ธปท.ยันระบบการเงินไทยแกร่ง แม้คุณภาพหนี้ด้อยลง แต่ยังเผชิญความเสี่ยงจาก 4 ปัจจัย ภายใน-ภายนอกประเทศ ทั้งนโยบายภาษีของประเทศต่าง ๆ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา -หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง
รายงานข่าวแจ้งว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย 2567 โดยผู้บริหารธปท.ระบุว่า ที่ผ่านมา ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถสนับสนุนกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และ สหกรณ์ออมทรัพย์ (สอ.)
โดยรวมยังมีฐานะการเงินเข้มแข็งแม้คุณภาพหนี้ด้อยลง นอกจากนี้ ระดับหนี้ ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปรับลดลงต่อเนื่อง สะท้อนถึง การลดหนี้ที่จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและภาคการเงินที่อาจได้รับผลกระทบจาก ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและนอกประเทศ อาทิ นโยบายการค้าและนโยบายภาษีของประเทศต่าง ๆ ปัญหา เชิงโครงสร้างของบางภาคธุรกิจ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้าใน 4 ประเด็นหลักคือ
1.ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เปราะบาง และอ่อนไหวต่อทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ จากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงบางภาคธุรกิจที่ยังฟื้นตัวช้า มีปัญหาเชิงโครงสร้างและ เผชิญกับการแข่งขันจากจีนขณะที่ความเชื่อมั่นที่เปราะบางของนักลงทุนอาจนําไปสู่การขายสินทรัพย์ ที่ทําให้ราคาปรับลดลง กระทบต่อฐานะของนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายย่อย รวมถึงทําให้ต้นทุน การกู้ยืมผ่านตลาดทุนและความเสี่ยงในการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่ครบกําหนดอายุ ปรับเพิ่มขึ้น โดยหากมีเหตุการณ์ที่นําไปสู่การปรับตัวลงอย่างมากของราคาสินทรัพย์ใน ต่างประเทศ จะยิ่งกระทบความเชื่อมั่นและอาจนําไปสู่การเทขาย สินทรัพย์จากความตื่นตระหนกจะส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินมาก
2.ภาวะการเงินที่อาจตึงตัวมากขึ้นและส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจและครัวเรือน รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจระยะต่อไป โดยปี 2567 ภาวะการเงินมีความตึงตัวขึ้นสะท้อนจากสินเชื่อที่ขยายตัวระดับต่ำ และการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่หดตัว
โดยมีสาเหตุจากความต้องการสินเชื่อลดลง การชําระคืนหนี้ และความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้ยืมบางกลุ่มสูงขึ้นทําให้สถาบันการเงินระวังให้สินเชื่อแก่ผู้กู้กลุ่มนี้ โดยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านําเข้าของสหรัฐจะเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมต่อการลงทุน การค้าและการแข่งขันกับสินค้าจีนที่เข้ามาในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่ส่งออกไปสหรัฐในสัดส่วนสูงและหาตลาดทดแทนได้ยาก
รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีปัญหาด้านการเข้าถึง สินเชื่อและความสามารถในการแข่งขันอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการจ้างงานของธุรกิจเหล่านี้ และรายได้ครัวเรือน ทําให้ความสามารถในการชําระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนลดลง
ขณะที่สถาบันการเงินและนักลงทุนมีความระมัดระวังในการให้กู้แก่ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น อีกทั้งสภาพคล่องที่ลดลงของธุรกิจและ ครัวเรือนจะเป็นปัจจัยกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมในระยะข้างหน้าได้
3.บริษัทขนาดใหญ่บางรายก่อหนี้ระดับสูง (HLLCs) และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น แม้บริษัทขนาดใหญ่โดยรวมจะมีฐานะการเงินดี ซึ่งระดับหนี้ที่สูงโดยเปรียบเทียบของ HLLCs เกิดจากสถาบันการเงินและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการชําระหนี้ของ HLLCs ที่ส่วนใหญ่มีผลการดําเนินงานดี จึงยังไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพในระยะสั้น
อย่างไรก็ตามระดับหนี้ที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นการสะสมความเปราะบางทําให้ความสามารถรองรับความเสี่ยงของบริษัทลดลง โดยเฉพาะ HLLCs ที่มีระดับหนี้สูง มีรายได้และความสามารถ ในการชําระหนี้ที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากจากนโยบายการค้าประเทศต่าง ๆ อาจกระทบฐานะการเงินและการชําระหนี้ของ HLLCs บางรายแก่เจ้าหนี้ที่มีทั้งสถาบันการเงินและผู้ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีทั้งนักลงทุนสถาบันและ บุคคลธรรมดา และอาจกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้ฝากเงิน
4.ฐานะการเงินของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์บางรายที่ได้รับผลกระทบเพิ่มจากแผ่นดินไหวล่าสุดหลังจากภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวต่อเนื่องและฟื้นตัวช้าจากปี 2567 และจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และอุปสงค์อาคารชุดระยะสั้นทําให้ developer บางรายที่เน้นพัฒนาอาคารชุดเป็นหลักอาจเผชิญความเสี่ยงด้านชื่อเสียงและการระบายอุปทานคงค้าง
รวมทั้งในที่สุดจะกระทบธุรกิจระยะยาว โดย developer บางรายที่มีฐานะการเงินอ่อนแออยู่แล้วช่วงก่อนหน้าอาจมีความสามารถชําระหนี้ลดลง และกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงินที่เปราะบางอยู่แล้ว ทําให้ความเสี่ยง ในระบบการเงินปรับเพิ่มขึ้นได้
“ทริสเรทติ้ง” ลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จาก 2.8% เป็น 1.8% เพื่อสะท้อนผลกระทบจากภาษีนำเข้าของสหรัฐ โดยภาษีนำเข้าของสหรัฐจะกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยผ่านดุลการค้าที่ลดลง เพราะสหรัฐเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดของไทย ขณะที่การนำเข้าสินค้าของไทยยังขยายตัวจากการที่ประเทศคู่ค้าของสหรัฐรายอื่นหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนการส่งออกไปสหรัฐ
สำหรับผลกระทบทางอ้อม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้มีแนวโน้มลดลงจาก 38.2 ล้านคนเป็น 36.0 ล้านคน จากตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ฟื้นตัวช้าตามเศรษฐกิจจีนที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มจากภาษีนำเข้าของสหรัฐ นอกจากนี้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ยังมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว