“อ.เจิมศักดิ์” แนะให้จับตา “3 อรหันต์” ในการประชุม “แพทยสภา” 12 มิ.ย.นี้ กับ “คดีชั้น 14” ว่าจะมี “จุดยืน-ความกล้าหาญ” เลือกจะเป็น “อรหันต์” พิทักษ์ศักดิ์ศรีวงการแพทย์ หรือ “ขรก.ที่เลือกเงียบ” เพราะประวัติศาสตร์จะจารึกการตัดสินใจ ไม่ใช่ถูกแรงกดดันทางการเมือง
เมื่อวันที่ 23 พ.ค.68 รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความว่า เพื่อความเชื่อมั่นขององค์กรวิชาชีพ ต้องรักษาแพทยสภาไว้ให้ได้
ความหวังสูงสุดจาก “3 อรหันต์” กับวันประชุมสำคัญ 12 มิถุนายน
ในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ ไม่เพียงแต่แพทย์ทั่วประเทศเท่านั้น ที่จับตาดู แต่สังคมในวงกว้าง ก็กำลังให้ความสนใจกับการประชุมของกรรมการแพทยสภา 69 คน เพื่อยืนยันมติที่เกี่ยวข้องกับคดีสำคัญในชั้น 14 เพราะแพทย์ผู้ถูกลงโทษ เคยเป็น และกำลังเป็นกรรมการแพทยสภาโดยตำแหน่ง
(หมายเหตุ: จากจำนวนกรรมการทั้งหมด 70 คน จะมีเพียง 69 คนที่เข้าร่วมลงมติ เนื่องจากพล.ต.ท.นพ.ทวีศิลป์ เวชวิการณ์ นายแพทย์ใหญ่ สนง.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ ต้องงดเข้าร่วม)
สิ่งที่สังคมรอคอย ไม่ใช่แค่ผลประชุม แต่คือ “จุดยืน” และ “ความกล้าหาญ” ของเหล่าอรหันต์แห่งวงการแพทย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 อรหันต์จากกระทรวงสาธารณสุข ที่กำลังตกเป็นเป้าสายตาของทั้งวงการแพทย์และสังคม
วิเคราะห์: ความคาดหวังจากกลุ่มต่างๆ
1.“35 อรหันต์จากการเลือกตั้ง” – มั่นใจได้มากที่สุด
กรรมการกลุ่มนี้ล้วนผ่านการเลือกตั้งโดยแพทย์ทั่วประเทศ พวกเขาคือ “ตัวแทนโดยตรง” ของเสียงแพทย์ เราจึงเชื่อมั่นว่า ทุกคนจะเข้าร่วมประชุม เพราะการไม่มาปรากฏตัว เท่ากับหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อผู้ที่เลือกพวกเขาเข้ามา เว้นเสียแต่ว่า บางท่านอาจเดิมพันว่า ความทรงจำของผู้เลือกจะเลือนหายไปภายในปีเศษ แล้วหวังลงสมัครอีกครั้ง
2.“31 อรหันต์โดยตำแหน่ง (ที่ไม่สังกัด สธ.)” – คาดหวังอย่างมีเหตุผล
กรรมการกลุ่มนี้แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่มีพันธะทางอำนาจกับกระทรวงสาธารณสุข เราจึงหวังว่า การตัดสินใจของพวกเขาจะเป็นอิสระ ปราศจากแรงกดดันทางการเมือง
3.“3 อรหันต์จากกระทรวงสาธารณสุข” – ความหวังสูงสุด
ได้แก่
>>นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน (อธิบดีกรมการแพทย์)<<
>>พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ (อธิบดีกรมอนามัย)<<
>>นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ (ปลัดกระทรวงสาธารณสุข)<<
แม้ท่านทั้งสามจะเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง แต่ในอีกบทบาทหนึ่ง ท่านก็เป็นข้าราชการภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งบทบาทซ้อนนี้ ทำให้การตัดสินใจของพวกท่าน ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะจะเป็น “บทพิสูจน์” ว่าอำนาจของกรรมการแพทยสภาจะยังยึดโยงกับจรรยาบรรณวิชาชีพ หรือถูกแทรกแซงโดยการเมือง

ทางแยกของ “3 อรหันต์”
ทางเลือกที่ 1:
เข้าร่วมประชุมด้วยตัวเอง ตัดสินใจอย่างอิสระ ด้วยมาตรฐานวิชาชีพที่อธิบายได้ต่อแพทย์และประชาชน หากเลือกทางนี้ ท่านจะได้รับการยกย่องและปกป้องจากแพทย์ทั่วประเทศ เพราะได้พิสูจน์แล้วว่า ท่านมีอิสระในจิตวิญญาณของวิชาชีพ ไม่ว่าภายหลังท่านจะลงเลือกตั้ง หรือถูกกลั่นแกล้ง สังคมก็จะอยู่ข้างท่าน และพร้อมช่วยเหลือทางกฎหมายให้ท่าน
ทางเลือกที่ 2:
ลาประชุม ส่งตัวแทน หรือ ลงมติคัดค้านเสียงส่วนใหญ่ของกรรมการแพทยสภา หรือแม้เข้าประชุมแต่งดออกเสียง ไม่ว่าเพราะกลัวการเมือง หวังจะเป็นที่โปรดปรานของผู้มีอำนาจ หรือต้องการ “อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย” หากท่านเลือกทางนี้ ไม่เพียงแค่เสื่อมศรัทธา
>>>>แต่ท่านอาจเป็นชนวนให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย ตัดตำแหน่งกรรมการแพทยสภาโดยตำแหน่งจากกระทรวงสาธารณสุขออกไปในอนาคต<<<<
บทสรุป
“ความหวังสูงสุด” อยู่ในมือของทั้งสามท่าน
พวกเราขอเพียงให้ท่านตัดสินใจด้วยใจของแพทย์ ไม่ใช่ด้วยแรงกดดันจากการเมือง เพราะไม่ว่าจะทางไหน—“ประวัติศาสตร์” จะจารึกบทบาทของท่านไว้แน่นอน
ท่านจะถูกจดจำว่าเป็น “อรหันต์” ผู้พิทักษ์ศักดิ์ศรีวิชาชีพ หรือเพียง “ข้าราชการคนหนึ่งที่เลือกเงียบ” ท่ามกลางวิกฤตทางจริยธรรม ที่เกิดกับแพทย์ ในระดับกรรมการแพทยสภา อย่างน้อย 2 ท่าน