภาษีการค้า มีการปรับลดภาษีนำเข้าเฉลี่ย 14% จากสินค้ากว่า 11,000 รายการ(MFN applied rate) พร้อมลดขั้นตอนและอุปสรรคด้านศุลกากร เช่น การเร่งรับรอง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยอยู่ในเกณฑ์เปิดตลาดเพิ่มได้
4.การยกระดับคุมเข้มกฎหมายการอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า โดยรัฐบาลจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้า-ส่งออก ป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิด พร้อมเร่งรัดการรับรองสินค้าที่ส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ
5.ส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนนโยบาย ย้ายฐานผลิตกลับสหรัฐฯ (re-shoring) ของประธานาธิบดีทรัมป์

คงต้องรอดูว่า ในที่สุด “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯและรมว.การคลัง ซึ่งจะนำ “ทีมไทยแลนด์” ไปเจรจากับสหรัฐฯ จะสามารถโน้มน้าวให้ยอมรับแนวทางที่ประเทศไทยเสนอหรือไม่ และทำความเข้าใจ และช่วยเหลือภาคธุรกิจภายในประเทศ ซึ่งต้องได้รับผลกระทบกับมาตรการของสหรัฐฯอย่างไรบ้าง
ต้องยอมรับว่า บทสรุปในการหารือกับสหรัฐฯ ถือว่ามีความสำคัญ และมีผลต่อประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งจะถูกจับตามองจากทุกฝ่าย ถ้าหากผลเจรจาออกมาเป็นบวก รัฐบาลก็คงได้เครดิต แต่หากการพูดคุยล้มเหลว สหรัฐฯยังยืนยันที่จะเดินหน้าเก็บภาษี 36% นั่นหมายความว่า “ฝ่ายบริหาร” ย่อมถูกตั้งคำถาม มีศักยภาพเพียงพอกับการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่ หรือควรเปิดโอกาสให้ “คนอื่น” เข้ามาแก้ไขปัญหาแทน
อีกเรื่องคือ การทำความเข้าใจกับร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่วันนี้หลายคนเรียกกันติดปากว่า “ร่างพ.ร.บ.กาสิโน” ไปแล้ว แม้ทางรัฐบาลพยายามจะออกมาปฏิเสธ “กาสิโน” เป็นเพียงส่วนน้อยในพื้นที่ แต่หลายคนก็ไม่เชื่อ เพราะสิ่งที่รัฐบาลบอกจะผลักดันให้เกิดขึ้น ทั้งฮอลล์ขนาดใหญ่ สวนสนุก สวนน้ำ ประเทศไทยมีหมดแล้ว และหากต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นอีก ก็ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายมารองรับ แต่การต้องออกกฎหมาย คงหนีไม่พ้นการเปิดทางให้มี “กาสิโน” ซึ่งที่ผ่านมาถูกต่อต้านมาโดยตลอด ครั้งนี้กระแสต่อต้านก็ไม่ลดน้อยลง มีทั้ง “กลุ่มแพทย์-ตัวแทนศาสนา-นักวิชาการ-ภาคประชาชน” รวมทั้งอีกหลายภาคส่วน จนหลายคนมองว่า บรรยากาศเหมือนตอนที่ประชาชนออกมาต่อต้าน “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย” รวมทั้งท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “พรรคภูมิใจไทย” (ภท.) ที่แสดงท่าที “ไม่เห็นด้วย”

