“นพ.สมิทธิ์” ชี้ชัด ก.ม.แพทยสภา มีมติลงโทษจริยธรรมต้องผ่าน “รมว.สธ.” ย้ำ!ไม่ใช่ครั้งแรกที่ รมต.ไม่เห็นชอบ พร้อมย้ำเหตุผลที่ยังเปิดชื่อแพทย์ไม่ได้
เมื่อวันที่ 9 พ.ค.68 นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย และกรรมกาาแพทยสภา โพสต์ข้อความระบุว่า “… ขออธิบายถึงขั้นตอน หลังจากคณะกรรมการแพทยสภา ส่งมติของคณะกรรมการแพทยสภาให้สภานายกพิเศษ (รมว.สธ.) แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
1.อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่า ที่คณะกรรมการแพทยสภาต้องส่งมติของที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาให้ รมว.สธ.นั้น เป็นไปตามพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 มาตรา 25 ซึ่งมติเกี่ยวกับการวินิจฉัยชี้ขาดทางจริยธรรมก็คือ (4) ดังนั้นคดีจริยธรรมทุกราย ที่แพทยสภาตัดสินต้องผ่านทั้งหมด และผ่านมานานแล้ว
2.ต่อมาเมื่อนายกแพทยสภาส่งมติให้รมว.สธ.แล้ว จะต้องดูตามมาตรา 25 วรรคสาม คือ รมว.สธ.อาจมีคำสั่งยับยั้งมติได้ หรือถ้าไม่มีคำสั่งใดๆ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รมว.สธ.ได้รับมติ ให้ถือว่า รมว.สธ.ให้ความเห็นชอบมตินั้น ดังนั้นขั้นถัดไป จึงมีสองกรณี
-กรณีเห็นชอบ แพทยสภาก็เอามติ มาทำเป็นคำสั่งแพทยสภาได้เลย
-กรณีไม่เห็นชอบ จะมีขั้นถัดไป ขออธิบายในข้อถัดไป แต่ใครบอกว่า รมว.สธ.ไม่เคยไม่เห็นชอบ อันนี้ไม่จริง เคยมี มติที่ รมว.สธ.ไม่เห็นชอบอยู่
3.กรณีไม่เห็นชอบ หรือมีการยังยั้งมติจากรมว.สธ. ขั้นถัดไปคือ ทางคณะกรรมการแพทยสภาต้องพิจารณามติเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งในที่ประชุม โดยหากต้องการยืนยันว่า จะดำเนินการตามมติเดิม จะต้องมีเสียงเห็นชอบจากกรรมการเป็นจำนวน 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งคณะ หรือคือปัจจุบันต้องมี 47 เสียง ถ้าได้ 47 เสียงเห็นชอบนี้แล้ว ก็จะทำเป็นคำสั่งแพทยสภาได้
4.คำสั่งแพทยสภาให้ลงโทษใดๆ หรือยกข้อกล่าวโทษ ถือว่าเป็นที่สุด แต่ปัจจุบัน เนื่องจากมีระบบศาลปกครอง คำสั่งแพทยสภาถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง ผู้เสียหายสามารถยื่นขอเพิกถอนคำสั่งได้ ก็ต้องให้ศาลปกครองพิจารณาต่อไป (มีสองขั้น = ศาลปกครองกับศาลปกครองสูงสุด)
5.คำถามน่าสนใจ : ทำไมยังเปิดเผยชื่อผู้ถูกลงโทษไม่ได้
คำตอบ: เนื่องจากข้อมูลที่แพทยสภาแถลง ยังเป็นมติที่พึ่งได้จากที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภา ยังถือว่าไม่สิ้นสุด ต้องรอทำเป็นคำสั่งหลังจากผ่านการเห็นชอบจาก รมว.สธ.ก่อน แล้วถึงจะเปิดเผยได้ โดยก่อนจะเปิดเผยก็ต้องขอมติคณะกรรมการแพทยสภาให้เปิดเผยด้วย ถึงจะถูกตามกฎหมาย”