วันอังคาร, พฤษภาคม 13, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTS“ประชานิยม”ทำรัฐ“กระเป๋าฉีก” ลักไก่... “ขึ้นภาษี”อุดรูรั่ว
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ประชานิยม”ทำรัฐ“กระเป๋าฉีก” ลักไก่… “ขึ้นภาษี”อุดรูรั่ว

“ฝันสลาย” เสียแล้ว สำหรับคนที่รอรับเงินดิจิทัล คนละหมื่นบาทเฟส 3 เมื่อ “นายกฯแพทองธาร ชินวัตร” ออกมายอมรับว่า โครงการแจกเงินดิจิทัล เฟส 3 คนละ 1 หมื่นบาทต้องพับไปก่อน ต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึง “มาตรการภาษี” ของ “ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ไทยโดนหางเลข…จะเป็นอย่างไร

อาการถอยแจกเงินเฟส 3 ตีความได้ว่า รัฐ “กระเป๋าฉีก” แน่ๆ ไม่มีเงินเดินหน้าโครงการต่อ อาการอย่างนี้เริ่มส่อเค้าเมื่อครั้งรัฐบาลเคยโยนหินถามทาง เรื่องออกพระราชกำหนดกู้เงิน ตอนนั้นดูเหมือนจะ 5 แสนล้านบาท เป็นเงินกู้เพิ่มพิเศษ นอกเหนือไปจากการกู้ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ “ปริ่มเพดาน” ตลอดจนโยนหินถึงการ “ขยับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ” จาก 70% ของ GDP เพื่อรองรับการกู้เพิ่มอีกด้วย

ขณะเดียวกันเมื่อเร็วๆ นี้ “พิชัย ชุณหวิชระ” รัฐมนตรีคลัง ก็โยนหินถามทางเสนอแนวคิด ปรับปรุงการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจะให้ธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี แต่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อปี เสีย VAT 1% ซึ่งประเมินว่าหากสำเร็จ จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 2 แสนล้านบาท

นั่นหมายความว่า หากรัฐสามารถขยายฐานภาษีมูลค่าเพิ่มได้กว้างขึ้น ธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี เข้าระบบให้มากขึ้น จะทำให้รัฐบาลจัดทำงบฯขาดดุลต่ำลง ปัจจุบันขาดดุลอยู่ที่ 4.4% ของจีดีพี อาจเหลือแค่ 3.5% เท่านั้น

ตรงข้ามกับเหตุผลของ “รัฐมนตรีคลัง” ที่อ้างว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่จำนวนมาก หันมาทำธุรกิจ แต่มักจะยื่นแบบรายได้ของธุรกิจให้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี เพื่อไม่ต้องเข้าเกณฑ์จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงมีแนวคิดให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ เข้ามาอยู่ในระบบ

คำอธิบายของ “คลัง” ไม่น่าจะถูกต้อง เจตนาลึกๆ จริงๆ เป็น “ยุทธการถอนขนห่าน” เพื่อหารายได้เข้ารัฐมากกว่า

อาการ “รัฐกระเป๋าฉีก” ยิ่งเห็นได้ชัดเจนในการประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีการประชุม “วาระลับ” ปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ลิตรละ 1 บาท เนื่องจากการจัดเก็บภาษีรถยนต์ตามมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) พลาดเป้า ทำให้รายได้ยังต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 21,321 ล้านบาท หรือต่ำเป้าไป 7.4% หากขึ้นภาษีจะช่วยให้การจัดเก็บรายได้เพิ่มเดือนละประมาณ 2,900 ล้านบาท

คงต้องยอมรับความจริงว่า “ฐานะการคลัง” ตอนนี้อยู่ในสภาพตึงตัวอย่างมาก จากการที่รัฐบาลเก็บรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย จนต้อง “ขาดดุลงบประมาณ” ทุกปี และยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี การขาดดุลก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ปีงบประมาณ 2568 ผ่านมาครึ่งทาง ตัวเลขล่าสุด รัฐบาลเก็บรายได้สุทธิแล้ว 1.195 ล้านล้านบาทเศษ เรียกว่า “ปริ่มเป้า” เลยทีเดียว

