“พิชัย” เล็งหารือธปท.-สศช. ออกมาตรการกระตุ้นบริโภค – การลงทุน เตรียมอัดฉีดเงิน 5 แสนล้าน พยุงเศรษฐกิจสู้ภาษีทรัมป์ คาดได้ข้อสรุปชัดเจนพ.ค.นี้
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2568 เหลือ 2.8% จากเดิม 3.3% และประเมินเศรษฐกิจไทยใหม่จากเดิมจะขยายตัว 2.9% เหลือ 1.8% ว่า เป็นเพียงประเมินตัวเลขเบื้องต้น ของจริงอาจจะลดไม่ถึงก็ได้ ยังไม่มีใครประเมินได้ว่ามันจะลดขนาดไหน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผลของมหาอํานาจ 2 ประเทศ ระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่สถานการณ์นโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ตอนนี้ยังไม่แน่นอน และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
สําหรับประเทศไทยหลายค่ายก็มองกันว่าจีดีพีน่าจะอยู่ประมาณ 2.5-3% หรือค่ากลางที่ 2.8% ก็ลดลงมาประมาณหนึ่ง ก่อนที่มีเหตุการณ์นี้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวตามลําดับ ส่วนตัวเชื่อว่าที่ผ่านมาในไตรมาสที่ 1/68 ถ้าไม่มีอะไร จีดีพีน่าจะโต 3% แต่ยอมรับว่าเหตุการณ์ปัจจุบันอาจมีผลกระทบต่อจีดีพีบ้าง ก็ติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ทางรัฐบาลก็ต้องเตรียมออกมาตรการเข้ามาดูแลกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการหารือหลายฝ่ายอย่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสศช. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หาทางรับมือและพร้อมออกมาตรการเข้ามาดูแลกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อรักษาจีดีพีให้เติบโตได้ในระดับเดิมโดยจะออกในลักษณะโครงการขนาดใหญ่ ในการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งต้องมากกว่า 500,000 ล้านบาท ส่วนที่มาของแหล่งเงินจะมีการกู้หรือไม่ จะต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง
เมื่อถามว่า หากนำวงเงินดังกล่าวมาใช้จะมีผลกระทบต่อหนี้สาธารณะหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า การกู้เงินนำมาใช้ทำอะไร ถ้าสามารถทำให้ขนาดเศรษฐกิจเติบโตขยายตัวได้ สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีปรับลดลงได้ หลักการนี้เมื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ต้องมีความมั่นใจว่าสิ่งเหล่านั้น นํามาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีผลทําให้หนี้ต่อขนาดของเศรษฐกิจลดลง
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ฐานะการคลังไทยเข้มแข็ง ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 500,000 ล้านบาท ต้องดูว่าจะทำส่วนไหน ซึ่งมองว่าการกระตุ้นการบริโภคจะเกิดผลได้ไว แต่การลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
สำหรับแหล่งเงินยังไม่สรุปว่าจะกู้หรือไม่ ซึ่งหลังจากนี้ต้องดูการสรุปโครงการที่จะชัดเจนในเดือน พ.ค.2568 ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจโลกว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยแหล่งเงินมีหลายแนวทาง คือ
คือ 1.การเกลี่ยงบประมาณ 2.การปรับงบกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2568 ที่ยังเหลือ 150,000 ล้านบาท 3.การให้สถาบันการเงินของรัฐเข้ามาปล่อยสินเชื่อเพื่อเติมเงินเข้าเศรษฐกิจได้อีกทาง
ส่วนการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 75-80% นั้นมองว่าเพดานหนี้ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะหลายประเทศมีหนี้สูงถึง 80% หรือ 100% ก็ยังทำได้ แต่สิ่งสำคัญคือการกู้เงินมาจะมาทำอะไร รวมถึงดูเรื่องความสามารถในการชำระหนี้คืนด้วย ซึ่งเห็นว่าหากรัฐบาลเลือกกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท จะกระทบหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่ม 3% โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 64.21%