วันพุธ, เมษายน 30, 2025
หน้าแรกNEWS”กมธ.ป.ป.ช.“ ถกผู้ว่าสตง. 4 ชม.กว่า เผย “ผู้ว่าสตง.”แจงแล้วสบายใจ ด้าน “ธีรัจชัย” ถาม ”ผิดพลาดโดยสุจริต ถูกต้องโดยทุจริตหรือไม่“
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

”กมธ.ป.ป.ช.“ ถกผู้ว่าสตง. 4 ชม.กว่า เผย “ผู้ว่าสตง.”แจงแล้วสบายใจ ด้าน “ธีรัจชัย” ถาม ”ผิดพลาดโดยสุจริต ถูกต้องโดยทุจริตหรือไม่“

”กมธ.ป.ป.ช.“ ถกผู้ว่าสตง. 4 ชม.กว่า เผย “ผู้ว่าสตง.”แจงแล้วสบายใจ ด้าน “ธีรัจชัย” ซักปม“ออกแบบ-จัดซื้อฯ-คุมงาน”ทำไมใช้ระบบเลือกแทนประมูล ใช้ชื่อบริษัทคนไทยรับซองงานแทน  มอง ”คกก.ตรวจสอบก่อสร้าง สตง.“ อาจพลาดไม่คุมงานให้ดี ถาม ”ผิดพลาดโดยสุจริต ถูกต้องโดยทุจริตหรือไม่“

วันที่ 30 เม.ย.2568 เวลา 14.00 น.ที่รัฐสภา นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม.พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานกมธ.ฯ แถลงผลการประชุมหลังเชิญนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าชี้แจงอาคารสตง.ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งใช้เวลาประชุมนานกว่า 4 ชั่วโมง

โดยนายฉลาด กล่าวว่า ทางกมธ.ฯ ได้เชิญผู้ว่าสตง. พร้อมคณะทั้งหมด 19 คน ซึ่งได้มีการสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในข้อคลางแคลงใจของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ เช่น ประเด็นที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับตัวบุคคลที่มีการเซ็นรับรองแบบ และคนที่เซ็นรับรองแต่ไม่ใช่ผู้ควบคุมงาน และมีตัวละครที่ให้การไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในเอกสารที่มีอยู่ โดยเฉพาะผู้ควบคุมงาน อย่างนายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานอนุกรรมการคลินิกช่าง ภายใต้สภาวิศวกร และวุฒิสมาชิก สาขาวิศกรรมสิ่งแวดล้อม ที่บอกว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมงานในฐานะผู้รับจ้างจาก สตง. 

“ทาง สตง.มีข้อเท็จจริงว่า ท่านเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่มารับจ้าง ในฐานะบริษัทร่วมค้า PKW ท่านต้องเป็นวิศวกรภาคี เป็นผู้อาวุโส ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทางตำรวจได้สอบสวน และทางกมธ.ฯเกิดความสงสัย เมื่อผู้ว่า สตง.มาวันนี้มาด้วยความสบายใจ ” นายฉลาดกล่าว

ด้านนายธีรัจชัย กล่าวว่า วันนี้เป็นการเข้าชี้แจงของผู้ว่าสตง.ครั้งแรก และได้รับคำตอบอย่างชัดเจน สำหรับการก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. แห่งใหม่นี้ กมธ.ฯได้มุ่งเป้าในการติดตามเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น คือการออกแบบ การจัดซื้อจัดจ้าง การควบคุมงาน สำหรับการออกแบบ กมธ.ฯ ถามว่าทำไม สตง.ใช้การเลือกแบบเฉพาะ แทนที่จะประมูลแบบก่อสร้างตามมาตรา 83 ของ พ.ร.บ.ประกวดแบบจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งผู้ว่าสตง. ระบุว่าเป็นตึกที่มีความซับซ้อน และมีประกาศของกฎกระทรวงรองรับไว้ ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้าง กมธ.ฯตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้ระยะเวลาที่สั้นเพียงแค่  1 เดือน ในการเลือกแบบก่อสร้าง

นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า การจัดซื้อจัดจ้างยังใช้ระบบ E-bidding หรือการประมูลงานทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ลดราคาไป 300 ล้านบาทในปี 2563 แต่ในปี 2562 ธนาคารโลกได้สั่งแบรนด์บริษัทแม่ที่รับเหมาก่อสร้างตึกนี้ รวมถึงสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น สะพานในประเทศชิลี แล้วเกิดเหตุถล่ม ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นข่าวที่แพร่ออกไปทั่วโลก แต่ทำไมยังใช้บริษัทนี้รับเหมาก่อสร้าง อีกทั้งยังมีการจดทะเบียนในประเทศไทยเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น รวมไปถึงการซื้อซองประมูลโครงการก่อน แต่ภายหลังไม่ทราบว่าเป็นเหตุผลอะไร ตนไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องของผลงานหรือไม่ จนต้องไปใช้ชื่อบริษัทในประเทศไทยที่มีผลงานมารับซองต่อ เพราะตอนนี้ยังตั้งคำถาม ถึงหน้าที่รับผิดชอบการก่อสร้างหลักว่าเป็นของไทยหรือจีน ซึ่งจากข่าวที่ปรากฏนั้นตนเห็นว่าเป็นความรับผิดชอบของบริษัทจีนส่วนใหญ่ แม้ว่าไทยจะถือหุ้น  51% และจีน 49%

นายธีรัจชัย กล่าวว่า ขณะที่ส่วนของการควบคุมงานใช้ระบบในการคัดเลือก ไม่ใช่ E-bidding ซึ่งตนนำความคิดเห็นของนักวิชาการออกมาเสนอในที่ประชุมว่า หากมีการฮั้วของบริษัทออกแบบบริษัทควบคุมงานและบริษัทก่อสร้าง ก็อาจจะมีการแก้ไขแบบโดยนัดแนะกันก่อน จากการสอบถาม เปิดเผยว่ามีการแก้ไขแบบถึง 9 ครั้ง ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขแบบก่อสร้างดังกล่าว ถือเป็นการลดต้นทุนจริงหรือไม่ จะมีผลกระทบอะไรที่ตามมาบ้าง ผู้ที่แก้ไขมีการสอบถามคณะกรรมการควบคุมงานของ สตง. หรือไม่ รวมถึงการควบคุมงานของวิศวกร ที่มีข่าวออกมาว่าถูกปลอมลายเซ็นออกมานั้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องได้รับการตรวจสอบ

นายธีรัจชัย ตั้งข้อสังเกตว่าการตรวจสอบวัสดุในการก่อสร้างของคณะกรรมการควบคุมการก่อสร้างจาก สตง. ว่า ถ้ามีการฮั้วจริง สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่ถ้าไม่เกิดก็ไม่เป็นอะไร  ตนก็มองว่าถ้าเป็นลักษณะนี้ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การควบคุมงาน การออกแบบ อาจจะยังไม่ละเอียดพอ ซึ่งทั้งหมดที่ตนได้รับการชี้แจงครั้งนี้ อยากจะตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เป็นการบกพร่องผิดพลาดโดยสุจริตหรือไม่ หรือถูกต้องโดยทุจริตหรือไม่ และการตรวจสอบจะโยงไปถึงเจ้าหน้าที่ของ สตง. และการก่อสร้างทุกขั้นตอน ตนอยากให้สำนักงานคณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าไปตรวจสอบภายในเพิ่มเติม เพราะ สตง.ไม่ใช่หน่วยงานรัฐทั่วไป จะใช้ระเบียบทั่วไปไม่ได้

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img