ยิ่งเจาะลึกเข้าไปอีก จะพบว่า การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี ทำได้รวมกันที่ 1.28 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณงบประมาณไป 15,399 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 1.2% มีเพียง “กรมสรรพากร” ที่จัดเก็บได้ สูงกว่าเป้า อีก 2 กรมคือ “กรมสรรพสามิต” และ “กรมศุลกากร” ล้วนเก็บได้ “ต่ำเป้า” ทั้งคู่

เมื่อ “รายได้” ไม่ได้มาตามนัด จึงไม่แปลกที่ “นายกฯแพทองธาร” จะออกมาบอกว่า ชะลอโครงการแจกเงินไปก่อน แม้ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยคลัง ยังออกมายืนยันว่าเงิน ดิจิทัล 1 หมื่นบาท เฟส 3 แจกแน่ๆ แต่ดูอาการแล้ว รัฐบาลคงต้องล้มเลิกโครงการแจกเงินหมื่นไปในที่สุด

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำเร่งด่วนต้องกางบัญชีดูภาพรวมของประเทศว่า รายได้จะมาทางไหนเพราะส่งออกก็เจอมาตรการภาษีของทรัมป์ ซึ่งสหรัฐเป็นตลาดใหญ่หากสูญเสียตลาดนี้ไปเรียกว่ารายได้เข้าประเทศหายไปมหาศาล ท่องเที่ยวก็ไม่มาตามนัด นักท่องเที่ยวจีนก็ลดลงฮวบฮาบจนน่าตกใจ คนไทยก็หันไปเทียวต่างประเทศมากขึ้นเครื่องยนต์ปั๊มเศรษฐกิจทั้ง2เครื่องเริ่มตะกุกตะกัก

ตอนนี้มีทางเดียวคือ ควบคุมการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ เช่น ทบทวนแผนสร้างตึกของหน่วยงานราชการที่ตอนหลังมีการสร้างกันมาก และหรูหราเกินความจำเป็น ในระยะยาวต้องลดจำนวนข้าราชการ ยุบหน่วยงาน องค์กรอิสระบางหน่วยที่ไม่ได้มีประโยชน์เพื่อลดค่าใช้จ่าย ส่วนโครงการที่ไม่เร่งด่วน เช่น ถนนบางสาย โปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่รัฐลงทุนเองต้องชะลอออกไปก่อน แต่ละปีงบประมาณแผ่นดินได้ละลายไปกับการทุจริตหลายหมื่นล้านบาท ต้องเร่งปราบปรามการทุจริตอย่างเอาจริงเอาจัง หากทำได้จะมีเม็ดเงินเหลือพัฒนาประเทศได้ไม่น้อย

ภาษี / cr : www.ncb.co.th

เหนือสิ่งใด รัฐต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างภาษีให้มีความก้าวหน้าครอบคลุมและเป็นธรรม ควรเน้น “เก็บภาษีคนรวย” ภาษีลาภลอยที่ร่ำรวยจากโครงการของรัฐ เช่น ธุรกิจอสังหาฯที่ไปสร้างตามแนวรถไฟฟ้า หรือที่ดินที่มีถนนตัดผ่าน และภาษีธุรกิจผูกขาด กระทั่งภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่นภาษี VAT สินค้าฟุ่มเฟือย แบรนด์เนมหรูๆ ควรจะมีอัตราสูงกว่าสินค้าจำเป็นที่ชาวบ้านใช้ รวมถึงแพลตฟอร์มต่างประเทศที่หารายได้จากธุรกิจบริการในบ้านเรา ขนเงินออกโดยที่ไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว

ตอนหาเสียงเลือกตั้ง “เพื่อไทย” ชูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการแจกเงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นบาท มีคนออกมาเตือนว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” แต่ไม่ฟัง ตอนนี้ “กระสุนหมด” ขณะที่ “มรสุมเศรษฐกิจ” กำลังมา

…………………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img