วันเสาร์, พฤษภาคม 24, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTSระบบอาวุธบนอากาศยาน คือ ปัจจัยชี้ขาดการบินรบในอากาศ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ระบบอาวุธบนอากาศยาน คือ ปัจจัยชี้ขาดการบินรบในอากาศ


“….สิ่งที่เกิดขึ้นกับอินเดียในการบินรบในอากาศ Air Combat ครั้งล่าสุดนั้น ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับ NATO ซึ่งดูเหมือนจะล้าหลังในด้านเทคโนโลยี และเป็นการเตือนสหรัฐฯ ให้เร่งพัฒนาขีปนาวุธทดแทนระบบอาวุธอากาศสู่อากาศมาตรฐานของค่ายตะวันตกที่เป็นระบบอาวุธ AIM – 120 AMRAAM .. .”

@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 24 พ.ค.68 ความขัดแย้งระหว่างอินเดีย และปากีสถาน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธระยะสั้น ซึ่งเริ่มขึ้น 7 พ.ค.2568 หลังจากที่อินเดียยิงขีปนาวุธโจมตีปากีสถานในปฏิบัติการทางทหารที่ใช้รหัสว่า ‘Operation Sindoor’ โดยอินเดียยืนยันว่า ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการตอบสนองต่อการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายที่เมืองพาฮาลกัมในแคชเมียร์ และทำให้พลเรือนเสียชีวิต 26 คน ทั้งนี้ อินเดียกล่าวหาปากีสถานว่า สนับสนุนการก่อการร้ายข้ามพรมแดน ขณะที่ปากีสถาน ได้ออกมาปฏิเสธ 

@@@…….หลังจากความขัดแย้งด้วยการใช้กำลังทางทหารที่กินเวลานาน 4 วัน อินเดีย และปากีสถาน ต่างก็ประกาศว่า ได้ตกลงหยุดยิงแล้วหลังจากการสื่อสารผ่านสายด่วนระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลด้านอาวุธนิวเคลียร์ของอินเดีย และปากีสถาน เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2568 รวมทั้ง JD Vance รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ Marco Rubio รัฐมนตรีต่างประเทศ ได้ติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ของทั้งอินเดีย และปากีสถานโดยตรง เพื่อให้คงการหยุดยิงไว้ต่อเนื่อง โดยเที่ยวบินพาณิชย์ ได้กลับมาดำเนินการอีกครั้ง และสถานการณ์ของทั้ง 2 ประเทศ กลับมาสู่ระดับปกติอีกครั้งอย่างน้อยก็จนถึงวันนี้ 

@@@…….อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งครั้งนี้ อินเดีย สูญเสียเครื่องบินขับไล่ชั้นนำ Rafale จำนวน 3 ลำถูกยิงตกโดยเครื่องบินรบ J-10C ติดตั้งระบบอาวุธอากาศสู่อากาศ PL-15 ของปากีสถาน นอกจากนี้ กองทัพอากาศปากีสถาน โดยเครื่องบินรบ J-10C นี้ ยังสอยทำลายเครื่องบิน Sukhoi-30 อย่างน้อย 1 ลำและ MIG-29  อีกหนึ่งลำ ในคราวเดียวกัน ซึ่งสร้างความประหลาดใจอย่างมากไปทั่วโลก และอาจหมายถึง ข่าวร้ายสำหรับอนาคตการบินรบในอากาศ Air Combat สำหรับความขัดแย้งของ 2 ค่าย ครั้งต่อไป 

