วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSภารกิจหิน“ธรรมนัส” สานฝัน-เติมแกร่ง “3 ป.”อยู่ยาว
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ภารกิจหิน“ธรรมนัส” สานฝัน-เติมแกร่ง “3 ป.”อยู่ยาว

คำประกาศของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์” หลังผงาดขึ้นเป็น “เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ” จากผลการประชุมใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ ที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ประเด็นหลักๆ สรุปได้คือ…

“พลังประชารัฐ เราไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ และหลังจากวันนี้เราก็จะกำหนดทิศทางและนโยบายเพื่อให้พรรคเป็นสถาบันการเมืองที่มีความเข้มแข็งต่อไป และจะลบภาพพรรคเฉพาะกิจออกไปด้วย เรื่องที่จะเกิดปัญหาเหมือนในอดีต ผมมั่นใจว่าคณะกรรมการบริหารชุดใหม่จะไม่มีอีกต่อไป ที่ผ่านมาพรรคเราถูกมองว่าแตกแยก แต่หลังจากนี้จะไม่มี เราจะไปด้วยกัน ทำงานเพื่อประชาชน ชาติบ้านเมือง รักษาไว้ซึ่งสถาบัน คิดว่าการเลือกตั้งในอนาคตมั่นใจว่าหัวหน้าพรรคและสมาชิกสามารถเดิน ไปข้างหน้า และจะเป็นพรรคใหญ่ที่มั่นคง จะเป็นพรรคอันดับหนึ่งได้” (ธรรมนัส พรหมเผ่า 18 มิ.ย.64)

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ “ธรรมนัส” ประกาศไว้ข้างต้น จะทำได้จริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องรอเวลาพิสูจน์ผลงานว่าเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐคนที่สาม ต่อจาก “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์-อนุชา นาคาศัย” จะทำได้อย่างที่บอกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการจัดทัพใหม่ของพรรคพลังประชารัฐ ไปเมื่อ 18 มิ.ย. ที่แม้จะเปลี่ยนตัว “เสนาธิการพรรค” มาเป็น “ผู้กองธรรมนัส” คนดัง ที่มีฉายาในโลกโซเชียลมีเดียว่า “รัฐมนตรีแป้งมัน” แต่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังเป็น “ลุงป้อมใจดี-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี คนเดิม

ประเด็นที่ต้องติดตามหลังมีการปรับทัพในพลังประชารัฐ ที่แม้บางกลุ่มในพรรคโดยเฉพาะ “กลุ่มสามมิตรเดิม” ที่นำโดย “สมศักดิ์ เทพสุทิน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-อนุชา นาคาศัย” จะปากแข็งบอกว่ารับได้ ไม่มีปัญหาต่อการที่ “อนุชา” โดน “ธรรมนัส” แย่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคไป ทั้งที่ เสี่ยแฮงค์ เป็นเลขาธิการพรรคยังไม่ครบปีด้วยซ้ำ

แต่ในทางการเมือง ใครต่อใคร ก็ดูออก พลังประชารัฐมีแรงกระเพื่อมอยู่ภายใน เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่ถึงสถานการณ์ที่คนในพรรคบางกลุ่ม ที่ไม่พอใจการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ต้องตัดสินใจใดๆ เพราะการเลือกตั้งยังอีกยาวไกล มีแนวโน้มรัฐบาลอาจอยู่ครบเทอม

ทำให้ “กลุ่มสมศักดิ์” ต้องยอมกลืนเลือด รอวันเอาคืน “กลุ่มธรรมนัส” ต่อไป เมื่อโอกาสมาถึง!

ในทางการเมืองสิ่งที่ต้องจับตาหลังการจัดทัพใหม่ในพลังประชารัฐ ก็คือ “สามฉากการเมือง” ต่อจากนี้

1.การรุกทางการเมือง ทั้งในพรรคพลังประชารัฐและในรัฐบาลของ “ธรรมนัส” และกลุ่ม 4 ช.

การที่ “ธรรมนัส” ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ถือเป็นชัยชนะของ “กลุ่ม 4 ช.” หรือกลุ่ม 4 รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ที่ประกอบด้วย “ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ-สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน-อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม” ที่เอาชนะกลุ่มสมศักดิ์ มาได้ในการชิงเก้าอี้เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

การรุกคืบดังกล่าวก็คือ ต้องดูว่า กลุ่ม 4 ช. โดยเฉพาะธรรมนัส จะหาจังหวะ รุกคืบขออัพเลเวลทางการเมือง จากรมช.เกษตรฯ ไปเป็น “รัฐมนตรีว่าการฯ” กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งหรือไม่

ท่ามกลางข่าวว่า ธรรมนัส หมายปองเก้าอี้ “จับกัง 1” ของ “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน…ตาเป็นมัน

รวมถึงคนในกลุ่ม 4 ช. อย่าง “รมต.บิ๊กอายส์-นฤมล” ก็อยากขยับจาก “จับกัง 2” ไปนั่ง รมช.คลังที่ตัวเองถนัด หรือขึ้นเป็น รมว.กระทรวงศึกษาธิการ หากมีการปรับครม. แล้ว “ตรีนุช เทียนทอง” หลุดจากเก้าอี้ “เสมาฯ 1”

ที่ก็ไม่แน่ เมื่อปัจจัยการเมืองต่าง ๆ มีความพร้อม เช่น มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสำเร็จเรื่องการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบสำเร็จ ที่จะทำให้พลังประชารัฐได้ส.ส.มากขึ้น ถึงตอนนั้น…ไม่แน่

แกนนำพลังประชารัฐ อาจออกมาเขย่าให้มีการปรับครม. ทั้งภายในพรรคหรือรุกหนัก ขอปรับครม.แบบเกลี่ยโควต้าใหม่ มีการสลับเก้าอี้ รมต.แบบแลกกระทรวงกันกับ ภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ ตามแผน พลังประชารัฐ เพื่อรองรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

อาทิ การส่งคนของพรรคพลังประชารัฐจริงๆ ไปนั่งที่กระทรวงมหาดไทย เต็มตัวเสียที เพราะทุกวันนี้ พลังประชารัฐ ไม่มีคนของพรรคเป็นรัฐมนตรีอยู่กระทรวงมหาดไทยเลยแม้แต่คนเดียว ทำให้คนของพลังประชารัฐ  ต่างบ่นว่า พรรคเสียโอกาสไม่ใช่น้อย เพราะภูมิใจไทยก็ยังมี “ทรงศักดิ์ ทองศรี” ส่วนประชาธิปัตย์ก็มี “นิพนธ์ บุญญามณี” เป็นสองรมช.มหาดไทย

เพราะแม้ “บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มท.1” จะเป็นรัฐมนตรีที่เป็นคนในเครือข่ายรัฐบาลพลังประชารัฐ แต่บิ๊กป๊อกก็ไม่ได้สนใจ ไม่ให้ความสำคัญกับส.ส.พลังประชารัฐมากนัก  

มีเสียงร่ำลือกันว่า ส.ส.พลังประชารัฐมีการนั่งบนกันที่รัฐสภาและที่ทำการพรรคพลังประชารัฐว่า บางคนเคยไปขอเข้าพบพล.อ.อนุพงษ์ ที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อคุยเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในจังหวัด ไม่ได้จะไปขออะไร แต่ทางบิ๊กป๊อกก็ไม่ให้เข้าพบง่ายๆ บางคนไปนั่งรอ 3-4 ชั่วโมง ก็ยังไม่ได้คุย จนส.ส.หลายคนไม่พอใจ ถึงกับประกาศจะไม่ไปเหยียบกระทรวงมหาดไทยอีก

เรียกได้ว่า หากพล.อ.อนุพงษ์ ไม่ได้เป็น พวก 3 ป. คือไม่ได้เป็นน้องรักบิ๊กป้อม ไม่ได้เป็นพี่ที่รักของบิ๊กตู่  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ป่านนี้ส.ส.พลังประชารัฐ อาจถึงขั้นล่าชื่อขับออกจากเก้าอี้ มท.1 หรือเคลื่อนไหวให้มีการปรับพล.อ.อนุพงษ์ ออกจาก รมว.มหาดไทย ไปนานแล้ว

จนเคยมีเสียงร่ำลือกันว่า หากมีการปรับครม.เกิดขึ้น โดยเฉพาะการปรับครม.ช่วงใกล้ๆ เลือกตั้ง ถ้า “ธรรมนัส” ไม่ได้พาสชั้น ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการฯ ยังไงก็ควรโยกจากรมช.เกษตรฯ ไปเป็น รมช.มหาดไทย เพื่อเป็นมท.2 ก็ยังดี โดยอาจสลับกับประชาธิปัตย์ ด้วยการให้ประชาธิปัตย์ ส่งคนของตัวเองไปเป็นรมช.เกษตรฯ แทน

ซึ่งเรื่องการอัพเลเวล ตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับ “ธรรมนัส” เพื่อให้สมราคา “เลขาธิการพรรคแกนนำรัฐบาลอันดับหนึ่ง” เป็นเรื่องที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นแน่ เพียงแต่จะเกิดขึ้นเมื่อใด เท่านั้นเอง

