‘ศิริกัญญา’ แฉ ‘คลัง’ เองส่งสัญญาณเองก่อน ‘มูดีส์’ เผย ดัชนีเตือนภัยด้านการคลัง ไตรมาส 1-3 ปี 67 เพิ่มสูงเท่าช่วงโควิด ฐานะคลังอยู่ในภาวะเสี่ยง ก่อนเกิด ‘ภาษีทรัมป์’ ชี้ การคลังของประเทศอ่อนแอมาตั้งแต่ปี 67 แนวโน้มที่จะแย่ลงในปี 68 นี้ เหตุรัฐบาลใช้จ่ายไม่ระมัดระวัง
วันที่ 14 พ.ค.68 นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์ข้อความระบุว่า
“[คลังส่งสัญญาณก่อนมูดี้ส์ ดัชนีเตือนภัยคลังเพิ่มสูงเท่าช่วงโควิด ฐานะคลังอยู่ในภาวะเสี่ยงมาก่อนภาษีทรัมป์]
เพิ่งได้มีโอกาสอ่านรายงานความเสี่ยงทางการคลังปี 2567 ที่จะต้องส่งครม.ทุกเดือน มี.ค.ของทุกปี ปีนี้เข้า ครม.ไปเมื่อวันที่ 22 เม.ย.68 พบข้อมูลน่าสนใจหลายประเด็นด้วยกัน ขอนำมาสรุปให้ฟังกันค่ะ
– ดัชนีเตือนภัยทางการคลัง เป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้า (early-warning system) ของไตรมาส 1-3 ของปี 67 เพิ่มสูงขึ้นมาเป็น 3.36 (เต็ม 5) ใกล้เคียงกับช่วงโควิด (ปี 64-65)
ดัชนีเตือนภัยนี้ ประกอบด้วยตัวชี้วัดหลายตัว เช่น อัตราการขยายตัว GDP ดุลงบประมาณต่อ GDP อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้รัฐบาล โดยในรายงานระบุเพียงว่า ตัวบ่งชี้ที่แสดงค่าผิดปกติ ได้แก่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ รายได้รัฐบาล ดุลการคลัง หนี้รัฐบาล ราคาน้ำมันดิบ และอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างที่ทราบว่า ตอนโควิด ฐานะการคลังเราย่ำแย่ เก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า เงินคงคลังเหลือน้อย สร้างหนี้โดยการกู้เงิน พรก.ถึง 1.5 ล้านล้าน การที่ดัชนีเตือนภัยอยู่ในระดับ 3.36 แสดงว่าการคลังในปี 67 นั้นเปราะบางมากจริงๆ
– ความเสี่ยงด้านรายได้ ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล เมื่อเทียบกับ GDP ในระยะปานกลาง คาดว่าจะอยู่ในช่วง 14.5% – 15.0% โดยยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อน เกิดวิกฤต และอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Economies)
นี่อาจเป็นเหตุให้ รมว.คลัง ดำริเรื่องการนำ SME รายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทเข้าระบบ VAT ก็เป็นได้
– ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง สภาพคล่องในปีงบประมาณ 2568 อาจมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติม (1) หากการจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามประมาณการ โดยรัฐบาลมีกรอบวงเงินกู้กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้รองรับกรณีดังกล่าวได้เพียง 4,920 ล้านบาท รวมถึง (2) อาจมีรายจ่ายที่ได้รับจัดสรรไม่เพียงพอ และต้องเบิกใช้จากเงินคงคลังในระดับสูง
นี่ก็สืบเนื่องมาจากการตั้งงบขาดดุลแบบเต็มเหนี่ยว ไม่ได้เผื่อกระสุนไว้ใช้ในยามวิกฤต
– นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านรายจ่าย ที่มีปัจจัยกดดันจากรายจ่ายเพื่อชำระหนี้และภาระผูกพัน และรายจ่ายด้านสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง รายจ่ายชำระดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ และเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ส่งผลให้ภาพรวมรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% จากปีงบประมาณ 2566
– ความเสี่ยงด้านอื่นๆ เช่น ภาษีรถยนต์และภาษีบุหรี่ที่ลดลงไปร่วมๆ 50,000 ล้าน จากปี 60 เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้รถยนต์อีวี และสูบบุหรี่เถื่อน! กองทุนประกันสังคมโดยเฉพาะกองทุนชราภาพเสี่ยงเจ๊ง และรัฐบาลติดหนี้ประกันสังคมอยู่ 66,000 ล้านบาท ภาระหนี้ตาม ม.28 (เช่น หนี้ที่ให้แบงก์รัฐออกเงินไปก่อน) ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 1,028,279 ล้านบาท
การคลังของประเทศอ่อนแอมาซักระยะแล้วตั้งแต่ปี 67 และมีแนวโน้มที่จะแย่ลงในปี 68 ไม่น่าแปลกใจที่ moody’s ปรับแนวโน้มเป็นลบ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า รัฐบาลใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง ทำงบขาดดุลเกิน 800,000 ล้านบาทมา 2 ปีติดต่อกัน และกำลังจะทำต่ออีกในปี 69 ไม่ได้เตรียมกระสุนไว้ในยามจำเป็นเช่นตอนนี้ ทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้การตั้งงบของรัฐบาลเพื่อไทย
ประชาชนอย่างเราก็คงได้แต่ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม ว่าเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นจริง ยังไงก็ต้องกู้เพิ่ม ยังไงก็คงต้องขยายเพดานอยู่ดี อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเป็นแบบนี้ก็คงต้องใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด กระสุนมีน้อยต้องยิงให้เข้าเป้ามากที่สุด”
