วันพุธ, เมษายน 30, 2025
หน้าแรกHighlightมูดี้ส์หั่นแนวโน้มเครดิตเรตติ้งไทยเป็นลบ กระทบเงินบาทเช้านี้พลิกอ่อนค่าเล็กน้อย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

มูดี้ส์หั่นแนวโน้มเครดิตเรตติ้งไทยเป็นลบ กระทบเงินบาทเช้านี้พลิกอ่อนค่าเล็กน้อย

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” หลังมูดี้ส์ ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตไทย เป็น Negative จาก Stable โดยยังคงอันดับความน่าเชื่อถือไว้ที่ระดับ Baa1

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.39 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) อ่อนค่าลงเล็กน้อยในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 33.36-33.48 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะทยอยอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการรีบาวด์ขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความหวังว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น ส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ทยอยกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี การรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) เดือนเมษายน ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 86 จุด แย่กว่าที่ตลาดคาดพอสมควร ส่วนยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) เดือนมีนาคม ก็ปรับตัวลดลงสู่ระดับราว 7.2 ล้านตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดคาด นอกจากนี้ เงินบาทอาจถูกกดดันเพิ่มเติมหลัง Moody’s ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตไทย เป็น Negative (เชิงลบ) จาก Stable (เสถียรภาพ) โดยยังคงอันดับความน่าเชื่อถือไว้ที่ระดับ Baa1

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.58%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.36% หนุนโดยรายงานผลประกอบการที่สดใสของธนาคารใหญ่ อย่าง Deutsche Bank +5.0% และ HSBC +2.6% นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินยุโรปโดยรวมก็พอได้แรงหนุนจากความหวังว่านโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ อาจทยอยผ่อนคลายลงได้บ้าง หลังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้าต่างๆ

ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดการเงินสหรัฐฯ โดยรวมจะอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด ก็ยังคงทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า เฟดมีโอกาส 88% ที่จะลดดอกเบี้ยถึง 4 ครั้ง ในปีนี้ กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.17% อนึ่ง เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจคาดหวังแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดมากเกินไป (เราประเมินว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้) จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนัก ทำให้ แม้เราจะมองว่า บอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ นั้นมีความน่าสนใจอยู่ ในแง่ของ Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ทว่า การปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงนี้ ทำให้ Risk-Reward อาจไม่น่าดึงดูดมากนัก ดังนั้น เราจึงคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เท่านั้น

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้นพบว่า เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แม้จะเผชิญแรงกดดันบ้าง จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ทว่า เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ท่ามกลางความหวังว่าการเจรจาการค้าอาจมีความคืบหน้ามากขึ้น ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 99.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.0-99.4 จุด)

ส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า การปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงแรงซื้อ Buy on Dip ทองคำ จะช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) ทยอยรีบาวด์สูงขึ้นบ้าง ทว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ก็จำกัดการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ทำให้ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถวโซน 3,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทั้งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2025 (คาดการณ์ครั้งแรก) ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ในเดือนเมษายน ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึงยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ และอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนมีนาคม ที่เฟดติดตามใกล้ชิดในการประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อ

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสแรก เช่นกัน

ทางฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) เดือนเมษายน ซึ่งจะเป็นเดือนที่เริ่มเผชิญแรงกดดันจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ

ขณะที่ไทย ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 14.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยเราประเมินว่า แรงกดดันต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยรอบด้าน อาจทำให้ กนง. ตัดสินใจเดินหน้าลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 1.75% ได้ สอดคล้องกับการปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยลงจากการประเมินครั้งก่อน

นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ สหรัฐฯ อย่าง Microsoft และ Meta ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ไปก่อนได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น ผลการประชุม กนง. ในช่วงบ่าย โดยเงินบาทอาจยังติดโซนแนวต้านแถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงดังกล่าว นอกจากนี้ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ก็อาจลดความน่าสนใจของการถือครองทองคำ ทำให้ราคาทองคำเสี่ยงมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง (ไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องชัดเจน) ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทได้

นอกจากนี้ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยหลัง Moody’s ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของไทยเป็น Negative ก็อาจเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทได้บ้าง แต่เราเชื่อว่า บรรดานักลงทุนต่างชาติ อาจรอปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ไทยที่ชัดเจนอีกครั้ง หลังรับรู้ผลการประชุม กนง.

ทั้งนี้ในช่วงเช้า ก่อนรับรู้ผลการประชุม กนง. นั้น ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดรับรู้รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของเงินหยวนจีนได้ โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทก็เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินหยวนจีนราว 80% (1-month Correlation)

สำหรับผลการประชุม กนง. นั้น แม้ว่าบรรดาผู้เล่นในตลาดและบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (รวมถึงเรา) ต่างคาดหวังว่า กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยลง 25bps สู่ระดับ 1.75% แต่เราก็ยอมรับว่า กนง. อาจเลือกที่จะรอประเมินแนวโน้มการเจรจาการค้าไปก่อน และใช้มาตรการอื่นๆ ในการช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น โครงการคุณสู้เราช่วย พร้อมประสานแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อเก็บกระสุนนโยบายการเงิน (Policy Space) ไว้ใช้ในยามจำเป็น หากสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าไทย หรือสินค้าทั่วโลก หลักครบกำหนด 90 วัน พักการขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs)

โดยในกรณีที่ กนง. เลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิมที่ระดับ 2.00% อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยลดสถานะถือครองบอนด์ได้บ้าง ซึ่งแรงขายบอนด์ดังกล่าวก็อาจกดดันเงินบาทได้ ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทจะมากน้อยเพียงใด จะขึ้นกับมุมมองของ กนง. ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในการถือครองหุ้นไทยด้วยเช่นกัน

โดยรวมเรายังคงมองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจถูกจำกัดแถวโซนแนวต้าน 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ (โซนถัดไปจะอยู่แถว 33.80 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่โซนแนวรับยังคงอยู่แถว 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์)

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.65 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img