@@@…….บทเรียนการสู้รบครั้งนี้ ชี้ว่า มิใช่สมรรถนะของเครื่องบิน แต่ระบบอาวุธฯ คือ ปัจจัยชี้ขาดการบินรบในอากาศ Air Combat .. ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ PL-15 คือคำตอบของจีน ต่อ AIM-120D AMRAAM ซึ่งเป็นขีปนาวุธอากาศสู่อากาศระยะกลางขั้นสูง Advanced Medium-Range Air-to-Air Missile ของสหรัฐฯ ..  ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ PL-15 มีระยะยิงไกลเกินสายตา อยู่ที่ 124-186 ไมล์ แม้ว่า PL-15 รุ่นส่งออกจะมีระยะยิง อยู่ที่ 90 ไมล์ก็ตาม ขณะที่ AIM-120D AMRAAM มีระยะยิง อยู่ที่ 70-86 ไมล์เท่านั้น …นอกจากนั้น โดยปกติ ระบบอาวุธอากาศสู่อากาศมาตรฐานที่ติดตั้งมากับเครื่องบินขับไล่ Rafale ได้แก่ ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ MICA ของฝรั่งเศส ซึ่งมีระยะยิงสั้นกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยอยู่ที่ประมาณ 37-50 ไมล์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ระบบอาวุธอากาศสู่อากาศ PL-15 ของจีนในฐานะอาวุธยิงระยะไกลเกินสายตา BVR Missiles จึงมีข้อได้เปรียบอย่างมาก ซึ่งดูเหมือนว่าจะให้ผลที่ยอดเยี่ยมในการเผชิญหน้าครั้งล่าสุดนี้อย่างเห็นได้ชัด 

@@@…….สิ่งที่เกิดขึ้นกับอินเดียในการบินรบในอากาศ Air Combat ครั้งล่าสุดนั้น ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับ NATO ซึ่งดูเหมือนจะล้าหลังในด้านเทคโนโลยี และเป็นการเตือนสหรัฐฯ ให้เร่งพัฒนาขีปนาวุธทดแทนระบบอาวุธอากาศสู่อากาศมาตรฐานของค่ายตะวันตกที่เป็นระบบอาวุธ AIM-120 AMRAAM .. ดังนั้น การตัดสินใจของไทยในการจัดหาเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงที่เป็น บ.Gripen E/F พร้อมระบบอาวุธอากาศสู่อากาศ Meteor Missile ที่มีระยะเริ่มยิงไกลกว่า 100 ไมล์ จึงเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทย ยังคงรักษาความเหนือชั้นในภูมิภาคไว้ได้ต่อไปอย่างมั่นใจสำหรับการบินรบในอากาศ Air Combat เพื่อให้ได้มาซึ่งการครองอากาศ ณ พื้นที่ และเวลาที่ต้องการจากนี้ไป ความมั่นคงของชาติด้านการป้องกันประเทศ ก็จะได้รับการประกัน

@@@…….กองทัพบก….พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้เข้าร่วมการประชุม LANPAC 2025 ณ เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา และได้ใช้โอกาสดังกล่าวในการหารือแบบทวิภาคีกับผู้บัญชาการทหารบกจากประเทศมิตร ได้แก่ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และกัมพูชา โดย พล.อ.ยาสุโน โมริชิตะ ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันตนเองทางบกญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางทหารกับไทย โดยเฉพาะการเข้าร่วมการฝึกผสม Cobra Gold อย่างต่อเนื่อง พร้อมเสนอแนวทางในการขยายการฝึกร่วมเพิ่มเติมในด้านการบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นบทบาทที่กองกำลังญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ จากประสบการณ์รับมือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอขยายความร่วมมือในด้านการฝึกปฏิบัติการพิเศษ และการต่อต้านการก่อการร้ายร่วมกัน

@@@…….พล.ท.รอย กาลิโต ผู้บัญชาการทหารบกฟิลิปปินส์ แสดงความสนใจในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ พร้อมเสนอให้มีการขยายความร่วมมือในด้านการฝึกศึกษาและการพัฒนาศักยภาพร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ขณะที่ พล.ท. ไซม่อน สจ๊วต ผู้บัญชาการทหารบกออสเตรเลีย กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกองทัพบกไทยกับกองทัพบกออสเตรเลีย ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ผ่านความร่วมมือในหลายด้าน ทั้งการแลกเปลี่ยนการเยือน การศึกษา และการฝึกร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหน่วยรบพิเศษ พร้อมทั้งยืนยันความพร้อมในการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนายทหารชั้นประทวนของไทย 

