วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 8, 2025
หน้าแรกEXCLUSIVEเปิดบันทึกสว.จวกยับตัวแทน“ยธ.-DSI” ปล่อยข่าว“อั้งยี่ซ่องโจร”ทำลายล้างสว.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปิดบันทึกสว.จวกยับตัวแทน“ยธ.-DSI” ปล่อยข่าว“อั้งยี่ซ่องโจร”ทำลายล้างสว.

จากการตรวจสอบในการประชุม คณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา มีการเชิญ ตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรม เข้าให้ข้อมูลหลังการให้สัมภาษณ์ของ “ดีเอสไอ” ทำให้เข้าใจว่า “สว.มีการกระทำอั้งยี่ ซ่องโจร เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” เรียกว่า ดุเดือดเลือดพล่านในสภาเลยทีเดียว

พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การที่เชิญผู้ชี้แจงมาในวันนี้ เนื่องจากมีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่า การได้มาของสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ มีคนบางกลุ่มกระทำการในลักษณะ “อั้งยี่ ช่องโจร” และ “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” ดังนั้นคณะกรรมาธิการ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับกิจการทางการทหารทั้งปวง และที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแบบองค์รวม และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงได้เชิญผู้แทนกระทรวงยุติธรรมมาชี้แจงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

โดยปัจจุบันประเด็นดังกล่าวไม่ได้การดำเนินการต่อไป แต่เปลี่ยนเป็นประเด็น “การฟอกเงิน” ไปแล้ว เห็นว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นกับสมาชิกวุฒิสภาแล้ว จึงยังต้องการรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับที่มา ประเด็นการกระทำในลักษณะ “อั้งยี่ ช่องโจร” และ “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ”

พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา

“สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจง กมธ. ว่า ข้อกล่าวหาการกระทำที่มีลักษณะเป็นอั้งยี่ ช่องโจร และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ มี “ที่มา” ดังนี้

ตั้งแต่วันที่ 9, วันที่ 15 และวันที่ 17กรกฎาคม 2567 มีคนมายื่นคำร้องต่อ “ดีเอสไอ-DSI” กล่าวหาว่า การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้มีการดำเนินคดี 3 คำร้อง

หลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคำร้อง ขั้นตอนแรกเป็นการรับสืบสวน คือการรับเรื่อง แล้วทำการสืบสวนเพื่อจะชี้ว่ามีมูลหรือไม่มีมูล หลังจากนั้นก็มีการยื่นคำร้องมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพิ่มอีกเป็นระยะๆ จึงนำไปรวมกับ 3 คำร้องเบื้องต้นดังกล่าว

ประเด็นเรื่องความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 จะต้องดำเนินการต่างจากคดีทั่วไป กล่าวคือ

ตามมาตรา 49 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ เมื่อความปรากฏต่อ กกต.ว่าหน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวน ได้รับเรื่องว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองไว้พิจารณา

ถ้า กกต.เห็นเป็นการสมควรที่ กกต.จะดำเนินการเองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ กกต. มีหนังสือแจ้งหน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวน โอนเรื่องหรือส่งสำนวนการสอบสวนให้ ภายใน 7 วัน

และ ตามมาตรา 4 บัญญัติสรุปได้ว่า “กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง” หมายความว่า “กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และให้หมายความรวมถึงกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติด้วย”

ดังนั้น ถ้าคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองตามความหมายของกฎหมายทั้ง 6 ฉบับดังกล่าวนั้น ถ้า กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่าจะดำเนินการเอง และมีหนังสือแจ้งหน่วยงานและพนักงานสอบสวนแล้ว จะต้องโอนคดีหรือส่งสำนวนให้ภายใน 7 วัน

วันที่ 25 กันยายน 2567 “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” ได้มีหนังสือแจ้งถึง “เลขาธิการ กกต.” สรุปได้ว่า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.ป.กกต.2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงแจ้งการรับเรื่องสอบสวนมายังท่าน

เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง “ดีเอสไอ” กับ “กกต.” และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงแจ้งว่าได้รับเรื่องไว้แล้วตามมาตรา 49 เพื่อให้ กกต.แจ้งว่า จะดำเนินการเองหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ดีเอสไอก็จะโอนคดีและส่งสำนวนให้ตามกฎหมาย แต่ถ้า กกต.ไม่ประสงค์จะดำเนินการ ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษก็จะต้องเป็นผู้ดำเนินการต่อไป โดยมีลำดับการดำเนินงาน ดังนี้

26 มกราคม 2568 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับหนังสือจาก กกต. เพื่อขอทราบความคืบหน้า

3 กุมภาพันธ์ 2568 กรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งความคืบหน้ากลับไปยัง กกต.

18 กุมภาพันธ์ 2568 กกต. มีหนังสือตอบกลับมาว่า ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงชัดเจน ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องไว้พิจารณาสอบสวนแล้วหรือไม่ จึงยังไม่ได้เสนอเรืองให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณาตามมาตรา 49

25 กุมภาพันธ์ 2568 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการประชุมหารือ ก็เห็นว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเรื่องไว้สืบสวนแล้ว เพียงแต่ยังไม่ใช่การสอบสวน เนื่องจากในกระบวนการดำเนินการนั้นการรับเรื่องมาแล้วนั้น ในขั้นแรกก็จะเป็นการสืบสวนหาข้อมูลข้อเท็จจริงในเบื้องต้นก่อน ว่ามีมูลหรือไม่ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วขั้นตอนต่อไป กรมสอบสวนคดีพิเศษก็จะพิจารณาว่า ควรจะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาสอบสวนเป็นคดีพิเศษหรือไม่

27 กุมภาพันธ์ 2568 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีหนังสือเชิญ ผู้แทน กกต. มาร่วมประชุม

4 มีนาคม 2568 กกต. มีหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในข้อ 2 ของหนังสือดังกล่าว แจ้งว่า “ส่วนเรื่องการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองตามที่บัญญัติในมาตรา 228 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 41 และ 42 ของ พ.ร.ป.กกต.2560 ทาง กกต. ได้ดำเนินการต่อเนื่องอยู่แล้ว” แต่ไม่ได้กล่าวถึงว่าจะให้โอนและส่งสำนวนไปให้หรือไม่

ส่วนอีกวรรคหนึ่ง กล่าวว่า “ส่วนหน่วยงานอื่นของรัฐจะมีอำนาจ ในการสืบสวนสอบสวนคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือคดีเกี่ยวเนื่องตามกฎหมายอื่นหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานตามที่กฎหมายกำหนด”

วรรคนี้สำคัญ ตรงนี้จะต้องมีการตีความให้ชัดเจน เพราะคดีเกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ถ้า กกต.รับดำเนินการเอง ต้องแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และให้โอนสำนวนและส่งสำนวนคดีไปไปให้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่หน่วยงานนั้นได้รับคำตอบ ถ้าไม่แจ้ง หน่วยงานนั้นก็ต้องดำเนินการต่อไป ส่วนคดีจะเกี่ยวกับเนื่องกับกฎหมายอื่นหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้

“สมบูรณ์” บอกด้วยกว่า หากย้อนกลับไป มาตรา 49 ของ พ.ร.ป.กกต. 60 กำหนดว่า กกต. มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมาย 5 ฉบับ ตามนิยามในมาตรา 4 ในลักษณะนี้ เรียกว่า “กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท”

ความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ก็อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กกต. การกระทำดังกล่าวข้างต้นก็อาจจะผิดกฎหมายอาญาด้วย ตัวอย่างเช่น การกระทำในลักษณะอั้งยี่ ก็จะผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 229 เป็นต้น

ด้าน “น.ต.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ” ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ แสดงความคิดเห็นว่า “ท่านทำหน้าที่ของท่าน เราก็ทำหน้าที่ของเรา” ขณะนี้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเผยแพร่ออกมาจำนวนมาก มีรายชื่อบุคคคลที่เกี่ยวข้อง 7 พันกว่ารายชื่อ มีรายชื่อผมด้วย ไม่รู้ว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลเท็จข้อมูลใดเป็นข้อมูลจริง และออกมาจากไหนก็ไม่รู้ แต่ก็เชื่อว่า ดีเอสไอจะสามารถตามจับคนที่ทำได้ เพราะหลายคนได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว รวมทั้งกระทรวงยุติธรรมด้วย

ข้อเท็จจริงคือ เราก็เข้ามาตามระบบปกติ ไม่มีการทุจริตหรือทำผิดกฎหมาย จึงเห็นว่าสถานการณ์ที่ผ่านมาเหมือนการ “เหวี่ยงแห” โดนกันถ้วนหน้า ในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ควรจะเน้นคนที่มีหลักฐานชัดเจนและเชื่อได้ว่าน่าจะกระทำตามที่ปรากฏตามสื่อ

ขณะที่ “พล.อ.สวัสดิ์” ประธานคณะกรรมาธิการ ระบุว่า ในกรณีที่จะมีการกล่าวหาว่าสมาชิกวุฒิสภาบางคนกระทำการเป็นอั้งยี่ ช่องโจร กระทำการเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ มีการออกสื่อกระจายไปทั่ว อาจจะกระจายออกไปทั่วโลกด้วยซ้ำไป ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงคือ รับเป็นคดีฟอกเงิน ส่วนเรื่องการกระทำเป็นอั้งยี่ ช่องโจร และการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติไม่มีแล้ว กลับไม่มีการออกข่าวแก้ไขให้ ตรงนี้เห็นว่าไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว

ด้าน “พล.อ.ดิเรก ดีประเสริฐ” ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ระบุว่า ตรงนี้ฝากไว้ขอให้ระมัดระวังเรืองการสื่อสารสาธารณะ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง และเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ขณะที่ “ธนัทเมศร์ ถิรพงศ์ธรากรณ์” ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สอบถามแนวทางปัจจุบัน ดีเอสไอมุ่งเน้นไปที่การฟอกเงินใช่หรือไม่

ซึ่ง “สมบูรณ์” ชี้แจงว่า การฟอกเงินนั้น สามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ตาม พ.ร.บ.คดีพิเศษ 2547 มาตรา 21 เพราะความผิดฐานฟอกเงินอยู่ในมาตรา 21 (1) โดยต้องมีคดีมูลฐานที่สามารถเป็นคดีฟอกเงินได้

สำหรับคดีมูลฐานอยู่ในกฎหมายหลายฉบับฉบับ ดังนั้น ถ้าส่วนของ “การฟอกเงิน” ครบองค์ประกอบ ก็สามารถแยกฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งได้เลย โดยไม่ต้องรอคดีมูลฐาน

สำหรับเรื่อง “อั้งยี่” อยู่ในมาตรา 21 (2) ซึ่งเรื่องของสมาชิกวุฒิสภาเริ่มแรก คือการกระทำเป็นอั้งยี่ ที่มีการฟอกเงินรวมอยู่ด้วย ดังนั้น จึงเป็นคดีฟอกเงิน เรื่องนี้ก็อาจจะมีการสอบสวนสมาชิกวุฒิสภาใน 3 ฐานะ ได้แก่

1.ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา

2.ในฐานะเป็นพยาน

3.ในฐานะเป็นผู้ต้องหา ซึ่งปัจจุบันมีการรับเป็นคดีพิเศษแล้ว และจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานฟอกเงิน ปัจจุบันอยู่ในขั้นการรวบรวมหลักฐานเบื้องต้น ยังไม่มีการเรียกสอบพยาน ตาม พ.ร.บ. ปปง.2542 มาตรา 5 ที่กำหนดไว้ว่า

“ผู้ใดได้มาครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สินโดยรู้ในขณะที่ได้มาโดยการครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สินนั้น ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน” ตรงนี้เป็นองค์ประกอบการกระทำความผิด สรุปคือ ดีเอสไอใช้มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ปปง.2542 ในการดำเนินการ

ด้าน “สุรสิทธิ์ มัจฉาเดช” ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ระบุว่า ในกรณีมีการกล่าวหาว่าการได้มาซึ่ง สว.มิชอบด้วยกฎหมาย ทุกคนก็ปฏิบัติตามขั้นตอน ตามกฎหมาย การใช้คำว่า “อาจจะ” กล่าวหาบุคคลใด ถ้าเจตนามิชอบ ก็จะเป็นการกล่าวหาโดยมิชอบ ก็อาจมีความผิดตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. 2561

ทั้งนี้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และประเด็นนี้ได้มีการยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหาเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษแล้วเช่นกัน ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการในส่วนนี้ต่อ และประเด็นคำถามว่า การกระทำเป็นอั้งยี่เริ่มตั้งแต่เมื่อใด การกระทำฟอกเงินเริ่มเมื่อไหร่ ตรงนี้การกระทำที่เป็นการฟอกเงินที่ใกล้เคียงเรื่องนี้มากที่สุด คือ การเตรียมการตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง

ปิดท้ายที่ “พล.อ.สวัสดิ์” พูดทิ้งท้ายว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องทำตามหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่การที่ออกมาให้ข้อมูลกับสื่อ แล้วทำให้ข้อมูลแพร่กระจายออกไปทั่วประเทศ ออกไปทั่วโลก ว่าวุฒิสภาเป็นขบวนการของอั้งยี่ เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นข้อกังวลและยังติดใจ และต่อมาประเด็นที่กล่าวหาว่า “ขบวนการของอั้งยี่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ” ได้หายไปแล้ว ก็มีประเด็นว่า ทำไมไม่โฆษณาต่อว่า “ไม่มีขบวนการของอังยี่ ไม่เป็นภัยต่อความมันคงของชาติ” เพราะอะไร ตรงนี้ตนเองเห็นว่าไม่เป็นธรรม สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว

ทั้งหมดนี้คือ เนื้อหาสาระ ในการประชุม ชุดกมธ.ทหารและความมั่นคง วุฒิสภา ที่มีคำถามแรงและตรงไปยังกระทรวงยุติธรรม โดยขั้นตอนหลังจากนี้ เรียกได้ว่าเป็น “นิติสงครามอีกหนึ่งบท” ที่กำลังเกิดขึ้นในการเมืองไทย

…………….

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img