กกต.ยกคำร้องปมเลือก สว.ระดับจังหวัดบุรีรัมย์ กลุ่มสื่อฯ ไม่พบมีพรรคการเมืองจัดตั้งกลุ่ม-ว่าจ้างให้ลงสมัคร ชี้พยานหลักฐานไม่พอ
เมื่อวันที่ 22 พ.ค.68 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่คำวินิจฉัย กรณีคณะกรรมการ กกต.มีมติยกคำร้องในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับจังหวัดของ จ.บุรีรัมย์ กรณีก่อนประกาศผลการเลือกนายบุรี ราดแก้ว นายวิเชียร เศษสุวรรณ นายไสว ชนิดนอก น.ส.เบญจมาศ อุมมะลี น.ส.ปริญญา ดาบรัมย์ นายถาวร ภูมิไธสง นายบุญร่วม แตบไธสง ผู้ถูกร้องที่ 1-7 ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกระดับจังหวัด กลุ่มที่ 18 สื่อสารมวลชน ถูกร้องว่ากระทำการให้ สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือกเป็น สว. หรือถอนการสมัคร หรือจูงใจให้ผู้สมัคร หรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้ผู้ใดตามมาตรา 77 (1) และมาตรา 81 และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือก เพราะไม่ใช่บุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญประสบการณ์ทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี ตามมาตรา 11 (18) และ74 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยกันได้มาซึ่ง สว.2561
กกต.ระบุเหตุผลว่า ข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการไต่สวนฟังได้ว่า ผู้ร้องเพียงแต่เชื่อว่ามีกลุ่มผลประโยชน์หรือพรรคการเมืองจัดตั้งกลุ่มผู้สมัคร หรือว่าจ้างให้บุคคลใดสมัครรับเลือกเป็น สว. ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง และถ้อยคำของผู้ร้องแล้วเห็นว่าเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ที่ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนให้รับฟังได้เช่นนั้น อีกทั้งผู้ถูกร้องทั้งหมดให้การสอดคล้องกันว่าสมัครเป็นสว.ด้วยความสมัครใจ ใช้เงินส่วนตัวชำระค่าสมัคร ไม่ได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้สมัครหรือว่าจ้างให้สมัครรับเลือกเป็น สว. และมีพยานไต่สวนประกอบคนที่ 1-28 ซึ่งเป็น ผอ.การเลือกระดับอำเภอ ผู้สมัครรับเลือกเป็น สว.ระดับอำเภอ ผู้นำชุมชน ประชาชนใน จ.บุรีรัมย์ ก็ให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่าไม่เคยทราบข่าวว่า มีกลุ่มผลประโยชน์หรือพรรคการเมืองจัดตั้งกลุ่มผู้สมัคร หรือว่าจ้างให้บุคคลใดมาสมัครรับเลือกเป็น สว. และไม่พบว่ามีผู้นำชุมชนคนใดนำบุคคลมาสมัคร และไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นที่ยืนยันว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายตามข้อกล่าวหา จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ถึง 7 กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 77 (1) และมาตรา 81
ส่วนที่ร้องว่าผู้ถูกร้องที่ 1-7 ไม่มีคุณสมบัติในการลงสมัครนั้น จากการไต่สวนผู้ร้องที่ 1-7 ให้ถ้อยคำยืนยันว่าตนเองมีคุณสมบัติในการลงสมัคร อาทิ ผู้ถูกร้องที่ 1 ประกอบอาชีพเป็นผู้ช่วยโฆษกมัคทายกวัด มากว่า 11 ปี ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นหมอสู่ขวัญ เป็นปราชญ์ชาวบ้าน มาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ผู้ถูกร้องที่ 3 เป็นนักร้องหมอลำมากว่า 20 ปี ผู้ถูกร้องที่ 4 และ 5 เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารเกี่ยวกับสาธารณสุขมาตั้งแต่ปี 2554 ผู้ถูกร้องที่ 6 ประกอบอาชีพรับจ้างถ่ายภาพโฆษณาประชาสัมพันธ์ ผ่านรถติดตั้งเครื่องขยายเสียง มากว่า 10 ปี และผู้ถูกร้องที่ 7 ประกอบอาชีพรับจ้างรถแห่ประชาสัมพันธ์นานกว่า 10 ปี
และพยานประกอบคนที่ 1-12 ซึ่งเป็น ผอ.การเลือกระดับอำเภอ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.คูเมือง อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ ให้ถ้อยคำสอดคล้องว่าตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามในการสมัครเป็นสว.ตามแนวทางที่สำนักงานกกต.ได้กำหนดจากใบสมัครรับเลือกเป็น สว. (สว.2) ข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว.3) หนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือการทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว.4)
รวมทั้งมีหนังสือถึงหน่วยงานสนับสนุนการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกเป็น สว. ของผู้สมัครทุกคน ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกร้องที่ 1-7 ไม่มีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามจึงได้รับสมัคร และ ผอ.เลือกระดับอำเภอ ได้ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกแยกเป็นรายกลุ่ม ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาทั้ง สว. มาตรา 21 ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกรอบหน้าที่และอำนาจของผอ.การเลือกระดับอำเภอ
เชื่อได้ว่ากรณีจึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกร้องที่ 1-7 มีความรู้ความเชี่ยวชาญประสบการณ์การทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี และไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นที่ยืนยันว่ามีการกระทำฝ่าฝืนตามข้อกล่าวหา.