@@@……พล.อ.เมา โซ๊ะพัน ผู้บัญชาการทหารบกกัมพูชา กล่าวขอบคุณกองทัพบกไทยสำหรับความร่วมมือทางทหารที่ผ่านมา และเสนอให้มีการจัดตั้งช่องทางติดต่อสื่อสารสายตรง (Hotline) ระหว่างผู้นำกองทัพของทั้งสองประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงาน พร้อมทั้งหารือร่วมกันในประเด็นการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนตามแนวชายแดน ทั้งนี้ การประชุม LANPAC 2025  นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความเข้าใจต่อบทบาทของกองกำลังทางบกในการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกแล้ว ยังเป็นเวทีสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้นำกองทัพบกในภูมิภาค เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี และขยายความร่วมมือทางทหารในหลากหลายมิติอย่างยั่งยืนต่อไป

@@@……ตรวจเยี่ยมพื้นที่ชายแดน….พล.อ. ณัฐวุฒิ นาคะนคร รองผู้บัญชาการทหารบก/รอง ผบ.ศปก.ทบ. พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพลที่ปฏิบัติงาน ดูแลพื้นที่รอยต่อระหว่างชายแดนไทย – มาเลเซีย ณ กองบังคับการควบคุมสุริโยทัย ค่ายกัลยาณิวัฒนา ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส โดยมี พล.ต. ณรงค์ ตันติสิทธิพร ผู้บังคับการกองบังคับการควบคุมสุริโยทัย ให้การต้อนรับ โดยรองผู้บัญชาการทหารบก/รอง ผบ.ศปก.ทบ. ได้รับฟังการบรรยายสรุปภาพรวม ติดตามการปฏิบัติงานของ บก.ควบคุมสุริโยทัย 

@@@……กองบังคับการควบคุมสุริโยทัย เป็นหน่วยขึ้นตรงของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และควบคุมทางยุทธการ กับศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 4 รับผิดขอบในพื้นที่ชายแดน จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ระยะทาง 453 กม. มีภารกิจที่สำคัญคือ ป้องกันการรุกล้ำอธิปไตย รวมถึงสกัดกั้นการกระทำผิดกฎหมายทุกรูปแบบ ควบคู่กับการควบคุมพื้นที่และการบังคับใช้กฎหมาย มุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกมิติ เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งอย่างสันติสุข ตลอดจนการเฝ้าตรวจ และป้องกันพื้นที่ชายแดนที่เข้มข้น ทั้งการลาดตระเวน เฝ้าตรวจ ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ นำยุทโธปกรณ์พิเศษตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมพื้นที่ชายแดนรั้วความมั่นคงอิเล็กทรอนิกส์(CCTV) มาใช้ และติดตั้งปรับปรุงเครื่องกีดขวางไฟส่องสว่าง คลอบคลุมในพื้นที่เพ่งเล็งและเฝ้าระวัง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่

@@@……ในโอกาสนี้ รองผู้บัญชาการทหารบก/รอง ผบ.ศปก.ทบ.และคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม กองร้อยป้องกันชายแดนที่ 3 อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส รับฟังการบรรยายสรุปการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมพบปะกำลังพลที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยได้กล่าวขอบคุณและเน้นย้ำข้อห่วงใยให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และมอบสิ่งของบำรุงขวัญให้แก่กำลังพล เพื่อเสริมสร้างกำลังใจในการปฏิบัติงานและพร้อมมุ่งมั่นดูแลประชาชนในพื้นที่ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป

@@@……กองทัพเรือ….พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา ณ พระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ พระอนุสาวรีย์ฯ หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยมี นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ ราชสกุลอาภากร สมาคมภริยาทหารเรือ ตลอดจนผู้แทนหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร่วมพิธี ในการนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้อ่านคำประกาศพระเกียรติคุณแด่ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระปรีชาสามารถของพระองค์ จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนราชสกุลอาภากร ผู้แทนสมาคมภริยาทหารเรือ หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนผู้แทนหน่วยราชการนอกกองทัพเรือ ร่วมวางพวงมาลา