สมศักดิ์ เทพสุทิน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ cr : FB พรรคพลังประชารัฐ

2.อนาคตของ “กลุ่มสมศักดิ์” ในพลังประชารัฐ จะอยู่แบกลืนเลือด หรือถึงเวลาต้องออกไปอยู่รังใหม่

การที่กลุ่มสมศักดิ์ ถูกกลุ่มธรรมนัส ยึดเก้าอี้เลขาธิการพรรคไป เรื่องนี้ แม้กลุ่มสมศักดิ์จะบอกว่าไม่มีปัญหา แต่ลึกๆ ข่าวว่า กลุ่มสมศักดิ์ฉุนไม่น้อย แต่ต้องกลบเกลื่อนอาการไว้ แต่รอยร้าวในพลังประชารัฐ ต่อจากนี้…มีแน่ ยังไง ปฏิเสธความจริงไม่ได้

ยิ่งกลุ่มสมศักดิ์ หากดูความเคลื่อนไหวในอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคพรรคกิจสังคม ต้องยอมรับว่า เป็นกลุ่มการเมือง ที่พร้อมจะแยกตัวไปอยู่พรรคอื่นได้ตลอดเวลา หากผลประโยชน์ลงตัว

โดยที่ผ่านมา มีกระแสข่าวมาตลอดว่า อดีตกลุ่ม 4 กุมาร นำโดย “อุตตม สาวนายนสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” อดีตสองแกนนำพลังประชารัฐ กำลังซุ่มตั้งพรรคการเมืองใหม่อยู่โดยมี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” คอยดูทิศทางลมให้

ที่ต้องไม่ลืมว่า “สมศักดิ์-สุริยะ” มีความสนิทสนมกับ “สมคิด” เป็นอย่างดี เลยมีการมองกันว่า หากสุดท้าย ถ้ากลุ่มสมศักดิ์อยู่พลังประชารัฐไม่ได้จริงๆ ก็อาจย้ายออกไปอยู่กับกลุ่มสมคิด-อุตตม เพื่อก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ ส่วนเรื่องในอดีต ที่กลุ่มสมศักดิ์เคยไปร่วมมือกับกลุ่มอื่นๆ ในพลังประชารัฐ เขี่ยทิ้งกลุ่มสมคิด-อุตตม-สนธิรัตน์ ออกจากรัฐบาล ถึงเวลาจริงๆ พวกนักการเมืองด้วยกันเอง ก็เคลียร์กันได้ หากผลประโยชน์ลงตัว

กระนั้นก็ตาม ถ้าดูจากปัจจัยการเมืองทั้งหมด โดยเฉพาะปัจจัยหลักๆ เช่น เงื่อนไขเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่สว. 250 คนยังโหวตนายกฯได้-การกุมอำนาจรัฐของพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล-กติกาการเลือกตั้ง ที่จะเปลี่ยนไป หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ-ความเป็นพรรคใหญ่ของพลังประชารัฐ ที่ ทุนหนา มีส.ส.จำนวนมาก

ดังนั้น หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ยังไง “พลังประชารัฐ” ก็ได้เปรียบทุกพรรคการเมือง โอกาสจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกรอบหลังเลือกตั้ง เรียกได้ว่าแบเบอร์ แถมตอนเลือกตั้ง คนที่ลงในนามพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่เหนื่อยในการหาเสียง

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มสมศักดิ์ อาจไม่ย้ายออกจากพลังประชารัฐก็ได้ เพราะออกไป นับหนึ่งใหม่ก็เหนื่อย ต้องเสียเงิน เสียแรงเพิ่มมากขึ้น สู้อยู่กับพลังประชารัฐต่อไป ยังไง แกนนำกลุ่มทั้ง “สมศักดิ์-สุริยะ-อนุชา” ก็แบเบอร์ รอเป็นรัฐมนตรีอยู่แล้ว เรื่องอะไร จะต้องไปเหนื่อยกับการตั้งพรรคใหม่หรือไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่นที่ไม่มีหลักประกันการได้เป็นรัฐบาลหรือได้เป็น รัฐมนตรีเหมือนอยู่กับพลังประชารัฐ

จึงเป็นไปได้ที่สุดท้าย กลุ่มสมศักดิ์ จะอยู่กับพลังประชารัฐ ต่อไป เพราะเทียบแล้ว แค่ “อนุชา” ไม่ได้เป็นเลขาธิการพรรค กับการอยู่พลังประชารัฐ แล้วไม่เหนื่อย

