สว.พันธุ์ใหม่ ดิ้นต่อยื่นญัตติด่วนบี้ “มงคล” ชะลอตั้งองค์กรอิสระที่ประชุมวุฒิฯ 29-30 พ.ค.เหตุอยู่ระหว่างถูกตรวจสอบคดีฮั้ว ‘กกต.-ป.ป.ช.-ศาลรัฐธรรมนูญ’ ถือเป็นคู่ขัดแย้ง หวั่นขัดหลักการตรวจสอบ สอน ’มุ้งใหญ่‘ ถอยใช้อำนาจพิสูจน์ความเป็นธรรม-ยึดหลักไม่ขัดกันแห่งผลประโยชน์
วันที่ 22 พ.ค.2568 เวลา 14.30 น. ที่รัฐสภา นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา(สว.)กลุ่มพันธุ์ใหม่ แถลงถึงกรณีเตรียมเสนอญัตติชะลอการพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญตรวจสอบประวัติศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และการให้ความเห็นชอบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในการเปิดประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญ วันที่ 29-30 พ.ค.นี้ จนกว่าจะมีคำตัดสินในคดีฮั้วการเลือก สว.ว่า ได้ยื่นญัตติผ่านสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาแล้ว ในวันประชุมดังกล่าวหากประธานวุฒิสภาบรรจุระเบียบวาระ ตนจะลุกขึ้นเสนอญัตติด้วยวาจาเพื่อขอเลื่อนญัตติชะลอฯขึ้นมาพิจารณาก่อน แต่หากยังไม่บรรจุ ก็จะขอในที่ประชุมแบบปากเปล่าด้วยวาจา ก็หวังว่าประธานฯจะพิจารณาบรรจุวาระของตนในการประชุมวันดังกล่าว ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งหรือพิจารณาให้ความเห็นชอบ ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. และป.ป.ช. ยืนยันว่าการเสนอญัตติชะลอฯของตน ไม่กระทบต่อกรอบเวลาในกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ หรือพิจารณาผู้ดำรงตำแหน่งศาลฯ ของวุฒิสภา หากมีการชะลอตามที่ตนเสนอ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่สามารถรักษาการได้
“สิ่งหนึ่งที่เราต้องตระหนักถึง โดยเฉพาะสว.ส่วนใหญ่ ที่ถูกร้องในคดีฮั้ว สว. ขณะนี้สถานะยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องให้ความเป็นธรรมพวกเขาด้วย และกระบวนการต้องมีความเป็นธรรม ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี2540 เป็นต้นมา องค์อิสระถูกออกแบบมาให้ตรวจสอบ ทั้งสส. สว. แปลว่าเรามีหลักมูลฐานว่าองค์กรอิสระต้องมีความอิสระ ไม่อยู่ฝักฝ่ายใด โดยเฉพาะกกต. ที่เป็นตัวกลางในการจัดการเลือกตั้ง แต่ที่ผ่านมามีข้อสงสัยกับประชาชน” นายเทวฤทธิ์ กล่าว
นายเทวฤทธิ์ กล่าวต่อว่า เช่นเดียวกัน สว.กลุ่มใหญ่ที่ตระหนักถึงปัญหานี้ ต้องไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ร้องป.ป.ช. ให้พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ถือเป็นข้อสงสัยได้แต่เป็นข้อสงสัยเดียวกันกับที่ตนมองว่า สถานะของสว.กลุ่มใหญ่ ที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่อีกด้านเขาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบองค์กรที่ต้องไปตัดสินในคดีที่เขาเป็นคู่กรณี ถือว่าอีกสถานะเป็นคู่ขัดแย้งกันแล้ว ไม่ว่าเป็นการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ป.ป.