“มนพร” เตรียมเสนอร่าง พรบ.รถไฟฟ้าฯ เข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญในวันที่ 28-30 พ.ค.นี้ หวังนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายให้ทันเป้าหมายภายในเดือน ก.ย.นี้
นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยความคืบหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างเตรียมรายละเอียดเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งจะเป็นฉบับปรับปรุงให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยจะนำร่าง พรบ.การรถไฟฟ้าฯ เข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญในวันที่ 28-30 พ.ค.นี้
ทั้งนี้รัฐบาลได้ประสานเพื่อขอเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 และ พรบ.เร่งด่วนอีก 3 ฉบับที่เกี่ยวกับกระทรวงคมนาคม ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็น พรบ.การรถไฟฟ้าฯ เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนพิเศษ เพื่อดำเนินการตามนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายให้ทันเป้าหมายภายในเดือน ก.ย.นี้
โดยร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นับเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพราะจะต้องเข้ามากำหนดเกี่ยวกับเงินกองทุนที่ชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารให้กับเอกชน นอกจากนี้ยังมี พรบ.ที่เกี่ยวเนื่องอีก 2 ฉบับ คือ พรบ.กรมการขนส่งทางราง และ พรบ.ตั๋วร่วม
ซึ่งตามแผนหากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายแล้วเสร็จจะดำเนินการรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ เพื่อปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยคาดว่าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะบรรจุเข้าวาระการประชุม ครม.ภายในวันที่ 11-13 พ.ค.นี้
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมายได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ครั้งที่ 1 โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไป,หน่วยงานของรัฐ,ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นตั้งแต่วันนี้ถึง 2 พ.ค.2568 ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว
โดยปัจจุบันพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางมาตราไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อความคล่องตัวในการดำเนินงานของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากิจการรถไฟฟ้า ซึ่งจากการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ปรากฏว่ากฎหมายฉบับนี้สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานและเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง
สำหรับประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายหรือกฎหมายที่นำมารับฟังความคิดเห็นนั้นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันลดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน และสามารถส่งเสริมและสนับสนุกนการดำเนินงานตามภารกิจของ รฟม. และตามนโยบายรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญในการปรับปรุงแก้ไข เช่น
– การปรับปรุงมาตรา 7 วัตถุประสงค์ของ รฟม. ให้สามารถจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินของ รฟม. ส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการรถไฟฟ้ามีความต่อเนื่องกับผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะอื่น และให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสามารถใช้ตั๋วร่วมกับผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะอื่น
– การปรับปรุงมาตรา 9 อำนาจกระทำกิจการภายในขอบวัตถุประสงค์ของ รฟม. เพิ่มเติมข้อความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และให้ รฟม. สามารถจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินและดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยตั๋วร่วม
– การปรับปรุงมาตรา 65 กำหนดเพิ่มรายการที่สามารถหักจากรายได้ของ รฟม. ก่อนนำส่งคลัง ให้รวมถึงค่าภาระต่างๆ เงินสำรอง เงินสมทบกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น เงินลงทุน รวมทั้งเงินเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้การให้บริการรถไฟฟ้ามีความต่อเนื่องกับบริการขนส่งสาธารณะอื่นและการใช้ตั๋วร่วม