ตอนเลือกตั้ง ไม่เสียเงินมาก และได้เข้ามาเป็นรัฐบาลชัวร์หลังเลือกตั้ง การอยู่พลังประชารัฐต่อ มันก็คุ้มกว่ามากสำหรับกลุ่มสมศักดิ์

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

3.ภารกิจสำคัญของ “ธรรมนัส” ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ  ที่ต้องทำให้ “กลุ่ม 3 ป.” อยู่ยาวและมั่นคง

ต้องยอมรับว่า จุดแข็งสำคัญของ “ธรรมนัส” ก็คือ เรื่องความพร้อมส่วนตัว ทั้งเรื่อง “เงิน-หน้าตัก” ที่แม้ไม่รวยเท่า “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แต่ก็มีมากกว่า “อนุชา-สมศักดิ์”

อีกทั้ง “ธรรมนัส” รู้กันดีว่าเป็นคน “กล้าจ่าย-เต็มใจควักไม่มีอิดออด” แถมยังเป็นคนที่มีคอนเน็คชั่นอยู่หลายวงการ ทั้งนักธุรกิจ-เครือข่ายทหาร ตำรวจ ข้าราชการทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค-มีความแนบแน่นกับนักการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น และกลุ่มทุนท้องถิ่นหลายจังหวัด

อีกทั้งปัจจุบัน “ธรรมนัส” เชื่อมต่อคอนเน็คชั่นกับแกนนำหลายพรรคการเมือง แม้แต่กับแกนนำพรรคฝ่ายค้านทั้งพรรคใหญ่-พรรคเล็ก ก็มีข่าวว่าหลายคน ก็มีสัญญาใจบางอย่างกับ “ธรรมนัส” อยู่

เลยไม่แปลกที่ตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ รอบที่ผ่านมา “ธรรมนัส” ถูกเขียนในญัตติไม่ไว้วางใจเสียหนักหน่วง แทบเสียผู้เสียคน แต่ถึงเวลาตอนอภิปรายจริง กลับมีส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายแค่ 1-2 คน แถมอภิปรายแบบ “ชงหวาน” ให้ “ธรรมนัส” ตอบเสียด้วย จน “ธรรมนัส” กลายเป็นรัฐมนตรีที่ได้คะแนนเสียงไว้วางใจมากสุด มากกว่า “บิ๊กตู่” เสียด้วยซ้ำ จนเกิดกระแสข่าว “ฝ่ายค้าน” แอบกินกล้วย…มาแล้ว!

เรียกได้ว่า “ธรรมนัส” มีบุคลิกครบเครื่อง สไตล์เลขาธิการพรรคใหญ่ ที่หลายพรรคการเมืองใหญ่ในอดีต ก็ต้องมีคนแบบนี้ คือคอยทำงานทั้งแบบ

“เปิดเผย-ปิดลับ” และทั้ง “บนดิน-ใต้ดิน”

เพื่อคอยทำงานแทนหัวหน้าพรรค ทุกอย่าง โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้งและช่วงตั้งรัฐบาล คือทำหน้าที่เหมือน เพลย์เมกเกอร์ คอยเก็บกวาดให้หัวหน้าพรรค และให้พรรคต้นสังกัด

หากนึกไม่ออก เลขาธิการพรรคสไตล์แบบนี้มี ก็มีอาทิเช่น สุเทพ เทือกสุบรรณ สมัยเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์-พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ สมัยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์-เสนาะ เทียนทอง สมัยเป็นเลขาธิการพรรคชาติไทยและความหวังใหม่-บรรหาร ศิลปอาชา สมัยเป็นเลขาธิการพรรคชาติไทย เป็นต้น

การที่ “บิ๊กป้อม” เลือกหนุน “ธรรมนัส” มากกว่า “อนุชา” ก็คงเพราะ “บิ๊กป้อม” เห็นแล้วว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึง รวมถึงการเมืองในช่วงต่อจากนี้ จำเป็นต้องอาศัย “ธรรมมนัส” ที่กล้าได้กล้าเสียมากขึ้นกว่า “อนุชา” มาเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เพื่อทำให้ “รัฐบาล 3 ป.” อยู่ในอำนาจจนครบเทอมสี่ปี และได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหลังเลือกตั้ง

ภารกิจสำคัญของ “ธรรมนัส” จึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจาก สานฝัน-เติมแกร่ง ให้ “3 ป.” อยู่ในอำนาจแบบยาวๆ นั่นเอง

…………….

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง                                          

โดย….“พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img