โดยเฉพาะ “ไชยชนก ชิดชอบ” เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ที่ลุกขึ้นมาอภิปรายในสภาฯ โดยประกาศชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับกาสิโนอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าเสนอโดยพรรคเพื่อไทย หรือพรรคการเมืองไหนก็ตาม
ทำให้ “อนุทิน ชาญวีระกูล” รองนายกฯ-รมว.มหาดไทย ในฐานะ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ต้อง ไลน์ไปขอโทษ “นายกฯแพทองธาร” พร้อมแถลงกับสื่อ ยืนยันว่า เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวของ “ไชยชนก” แต่ในที่สุดต้องขึ้นอยู่กับมติพรรค
แต่ความเห็นของ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ-รมว.กลาโหม ในฐานะ “ผู้จัดการรัฐบาล” ที่ออกมาตั้งคำถามว่า “ตกลงระหว่าง “อนุทิน-ไชยชนก” ใครเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกันแน่” ก็ทำให้บรรดา แกนนำ-สมาชิกพรรคภูมิใจไทยไม่พอใจ!!!
อย่าลืมว่า…เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เป็นลูกชายของ “เนวิน ชิดชอบ” ครูใหญ่แห่งภูมิใจไทย อีกทั้งในระหว่างอภิปรายคัดค้านกาสิโน “ไชยชนก” ยังบอกว่า “เป็นลูกพ่อเนวินและคุณแม่กรุณา (ชิดชอบ)” จึงทำให้ถูกตีความไปว่า “ครูใหญ่ของภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยกับกาสิโนด้วยใช่หรือไม่”
ในที่สุด…ถ้าเปิดประชุมสภาฯสมัยหน้า “พรรคภูมิใจไทย” ยืนกรานไม่เห็นด้วยกับ “เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” แล้ว “พรรคเพื่อไทย” จะตั้งรับอย่างไร
เพราะเป็นกฎหมายของรัฐบาล ถ้าไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบ ไม่ลาออกก็ยุบสภาฯ ยิ่ง “พรรคภูมิใจไทย” มี 70 เสียง แม้รัฐบาลจะมีเสียงเกินครึ่ง ก็ฉิวเฉียด หรือแม้แต่ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม (กธ.) จะไปหาเสียงสส.มาเพิ่ม แต่ก็คงไม่เกิน 10 เสียง ส่วนแกนนำพรรคฝ่ายค้านประกาศชัด “ไม่ขอร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย”
ถึงตอนนี้ หากจะบอกว่า เสถียรภาพของ “รัฐบาลแพทองธาร” ขึ้นกับ “ร่างพ.ร.บ.กาสิโน” ก็คงพูดได้
ซึ่งวันนี้บางคนถึงกับคิดไปว่า…ในที่สุด “ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร” อาจไม่ถูกนำเข้าพิจารณาในสภาฯ หาก “แพทองธาร” และ “ทักษิณ ชินวัตร” มองแล้วว่า จะเกิดความเสี่ยง ที่เจอแรงต้านทั้งในและนอกสภาฯ
นอกจากนี้ยัง “เสี่ยง” กับการมีคนไปร้องเรียนให้ “องค์กรอิสระ” ตรวจสอบ ที่จะส่งผลกระทบกับ สถานะ “หัวหน้ารัฐบาล” ของ “แพทองธาร” ที่อาจเจอวิบากกรรมซ้ำรอย “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกฯ ที่ต้องพ้นไปจากตำแหน่ง เพราะไปแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ เนื่องจากมีปัญหาด้านจริยธรรม ทำให้มีปัญหาด้านจริยธรรม

แต่มีความเห็นจาก “ทักษิณ” ผู้มากบารมีเหนือรัฐบาล ที่ตอบคำถามนักข่าวเมื่อถูกถามว่า พรรคภูมิใจไทยสามารถร่วมหัวจมท้ายได้หรือไม่ว่า “การเมืองก็คือการเมือง พรรคภูมิใจไทยก็คือพรรคภูมิใจไทย” และยังย้ำว่า “รัฐบาลยังอยู่ครบเทอม เรื่องครบมันไม่มีปัญหาหรอก ไม่มีปัญหา วันนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไร พรรคภูมิใจไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นพรรคที่ใหญ่อันดับ 2 ของพรรคร่วมรัฐบาล แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็มีจำนวนมากพอ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ซึ่งพรรคภูมิใจไทยก็รู้ดีว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร ถ้าหากจะมีการไม่เข้าใจกัน”
จับท่าทีของ “ผู้มากบารมีเหนือรัฐบาล” เหมือน “หาทางออก” ไว้แล้ว เชื่อมั่นว่า ถ้าพรรคภูมิใจไทยมีปัญหา แต่พรรคร่วมรัฐบาลยังมีมากพอ นั่นหมายความว่า เตรียมหาพรรคอื่นการเมืองมาคอยเป็นอะไหล่ ในการทำให้รัฐบาลยังเดินหน้าต่อไป
เช่นเดียวกับ “สรวงศ์ เทียนทอง” รมว.ท่องเที่ยวและการกีฬา ในฐานะ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า “ต้องเดินหน้าทำความเข้าใจทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคประชาชน ที่แม้จะไม่คัดค้านหลักการ “เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ซึ่งเห็นว่าช่วงเวลานี้ อาจยังไม่เหมาะสม โดยนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และตัวเองในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย จะเดินหน้าเจรจากับทุกฝ่าย เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในเรื่องนี้”
บางที “พรรคเพื่อไทย” อาจเตรียมทางออกไว้แล้ว หากในที่สุด “พรรคภูมิใจไทย” ยังเดินหน้า “คัดค้านกาสิโน” โดยอาจจะหวังพึ่ง “แกนนำพรรคฝ่ายค้าน” ซึ่งมีข้อตกลงบางอย่าง ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ การกำหนดเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งจะมีผลไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า
เพราะ “แดง” กับ “ส้ม” ก็เคยมี “เป้าหมายเดียวกัน” ก่อนที่ต้องมาแยกทางกันในช่วงจัดตั้งรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน”
…………………….
คอลัมน์..ล้วง-ลับ-ลึก
โดย…“แมวสีขาว”