วงเงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงิน ก้อนใหม่ อีก 5 แสนล้านบาทของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะในส่วนที่ 2 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ วงเงิน 3 แสนล้านบาท
หากจำกันได้… เป้าหมายที่นายกฯประยุทธ์ ได้ประกาศออกมาชัดเจน ก็ต้องการช่วยเหลือบรรดาเอสเอ็มอี ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
จึงกลายเป็นที่มาของการ “เปิดทำเนียบรัฐบาล” มื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังและหาแนวทางช่วยเหลือบรรดาเอสเอ็มอี ที่ ณ เวลานี้ ต่างคนต่างอยู่ระหว่างตะเกียกตะกายตัวเองให้พ้นจากการ “จมน้ำ”
สารพัดข้อเสนอ!! ที่ภาคเอกชนภายใต้กรอ. หรือภาคเอกชน 3 สถาบัน และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ที่หอบไปกางกลางวงประชุม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร?
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี ผ่านผู้ประกอบการค้าปลีก การปลดล็อคลูกหนี้ที่ติดเครดิตบูโร การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การขอให้พักต้น พักดอก ให้สินเชื่อใหม่ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอล
หรือแม้แต่เรื่องของมาตรการคนละครึ่ง-ภาคเอสเอ็มอี โครงการ “โค-เพย์” หรือร่วมจ่ายค่าแรง !!
ก็ในเมื่อเวลานี้ พิษของไวรัสโควิด 19 นั้นหนักหนาสาหัสยิ่งนัก เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต่างทำมาหากินอยู่ภายในประเทศ เมื่อเศรษฐกิจในประเทศหยุดชะงัก เอสเอ็มอีทั้งขบวนก็ล้มไม่เป็นท่า
อย่าลืมว่า ณ เวลานี้ เอสเอ็มอีทั้งประเทศ ทั้งรายเล็กรายน้อย รวม ๆ กันแล้วมีกว่า 12 ล้านราย ทีเดียว แต่ในจำนวนนี้เป็นเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบเพียงแค่ 3.3 ล้านราย เท่านั้น
ที่สำคัญ!! เอสเอ็มอีทั้ง 3.3 ล้านราย คิดเป็น 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ และสามารถทำรายได้เพียงแค่ 35% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือจีดีพี หรือประมาณ 5.9 ล้านล้านบาท
แต่ที่น่าสนใจ เอสเอ็มอีในระบบ 3.3 ล้านราย มีเพียงแค่ 7 แสนรายที่จดทะเบียนนิติบุคคล และในจำนวนนี้มีเพียงแค่ 5 แสนราย ที่ยอมยื่นงบการเงิน
เมื่อกางข้อมูลออกมาดูเช่นนี้!! ก็ไม่แปลกใจ อีกเช่นกัน ว่า…เมื่อมี “มาตรการรัฐ” ออกมาช่วยทีไร ทำไม? จึงมีแต่หน้าเดิม ๆ รายเดิม ๆ ที่เข้าถึงมาตรการรัฐ ทุกครั้งไป
ขณะที่นายกฯบิ๊กตู่ เอง ก็ได้ประกาศให้เรื่องของเอสเอ็มอี เป็นวาระแห่งชาติ มาตั้งแต่ปลายปี 58 และไม่ใช่เพียงแค่รัฐบาลนี้ เพราะที่ผ่าน ๆ มา ทุกรัฐบาลก็ประกาศให้เอสเอ็มอี เป็นวาระแห่งชาติด้วยกันทั้งนั้น
ด้วยเพราะเวลานี้…มีเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลในระบบ 2.4 แสนล้านบาท และเอสเอ็มอีที่เป็นไฟเหลือง จวนเจียนที่เป็นเอ็นพีแอล 4.4 แสนล้านบาท รวมกันแล้วก็ประมาณ 20% ของพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีทั้งหมดในระบบ ทั้งหมดที่มีอยู่ 3.5 ล้านล้านบาท ขณะที่ก่อนจะถูกพิษโควิด เอสเอ็มอีเหล่านี้ เป็นไฟเหลืองอยู่ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท เท่านั้น
ไม่เพียงเท่านี้… เรื่องของการเรียกร้องให้จ่ายเงินเดือนคนละครึ่ง หรือโคเพย์ ก็มีการหยิบยกมาถกกันในวงด้วยเช่นกัน เพราะต้องยอมรับว่า ณ เวลา นี้เอสเอ็มอีมีสัดส่วนของการจ้างงานมากถึง 78% ของการจ้างงานทั้งระบบ
เพราะปัจจุบันเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบหนักมาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวจากการปิดประเทศ และธุรกิจร้านอาหารที่ถูกกระทบจากมาตรการห้ามนั่งทานอาหารที่ร้าน
หากเอสเอ็มอีไปต่อไม่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มขนาดกลาง ขนาดเล็ก ในภาคท่องเที่ยว และธุรกิจบริการ แรงงานอย่างน้อย 4-8 ล้านคน ก็ต้องมีอันต้องหายไปจากระบบ หรือตกงาน ซึ่ง ณ เวลานี้ สถานการณ์ของไวรัสโควิด ยังไม่ยุติ แถมยังมีการกลายพันธุ์ ระบาดกันเพิ่มมากขึ้น
เอาเป็นว่า ณ เวลานี้ แม้ยังไม่มีความชัดเจน ว่าสุดท้ายแล้ว การช่วยเหลือเอสเอ็มอี ของรัฐบาล จะมีมาตรการที่ชัดเจนออกมาอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนายกฯได้ประกาศชัดเจนว่าจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน
แต่การเปิดทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับฟังปัญหาในครั้งนี้ แม้ไม่ใช่ครั้งแรกก็ตาม แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณชัดเจน ว่าจะดูแลเกื้อกูลให้เอสเอ็มอีมีชีวิตรอดอยู่ต่อไปให้ได้ ส่วนจะต้องรออีกนานแค่ไหน เพื่อให้มีชีวิต “อยู่รอด” ก็ต้องรอดูกันต่อไป!!
………………..
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo