คลังเตรียมอัดฉีด 5 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจ ปรับงบปี 69-สั่งแบงก์รัฐปล่อยกู้-จัดหาแหล่งเงินนอกงบประมาณ หรือการกู้เงินในประเทศ ไม่ห่วง แม้หนี้สาธารณะพุ่ง 80% ของจีดีพี
วันที่ 23 เม.ย.68 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจไทยชะลอตัวจากปัญหาสงครามทางการค้า ทำให้กองทุน IMF และหน่วยงานอื่นๆ ปรับลด GDP ไทยเติบโต 1.8% ในปี 68 จากเดิม 2.5-3% หรือค่ากลาง 2.8 % ซึ่งกระทรวงการคลังคาดหวังว่า ไตรมาสแรกปี 68 จีดีพีอาจโต 3% ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจโตต่อเนื่อง จึงต้องเร่งแก้ปัญหาการนำเข้า-ส่งออก ด้วยการเจรจากับสหรัฐฯ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านหลายมาตรการ ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบ 5 แสนล้านบาท
นายพิชัยกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ กำลังเร่งศึกษาหามาตรการที่เหมาะสม และใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ผ่านการเพิ่มกำลังซื้อ กระตุ้นการบริโภค การลงทุน ซึ่งต้องเป็นโครงการขนาดใหญ่พอ และตอบสนองความต้องการของประชาชน เอสเอ็มอี ภาคเอกชน เพื่อทำให้เกิดทางการลงทุนเพิ่ม เกิดการจ้างงานเพิ่ม ทดแทนรายได้การส่งออกที่สูญเสียไปจากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เมื่อมีแผนการลงทุนให้ชัดเจน จะดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุน มั่นใจว่าไทยมีความพร้อม ทั้งทำเลที่ตั้ง พื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี พืชเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
มองว่าไทยผ่านมาแล้ว ทั้งวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 , โควิด-19 ปัญหาจาก ‘ภาษีทรัมป์’ครั้งนี้ เจอกันทุกประเทศทั่วโลก เชื่อว่าจะผ่านปัญหานี้ไปได้
ทั้งนี้ คาดว่าจะสรุปมาตรการทั้งหมดในเร็วๆ นี้ เพื่อปรับแผนโอนเงิน การลงทุน ช่วยกลุ่มเป้าหมาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหมาะสม ผ่านการอัดฉีดเงินฟื้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาท
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คลังและสภาพัฒน์ กำลังเร่งศึกษาหามาตรการมาฟื้นเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการฟื้นเศรษฐกิจวงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการปรับแผนงบประมาณรายจ่ายปี 68/69 เพราะขณะนั้น ยังไม่มีปัญหาสงครามเศรษฐกิจ ทรัมป์ขึ้นภาษี , แนวทางการใช้แบงก์รัฐปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ , การจัดหาแหล่งเงินนอกงบประมาณ หรือการกู้เงินในประเทศ ที่มีสภาพคล่องยังสูงอยู่ เพราะกฎหมายยังให้อำนาจกู้เงินเพิ่มเติมได้
ทั้งนี้ ปลัดคลังยอมรับว่า การกู้เงิน หรือใช้เงินอัดฉีดสู่ระบบครั้งนี้ 5 แสนล้านบาท อาจทำให้หนี้สาธารณะจากปัจจุบัน 64% ของจีดีพีเพิ่มเป็น 80% ของจีดีพี แต่การเป็นหนี้ไม่ได้น่ากลัว ต้องดูว่านำไปใช้ทำอะไร จะหาแหล่งเงินมาอย่างไร และมีแผนใช้คืนอย่างไร นี่คือสิ่งที่ต่างชาติมอง เพราะหลายประเทศหนี้สาธารณะสูง แต่บริหารจัดการได้