ในที่สุด…ก็ “ล่มไม่เป็นท่า!!” กับการเตรียมตัวไปเจรจากับสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการใช้มาตรการภาษีตอบโต้นานาประเทศ
เป็นที่รู้กัน ไทยเป็นประเทศเล็กๆ ในมือของสหรัฐฯ ที่มีเป้าหมาย ต้องการเจรจาต่อรอง ในเรื่องทางการค้าให้เกิดผลสำเร็จ ในทางใดทางหนึ่ง
การคาดคะเนว่า น่าจะมีการเจรจาได้ในวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ตามที่นายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ระบุไว้มีอัน “ต้องเลื่อน” เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว ยังไม่ได้มีการนัดหมายใดๆ กันเกิดขึ้น
จึงไม่ต้องแปลกใจว่า การชี้แจงของนายกรัฐมนตรีเอง หรือแม้แต่การชี้แจงของ “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จึงดูแล้วแปลกๆ

เอาเป็นว่า ณ เวลานี้ จึงได้แต่รอคอยกันต่อไป ขณะที่ “เพื่อนบ้านรอบข้าง” เทคแอ็กชัน ตัดหน้ากันไปให้เห็นชัดเจน ซึ่งตามข้อมูลส่วนหนึ่งที่ฝ่ายค้านออกมาแฉ ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม ที่ถูกภาษีตอบโต้จากประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” 46% ก็มีโอกาสได้หารือร่วมกับรมต.คลังสหรัฐฯ อย่าง “สกอตต์ เบสเซนต์” ไปแล้ว
ข้อแลกเปลี่ยนของเวียดนาม ก็เป็นเรื่องซื้อก๊าซแอลเอ็นจี และเครื่องบินจากสหรัฐอเมริกาเพิ่ม รวมไปถึงออกมาตรการป้องกันการสวมสิทธิ และทบทวนอุปสรรคการค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี และมีมาตรการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา
หรือจะเป็น ญี่ปุ่น ที่ถูกภาษีตอบโต้ 24% ก็มีโอกาสหารือกับ “สกอตต์ เบสเซนต์” ไปแล้วเช่นกัน แถม “ทรัมป์” ยังเซอร์ไพรส์ โดยเข้าประชุมด้วย และโพสต์หลังการเจรจาว่า “Big Progress!!”
ส่วน อินโดนีเซีย ได้หารือร่วมกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ “เจมีสัน กรีเออร์” และรมต.พาณิชย์ อย่าง “ฮาวเวิร์ด ลัทนิค” และยังมีการพบปะกับรมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ “มาร์โค รูบิโอ” อีกต่างหาก
ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า จะบรรลุข้อตกลงกันให้ได้ภายใน 60 วันข้างหน้า โดยมีโรดแมปที่ชัดเจนว่า จะประกอบไปด้วยการเจรจา 3 รอบ ที่เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน ความร่วมมือด้านแร่ที่สำคัญ และความพยายามสร้างความเข้มแข็งให้กับซัพพลายเชน
หรือ!! มาเลเซีย ที่ถูกภาษีตอบโต้ 24% โดยรมต.การค้าและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ได้ออกเดินทางไปเจรจาในวันที่ 24 เม.ย.นี้ พบกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยใช้จุดแข็งคือความเป็นกลาง และการเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในเอเชีย เป็นหลักในการเจรจา
เช่นเดียวกับ รมต.คลังและ รมต.อุตสาหกรรมของ เกาหลีใต้ ที่เดินทางไปเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ในวันเดียวกัน โดยเน้นไปที่การเจรจาการยกเว้นภาษีตอบโต้ ภาษีนำเข้าเหล็ก และยานยนต์ที่ถูกเก็บไปแล้วก่อนหน้า โดยเกาหลีใต้เสนอความร่วมมือในอุตสาหกรรมต่อเรือ และโครงการลงทุนร่วมเพื่อขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอะแลสกา
ขณะที่ อินเดีย ที่ถูกภาษีตอบโต้ 26% ปรากฎว่า รองประธานาธิบดีสหรัฐ “เจดี แวนซ์” ก็เดินทางไปเยือนอินเดีย เพื่อพบกับนายกรัฐมนตรีอินเดีย และได้เริ่มการเจรจาทวิภาคีเพื่อการลดภาษีนำเข้า รวมไปถึงความร่วมมือด้านความมั่นคง เทคโนโลยี และพลังงาน

ส่วน ไทยยังไปไม่ถึงไหน? แถมสหรัฐฯยังมองไม่เห็นอีกต่างหาก!! ดังนั้น “ผู้บริหารประเทศ” จึงต้องเปลี่ยนแผน หันมาเตรียม “กู้เงิน” เพื่อประคองเศรษฐกิจให้อยู่รอดต่อไปให้ได้
ตัวเลข “5 แสนล้านบาท” จึงถูกเปิด ออกมาจากคำของ รองนายกฯและรมว.คลัง “พิชัย” ที่มองว่า สิ่งจำเป็นในเวลานี้ต้องสร้างความเข้มแข็งในประเทศให้เกิดขึ้นให้ได้
ปัญหาอยู่ที่ว่า การกู้เงินครั้งนี้น่ากลัวหรือไม่? ต่อให้มีการขยายกรอบหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 75% จากที่กำหนดไว้ที่ 70% ในปัจจุบัน
แต่เมื่อรัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่ม ปัญหาจะตกไปอยู่ที่ “เครดิต” ของประเทศ แม้ล่าสุด “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง ที่กำลังร่วมประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่สหรัฐฯ จะยืนยันหนักแน่นว่า ทั้งเจพี มอร์แกน ทั้งมูดีส์ และเอสแอนด์พี มีแนวโน้มที่จะยังคงเครดิตประเทศไทยไว้เหมือนเดิม
ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เชื่อได้เลยว่า เมื่อมีการกู้เงินเพิ่ม ที่มีความเสี่ยงต่อเครดิตประเทศ ก็หนีไม่พ้นที่ “ความเชื่อมั่น” จะดิ่งหายไปกับสายลมเข้าให้อีก
และ… แน่นอน เรื่องนี้ ย่อมส่งแรงกระแทกมาถึง “ตลาดหุ้นไทย” ที่เวลานี้กำลังต่ำเตี้ยติดดินด้วยเช่นกัน ก็จะกลายเป็นการทับถมเศรษฐกิจเข้าให้อีก
ก็เหมือนกับว่า “ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็กำลังมาแทรก” เข้าอีก ในเมื่อ “ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน” ของ “ประธานาธิบดีทรัมป์” ก็ต้องมาวัดดวงกันว่า คนไทยจะนอนหลับสนิทแค่ไหน?
………….
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo