วันพุธ, เมษายน 30, 2025
หน้าแรกHighlight“สปสช.”ยันไม่เอื้อประโยชน์บริษัทเอกชน ตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม-พร้อมชี้แจง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“สปสช.”ยันไม่เอื้อประโยชน์บริษัทเอกชน ตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม-พร้อมชี้แจง

สปสช. ยันไม่เอื้อประโยชน์ บริษัทตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม หลังสส.ประชาชน จับตาพิรุธกรมวิทย์ฯ-สปสช. เร่งรัด แถมล็อกสเปก แจงอยู่ระหว่างจัดทำประกาศเปิดกว้างหน่วยตรวจที่ได้มาตรฐาน จัดเครือข่ายการตรวจครบทุกกระบวนการไม่ใช่ทำครึ่งๆ กลางๆ พร้อมเข้าชี้แจง กมธ.สธ.

จากกรณี น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.พรรคประชาชน แถลงข่าวตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดสิทธิประโยชน์ตรวจหาความเสี่ยงของกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมในทารก (Non-Invasive Prenatal Testing: NIPT) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับจัดซื้อจัดจ้างภายใต้งบประมาณ 500-600 ล้านบาท หรือราวๆ 1,700 บาทต่อคน มีการกำหนดคุณสมบัติในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างว่าขั้นตอนในการจำลองตัวเองของ DBA ต้องดำเนินการภายในตัวเครื่อง

จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าคุณสมบัติเฉพาะ ที่กรมวิทย์ฯ กำหนดไว้ มีเพียงบริษัทเดียวในตลาดที่ตอบโจทย์ โดยผลการประมูลมีผู้เข้าร่วม 2 ราย รายที่ชนะเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเพียง 100,000 บาท และต่อมาทางสปสช.ได้ปรับค่าหัวในการตรวจดังกล่าวเพิ่มเป็น 2,700 บาท ครอบคลุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่เจาะเลือด ขนส่ง วิเคราะห์ผลไปจนถึงรายงานผล แต่เห็นว่า เป็นราคาที่ต่ำมาก จึงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณภาพ จนต้องมีการรับฟังความเห็นและยังไม่มีการสรุป แต่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กลับระบุว่า ผ่านปี 2568 มาครึ่งปีแล้วเพื่อไม่ให้เสียโอกาสควรเริ่มเลยดีว่า ซึ่งตนมองว่า เหตุใดต้องเร่งรีบ จึงขอตั้งข้อสงสัยต่อกรมวิทย์ฯ และสปสช. ในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้ ในฐานะ สส.พรรคประชาชน และรองประธานคณะกมธ.การสาธารณสุข คนที่หนึ่ง จะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในการประชุมกมธ.ครั้งถัดไป และจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ล่าสุดวันที่ 29 เม.ย. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า สิทธิประโยชน์ดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการเขียนร่างประกาศใช้ จริงๆ สิทธิประโยชน์ดังกล่าวผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เรียบร้อยแล้ว เดิมอนุมัติเป็นสิทธิประโยชน์ มีอัตราการจ่ายเท่านั้น เท่านี้ แล้วไปหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดระบบบริการ และกำลังเขียนร่างประกาศ ระหว่างนี้ก็เอาร่างประกาศดังกล่าวขึ้นไปบนเว็บไซต์ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูว่าจะปรับตรงไหน เพิ่มตรงไหน ปรากฏว่ามีความเห็นกลับเข้ามาเยอะ หนึ่งเลยเรามีเป้าหมาย 2 แสนราย ในจำนวนนี้ปรากฏว่ามีหลายหน่วยงานที่สามารถดำเนินการได้ ทั้งมหาวิทยาลัยแพทย์ สถานพยาบาลเอกชนก็ทำได้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ทำได้