ช. มันจะมีผลต่อการให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งทั้ง3องค์กร ก็ควรชะลอไว้ก่อน เพื่อความเป็นธรรม และเป็นไปตามหลักไม่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ หากถามว่า เวลาที่เราจะพิสูจน์คุณธรรมเบื้องต้นคืออะไรในการตัดสินว่าอะไรควรไม่ควร มันคือสิ่งที่เมื่อเราไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นกระทำอะไรกับเรา เราก็ไม่ควรปรารถนาให้ผู้อื่นกระทำการสิ่งนั้นกับพวกเรา ดังนั้น หากมีความเป็นธรรมเพียงพอ ควรต้องชะลอการพิจารณาเลือกศาลฯ และองค์กรอิสระ แล้วให้กระบวนการพิสูจน์ไปอย่างเป็นธรรม อย่างที่เรียกร้องกับฝั่งที่พยายามจะมาพิสูจน์ตัวของสว. หวังว่า สว.กลุ่มที่กำลังมีประเด็น จะยอมไม่ใช้อำนาจในห้วงเวลานี้ เพื่อพิสูจน์ความเป็นธรรมในจิตใจตัวเอง

เมื่อถามว่าการที่น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ กำลังเข้าชื่อสมาชิกเพื่อยื่นต่อศาลฯ วินิจฉัยให้สว.กลุ่มที่มีข้อกล่าวหา หยุดปฏิบัติหน้าที่ จะถือว่ารุนแรงหรือไม่ เนื่องจากกระบวนการตรวจสอบยังไม่ชี้ชัดว่ามีความผิดจริง นายเทวฤทธิ์ กล่าวว่า น.ส.นันทนา ยังไม่สามารถยื่นเรื่องดังกล่าวต่อศาลฯได้ เพราะต้องใช้สมาชิกเข้าชื่อให้ครบ 20 คน ซึ่งน.ส.นันทนา จุดประเด็นนี้มาตั้งแต่ช่วงต้นปี ที่เริ่มมีประเด็นตรวจสอบ สว. และใช้วิธีการบอยคอตไม่ร่วมขบวนการ แต่อาจยังไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ ส่วนตัวมองว่า จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา82 ระบุ บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ ในการยับยั้ง หรือสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่มีประเด็นถูกร้องเรียน แต่บทบาทของศาลฯไม่สมดุลกับระบอบประชาธิปไตย บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็น ควรวินิจฉัยเพียงแค่รัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก และความขัดแย้งของสถาบันทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ควรมีบทบาทในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระบวนการถอดถอนควรยึดโยงกับประชาชน หรือที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นๆ จึงอยากเรียกร้องให้สภาฯรับผิดชอบต่อตนเอง
“ผมมีข้อกังวล วันนี้เป็นวันครบ11ปีของการรัฐประหาร กลุ่มต่างๆทางการเมืองไม่ว่าจะแดง จะน้ำเงิน หรืออะไรก็แล้วแต่ มันทำให้ประชาชนมีคำถามทั้งกับฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะสว. เอง มีความชอบธรรม เคลือบแคลงสงสัยการทำหน้าที่มีปัญหาหรือไม่ จริงอยู่ว่าเราสงสัยเราตรวจสอบได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะไปใช้ช่องทางอื่น หรือบริการอื่น อย่างเช่นกระแสคิดถึงลุงตู่ ต้องระมัดระวัง สิ่งที่ลุงตู่ทำมา ไม่ว่าจะเป็นภายใต้คำสั่ง คสช. หรือแม้กระทั่งการออกแบบรัฐธรรมนูญออกมา มันก็ยังมีผลเป็นปัญหามาสู่รัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ และสถาบันทางการเมือง ที่มันไม่ได้ดุลในขณะนี้ ผมคิดว่าในวาระครบรอบ11ปี อย่าไปถวิลหากับระบบอื่นเลย ค่อยๆแก้ไป ตรวจสอบและแก้กันไป ที่สำคัญหากเราไม่แก้รัฐธรรมนูญ จะไม่สามารถคลี่คลายประเด็นปัญหาเรื่องความไม่ได้ดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ กับองค์กรอิสระ หรือศาลที่เป็นปัญหาขณะนี้” นายเทวฤทธิ์ กล่าว