วันพุธ, พฤษภาคม 14, 2025
หน้าแรกNEWSDSI แจงปม "ฮั้ว สว." ทำตามภารกิจ กกต. ชี้อาจมีสอบเพิ่มคดี "อั้งยี่-ฟอกเงิน"
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

DSI แจงปม “ฮั้ว สว.” ทำตามภารกิจ กกต. ชี้อาจมีสอบเพิ่มคดี “อั้งยี่-ฟอกเงิน”

โฆษก DSI เผยความคืบหน้าคดี “ฮั้ว สว.”! ชี้มูลฐานผิดโยง “อั้งยี่-ฟอกเงิน” เตรียมขยายผลสอบเส้นทางการเงิน 1,200 ราย! ย้ำชัด DSI ทำตามกรอบภารกิจ กกต.

เมื่อวันที่ 13 พ.ค.พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ในฐานะโฆษกดีเอสไอ ได้แถลงถึงความคืบหน้าในคดีการสมคบคิดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปี 2567 โดยเปิดเผยว่า การที่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 3 นาย เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวนกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น เป็นการปฏิบัติงานภายใต้การร้องขอความร่วมมือจาก กกต. เพื่อสนับสนุนภารกิจในการส่งหนังสือเชิญให้ถ้อยคำแก่ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งดีเอสไอรับผิดชอบเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนในต่างจังหวัดเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ กกต. และตำรวจท้องที่

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวเสริมว่า ในส่วนของการสอบสวนปากคำร่วมกับ กกต. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 นั้น หากผู้ถูกเรียกหรือมีหนังสือให้มาชี้แจงประสงค์ที่จะให้ถ้อยคำเพิ่มเติม นอกเหนือจากการทำหนังสือชี้แจง ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอทั้ง 3 นาย ที่ร่วมเป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน ต้องเข้าร่วมในการสอบสวนปากคำด้วย

โฆษกดีเอสไอ เผยอีกว่า ประเด็นข้อซักถามของดีเอสไอในการสอบสวนร่วมกับ กกต. จะเน้นในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีของดีเอสไอเอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 นาย ที่เข้าร่วมเป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวนนั้น ยังอยู่ในชุดคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 24/2568 ในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่ง สว. รวมถึงความผิดฐานเป็นอั้งยี่ สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการและมีเจตนาอันมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคดีฟอกเงินและอั้งยี่จึงอาจถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยดีเอสไอจะพิจารณาจากบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาของ กกต. เพื่อนำมาประกอบสำนวนคดีอั้งยี่และฟอกเงินต่อไป

พ.ต.ต.วรณัน อธิบายถึงพฤติการณ์การสมคบกันในความผิดฐานอั้งยี่และฟอกเงินว่า “การอั้งยี่” หมายถึง การกระทำของกลุ่มบุคคลที่ปกปิดวิธีการเพื่อกระทำการผิดกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงกับภารกิจของ กกต. ในการตรวจสอบความสุจริตและความเที่ยงธรรมในการได้มาซึ่ง สว. และเกี่ยวข้องกับกฎหมายฟอกเงินตามมาตรา 3(10) ที่กำหนดให้อั้งยี่เป็นหนึ่งในมูลฐานความผิด เมื่อมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องจากการกระทำผิดอั้งยี่ จึงถือเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกัน

โฆษกดีเอสไอ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแจ้งข้อกล่าวหาฟอกเงินนั้น ดีเอสไอจะตรวจสอบเส้นทางการเงิน การได้มาซึ่งทรัพย์สิน และธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการกระทำผิดอั้งยี่ หรือตั้งแต่กระบวนการเลือก สว. ในทุกระดับ หากพบว่ามีการใช้เงินสนับสนุนความผิดมูลฐาน ก็จะถูกพิจารณาดำเนินคดีฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 ถึงมาตรา 9

พ.ต.ต.วรณัน เผยว่า จากรายงานการสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอ พบกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางการเงิน หรือบุคคลที่น่าสงสัยประมาณ 1,200 ราย ซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการตามพยานหลักฐานทางการเงิน โดยดีเอสไอจะเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้ได้นำพยานหลักฐานมาชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคดีต่อไป ปัจจุบันมีการสอบสวนปากคำไปแล้วประมาณ 70 ราย และที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการต่อเนื่อง

ส่วนกระแสข่าวการออกหมายเรียกผู้ต้องหากลุ่มแรกในคดีอั้งยี่และฟอกเงินภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนั้น พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ต้องให้เวลาพนักงานสอบสวนดำเนินการก่อน โดยมองว่าผู้ถูกตรวจสอบ 1,200 ราย อาจมีเพียงบางส่วนที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน เนื่องจากต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลและดูเหตุอื่นประกอบ อย่างไรก็ตาม การทำงานของดีเอสไอและ กกต. มีลักษณะที่แตกต่างกัน โดย กกต. เน้นประเด็นการได้มาซึ่ง สว. ที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม เพื่อนำไปสู่การตัดสิทธิ์ ขณะที่ดีเอสไอเน้นกระบวนการทางคดีอาญา ดังนั้น การแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ จะต้องมีพยานหลักฐานตามสมควร

พ.ต.ต.วรณัน สรุปว่า ปัจจุบันคดีฮั้ว สว. ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ มี 2 ข้อกล่าวหาหลัก คือ ความผิดฐานอั้งยี่ และความผิดตามกฎหมายฟอกเงินจากเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้อง โดยดีเอสไออาจประสานงานกับสำนักงาน ปปง. ในเรื่องมาตรการทางทรัพย์สิน แต่ในทางอาญา ดีเอสไอจะเป็นผู้ดำเนินการพิสูจน์ความผิดเพื่อนำไปสู่การลงโทษ

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่ สว. ที่ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ป.สว. 2561 จะถูกพิจารณาข้อกล่าวหาในคดีอั้งยี่และฟอกเงินด้วย พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในการสอบสวน หากพบว่ามีความเชื่อมโยงก็จะนำไปสู่กระบวนการต่อไป โดยอธิบายถึงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา 6 ขั้นตอน และคาดว่าจะเห็นรายชื่อผู้ต้องหากลุ่มแรกในความผิดฐานอั้งยี่และฟอกเงินภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

ต่อข้อถามถึงกรณีที่อธิบดีดีเอสไอทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และปลัดกระทรวงมหาดไทย พ.ต.ต.วรณัน ชี้แจงว่า เป็นการอธิบายขอบเขตอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอตามกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานในระดับท้องที่ทั่วประเทศมีความเข้าใจที่ตรงกัน และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐจะไม่เป็นปัญหา

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img