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ดังนั้น ทางสปสช.จึงมองว่า ถ้าเช่นนั้นก็ควรเปิดรับฟังอย่างรอบด้าน จึงเชิญมหาวิทยาลัยต่างๆ เอกชน สภาเทคนิคการแพทย์ รวมทั้งกรมวิทย์ฯ มาประชุมเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และได้ความเห็นที่หลากหลายว่า ในส่วนของมาตรฐานนั้นควรยึดตามที่กรมวิทย์ฯ กำหนด หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเคียง ซึ่งเป็นความเห็นคณะแพทย์ รามาฯ ซึ่งมีศูนยืจีโนมิกส์ อยู่ และสภาเทคนิคการแพทย์ ตอนนี้จึงอยู่ระหว่างการเอาความเห็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มารวมกัน เพื่อจะคุยกันในสปสช.ว่าเราจะปรับร่างประกาศอย่างไร เพื่อ 1. ไม่เป็นการปิดกั้นให้เพียงหน่วยเดียว แต่เปิดให้หน่วยอื่นที่มีศักยภาพ มีคุณภาพเข้ามาได้ 2. พอเข้ามาได้ก็จะจัดเครือข่ายของการตรวจดังกล่าวต้องทำให้ครบ ไม่ใช่ทำครึ่งๆ กลาง

“เรื่องนี้ได้มีการหารือกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ระหว่างที่เดินทางไปโอซากา ประเทศญี่ปุ่นด้วยกันมา ซึ่งนายสมศักดิ์ ย้ำว่าเรื่องนี้ต้องมีการเปิดกว้าง ก็ไปดูมาตรฐานทั้งมาตรฐานหลัก มาตรฐานเทียบเคียง หากเขาได้มาตรฐานก็ต้องเปิดโอกาสให้ทุกๆ หน่วยเข้ามา ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทางพรรคประชาชนเอาไปพูด หรือมหาวิทยาลัย หรือใครที่แนะนำมา เรารับฟังหมด ไม่ได้ปิดกั้นใครเลย” ทพ.อรรถพร กล่าว

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับค่าตรวจ 2,700 บาท รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จริงๆ การตรวจดังกล่าวเป็นมาตรฐานที่มีราคาแพง หลักหลายพันบาท ส่วน 2,700 บาท รวมทุกอย่าง ถือว่าเป็นราคาที่ต่ำเกินไป แต่ยืนยันว่าเราไม่ได้เอื้อใคร

เมื่อถามว่า กรรมาธิการสาธารณสุขจะเชิญสปสช. เข้าไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ตนอาจจะเป็นคนเข้าไปให้ข้อมูลเอง ซึ่งพร้อมที่จะชี้แจงอยู่แล้ว เราชี้แจงได้หมด ไม่มีปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า สิทธิประโยชน์ดังกล่าวอนุมัติใช้ปี 2568 แต่ตอนนี้ผ่านมาหลายเดือนแล้วจะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ตามหลักการออกสิทธิประโยชน์ของสปสช.นั้น เดิมพอบอร์ดสปสช.อนุมัติ เราก็ออกข่าวเลย ทำให้ประชาชนคาดหวังว่าจะเริ่มได้เลย แต่จริงๆ กระบวนการเกิดสิทธิจะพร้อมได้เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก่อนประกาศก็จะมีการเชิญหน่วยบริการต่างๆ มาซักซ้อมทำความเข้าใจกันให้เรียบร้อย แต่บังเอิญเรื่องนี้เป็นข่าวเร็วๆไป เลยยุ่ง แต่ตอนนี้เราปรับใหม่แล้วว่าจะทำให้เสร็จหมดแล้วค่อยออกข่าว จริงๆ มันต้องการการเตรียมระบบพอสมควร ยืนยันว่าไม่มีการเอื้อประโยชน์ใคร

“ที่มีกระแสว่ามีบริษัทหนึ่งแห่ง สองแห่งอะไรนั้นยืนยันว่าเราไม่เกี่ยวเลย” รองเลขธิการสปสช.กล่าว.

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img