วันพุธ, เมษายน 16, 2025
หน้าแรกHighlight“ราคาน้ำมันดีเซล-ค่าจ้างแรงงาน”พุ่งขึ้น ดัน“ค่าขนส่ง”ไตรมาส 1/68 ดีดปรับตัว!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ราคาน้ำมันดีเซล-ค่าจ้างแรงงาน”พุ่งขึ้น ดัน“ค่าขนส่ง”ไตรมาส 1/68 ดีดปรับตัว!

“พูนพงษ์” เผยค่าขนส่งสินค้าไตรมาส 1/68 ดีดปรับตัวขึ้น เหตุต้นทุนราคาดีเซลพุ่ง-ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น มองแนวโน้มปรับตัวลดลงจากมาตรการลดราคาพลังงานของภาครัฐ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567 จากต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับอัตราค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ความต้องการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่าในระยะต่อไป ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน อาจปรับตัวลดลงจากมาตรการลดราคาพลังงานของภาครัฐ ซึ่งจะสามารถช่วยบรรเทาภาระต้นทุนของผู้ประกอบการขนส่งได้ในระดับหนึ่ง

โดยดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามกิจกรรมการผลิต ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567 เป็นการสูงขึ้นของค่าบริการขนส่งในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.0 จากการสูงขึ้นของค่าบริการขนส่งสินค้ากลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม อุปกรณ์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของค่าบริการขนส่งสินค้ากลุ่มถ่านหินและลิกไนต์ และปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของค่าบริการขนส่งสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามประเภทรถ ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 (YOY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567 เป็นการสูงขึ้นเกือบทุกประเภทรถที่บริการขนส่งสินค้า ได้แก่ รถบรรทุกวัสดุอันตราย สูงขึ้นร้อยละ 3.3 รถบรรทุกของเหลว สูงขึ้นร้อยละ 2.2 รถตู้บรรทุก สูงขึ้นร้อยละ 2.1 รถกระบะบรรทุก สูงขึ้นร้อยละ 1.7 รถบรรทุกเฉพาะกิจ สูงขึ้นร้อยละ 1.6 และรถพ่วง สูงขึ้นร้อยละ 1.1 สำหรับดัชนีค่าบริการขนส่งโดยรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาวราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา ยังคงเป็นเรื่องของต้นทุนที่ยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งราคาน้ำมันดีเซล และการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการเติบโต ของธุรกิจการค้าออนไลน์ ทำให้ความต้องการและปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 2 ปี 2568 คาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อย โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนหลักด้านการขนส่งของผู้ประกอบการเนื่องจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้กำหนดแนวทางการดูแลราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้สอดรับกับสถานการณ์และความเหมาะสม มีมติปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน น้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลงรวม 1 บาท ภายในเดือนเมษายน 2568 ประกอบกับการแข่งขันของธุรกิจขนส่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากจำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้เกิดการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม จากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัว รวมกับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ส่งผลให้
ความต้องการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าขั้นกลาง วัตถุดิบในภาคการผลิต วัสดุก่อสร้าง และสินค้าอุตสาหกรรม ตลอดจนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน จะช่วยหนุนความต้องการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณการขนส่งโดยรวมอาจจะเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาค่าขนส่ง เนื่องจากต้นทุนหลายปัจจัยเริ่มลดลง อาทิ ราคาน้ำมันในตลาดโลก อัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับลดลง และภาครัฐมีนโยบายช่วยเหลือด้านราคาพลังงานอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์จะยังคงติดตามสถานการณ์ด้านค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งศึกษามาตรการที่เหมาะสมในการสนับสนุนผู้ประกอบการและรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะยาวต่อไป

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img