อย่าชะล่าใจ! “หมอเจษฎ์” ไขปม เจ็บหน้าอกแบบไหน? กรดไหลย้อน VS หัวใจขาดเลือด ชี้อาการต่างกัน ความรุนแรงคนละเรื่อง! พร้อมแนะวิธีสังเกตสัญญาณเตือน “หัวใจ” และสิ่งที่ต้องทำทันที ห้ามขับรถเอง!
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.68 นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ได้ให้ความรู้ด้านสุขภาพที่สำคัญผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “หมอเจด” โดยเน้นถึงความแตกต่างระหว่างอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจาก “โรคกระเพาะอาหารไหลย้อน (GERD)” กับ “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (MI)” ซึ่งเป็นสองภาวะที่ผู้คนมักสับสนกันบ่อยครั้ง
นพ.เจษฎ์ อธิบายว่า แม้ว่าทั้งสองโรคจะมีอาการเจ็บหน้าอกคล้ายกัน แต่ความรุนแรงและผลลัพธ์นั้นแตกต่างกันอย่างมาก โดยได้แจกแจงความแตกต่างใน 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. ลักษณะอาการเจ็บหน้าอก:
- กรดไหลย้อน (GERD): จะรู้สึก “แสบร้อนกลางอก” เหมือนมีกรดจากกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร อาการแสบร้อนอาจลามขึ้นมาถึงคอหรืออก มักเกิดขึ้นหลังทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารทอด อาหารเผ็ด นม ชา กาแฟ หรือการนอนราบหลังทานอาหารเสร็จใหม่ๆ
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (MI): จะมีอาการเจ็บแบบ “แน่นๆ หนักๆ” เหมือนมีอะไรมากดทับ หรือโดนนั่งทับที่หน้าอก อาการเจ็บอาจร้าวไปยังแขนซ้าย คอ กราม หรือหลัง มักเกิดขึ้นขณะออกแรง หรือบางครั้งอาจเกิดขึ้นได้แม้ในขณะนั่งพักเฉยๆ
สำหรับผู้หญิง: อาการของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอาจไม่ชัดเจนเหมือนในผู้ชาย บางรายอาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอกที่เด่นชัด แต่จะมีอาการเหนื่อยง่ายผิดปกติ อ่อนเพลียรุนแรง ปวดท้องส่วนบน หรือปวดร้าวที่คอหรือสะบัก นอกจากนี้ อาจมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น เหงื่อออกมากผิดปกติ (เหงื่อเย็น) หายใจลำบากหรือหายใจไม่อิ่ม คลื่นไส้หรืออาเจียน ใจสั่น หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
2. สิ่งกระตุ้น:
- กรดไหลย้อน (GERD): ส่วนใหญ่ถูกกระตุ้นด้วยอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง หรือการทานอาหารมื้อหนักแล้วนอนทันที ผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุง มีความเครียด หรือท้องผูกบ่อย ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (MI): เกี่ยวข้องกับภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน อันเนื่องมาจากโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
3. ท่าทางที่ทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง:
- กรดไหลย้อน (GERD): อาการมักจะแย่ลงเมื่อนอนราบ ยิ่งเอนตัวลง อาการแสบร้อนก็จะยิ่งมากขึ้น แต่หากยืนหรือนั่งตรงๆ อาการอาจดีขึ้น ยาลดกรดสามารถช่วยบรรเทาอาการได้อย่างชัดเจน
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (MI): อาการแน่นหน้าอกจะไม่บรรเทาลง ไม่ว่าจะอยู่ในท่ายืน นั่ง หรือนอน ยาลดกรดก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ การพักผ่อนก็ไม่ทำให้อาการดีขึ้น ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน
4. วิธีการตรวจวินิจฉัย:
- กรดไหลย้อน (GERD): แพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการและประวัติของผู้ป่วย หากอาการไม่ดีขึ้น อาจมีการส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (MI): จำเป็นต้องได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การเจาะเลือดเพื่อดูระดับเอนไซม์หัวใจ (Troponin) และอาจต้องทำการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (ECHO) หรือการสวนหัวใจเพื่อดูหลอดเลือดโดยตรง
5. ความแตกต่างที่ต้องรู้ให้ทัน:
- กรดไหลย้อน (GERD): ไม่ใช่โรคร้ายแรงในทันที แต่หากเป็นเรื้อรัง อาจทำให้หลอดอาหารอักเสบ เป็นแผล หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลอดอาหารในระยะยาว การรักษากรดไหลย้อนประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การยกหัวเตียงให้สูงขึ้น และการใช้ยารักษาต่างๆ เช่น ยาลดกรด ยายับยั้งการหลั่งกรด (PPI) หรือยาปกป้องเยื่อบุ
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (MI): เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน หากปล่อยทิ้งไว้นาน กล้ามเนื้อหัวใจจะเริ่มตายทีละส่วน ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวถาวร หรืออาจเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลได้
หากสงสัยว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ควรปฏิบัติดังนี้:
- หยุดทุกอย่าง: หยุดเดิน ยกของ หรือทำกิจกรรมใดๆ ทันที แล้วนั่งพักในท่าที่สบายที่สุด
- ขอความช่วยเหลือ: โทรสายด่วน 1669 แจ้งว่า “แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก สงสัยหัวใจขาดเลือด” พร้อมแจ้งตำแหน่งที่อยู่ให้ชัดเจน และห้ามขับรถไปเองโดยเด็ดขาด
- ยาที่อาจช่วยได้:
- หากมียาอมใต้ลิ้น (Nitroglycerin) ที่แพทย์เคยสั่งไว้ ให้ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์
- หากไม่มีประวัติแพ้ยาแอสไพริน และไม่มีปัญหาเลือดออกง่าย อาจเคี้ยวยาแอสไพริน 300 มก. หนึ่งเม็ด (ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ 1669 ก่อนให้ยา)
- ห้ามขับรถไปเอง: เพราะหากเกิดหมดสติกลางทาง จะไม่มีใครช่วยเหลือได้ทันท่วงที
- หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวและไม่หายใจหรือหายใจผิดปกติ: ให้เริ่มทำการปั๊มหัวใจ (CPR) ทันที โดยโทร 1669 แล้วเปิดลำโพงให้เจ้าหน้าที่แนะนำวิธีการทำ CPR ได้เลย
นพ.เจษฎ์ ทิ้งท้ายว่า อาการเจ็บหน้าอกไม่ควรมองข้าม เพราะอาจเป็นเพียงกรดไหลย้อน หรืออาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจที่อันตรายถึงชีวิต สิ่งสำคัญที่สุดคือ “อย่าคิดเองเออเอง” หากไม่แน่ใจ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ตรงจุด หากมีคำถามเพิ่มเติม สามารถแสดงความคิดเห็นได้ในโพสต์ดังกล่าว