@@@……ต่อมาผู้บัญชาการทหารเรือ ตลอดจนผู้ร่วมพิธีทั้งหมด ได้ร่วมในพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน อุทิศถวาย พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ วิหารน้อย ภายในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยวิหารน้อย เป็นที่บรรจุ พระอังคารและพระอัฐิของพระราชโอรสและพระราชธิดา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ที่ประสูติในเจ้าจอมมารดาแพ และเจ้าจอมมารดาโหมด หลายพระองค์ รวมถึง พระอัฐิ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และปัจจุบันก็ยังคงใช้เป็นที่บรรจุ อังคารและอัฐิของสมาชิกราชสกุลอาภากรและราชสกุลสุริยง มาจนถึงปัจจุบัน

@@@……พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2423 ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาโหมด ในปีพุทธศักราช 2436 เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษอันเป็นประเทศต้นแบบของการทหารเรือ พระองค์ท่านจึงนับเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์แรก ที่ได้ศึกษาวิชา การทหารเรือในต่างประเทศ ณ เวลานั้น กิจการทหารเรือในด้านต่าง ๆ ยังมิได้มีรากฐานมั่นคง และนายทหารเรือที่เป็นคนไทยที่มีความรู้วิชาการทหารเรือมีจำนวนน้อย ต้องว่าจ้างชาวต่างประเทศมาปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยต่าง ๆ ของกรมทหารเรือ เมื่อพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษา ในปีพุทธศักราช 2443 ทรงเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ด้วยพระปณิธานอันตั้งมั่นที่จะปฏิรูป และพัฒนาการทหารเรือให้มีรากฐานที่มั่นคง เข้มแข็ง และเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ ขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการ

@@@……กรมทหารเรือ พระองค์ได้ทรงจัดระเบียบราชการกรมทหารเรือขึ้นใหม่ ส่งผลให้การปฏิบัติงานไม่ซ้ำซ้อน และการปกครองบังคับบัญชา มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทรงจัดทำโครงการป้องกันประเทศทางทะเล อันประกอบด้วยความต้องการกำลังรบทางเรือ และแนวคิดในการใช้กำลังทางเรือ ซึ่งถือเป็นแผนการทัพฉบับแรกของกรมทหารเรือ ทรงปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนนายเรือ ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และได้ทรงนำนักเรียนนายเรือ ออกฝึกภาคต่างประเทศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ซึ่งใช้กำลังพลประจำเรือที่เป็นคนไทยทั้งหมด เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ พระองค์ทรงเห็นการณ์ไกลว่าบริเวณอ่าวไทยตอนบนนั้น จุดยุทธศาสตร์ทางทะเลมที่ดีที่สุด คือ บริเวณอ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จึงทรงขอพระราชทานที่ดินที่อำเภอสัตหีบ จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยกำลังรบที่สำคัญของกองทัพเรือจนปัจจุบัน

@@@……นอกจากพระปรีชาสามารถด้านการทหารเรือแล้ว พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าตำราแพทย์แผนไทยตำรับยาแผนโบราณ และรวบรวมลงในสมุดข่อยด้วยลายพระหัตถ์พร้อมกับเขียนรูปลงสีด้วยพระองค์เอง และทรงให้การรักษาราษฎรที่เจ็บป่วยโดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ จนพระเกียรติคุณนาม “หมอพร” เป็นที่รู้จักไปทั่วทุกสารทิศ อีกทั้งทรงมีพระปรีชาสามารถด้านศิลปะ ทรงเขียนภาพลายไทยที่งามวิจิตรดังปรากฏในผนังโบสถ์วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท และทรงพระนิพนธ์บนเพลงทหารเรือที่มีเนื้อหาปลุกใจให้เข้มแข็ง เป็นการปลูกฝังนายทหารเรือให้มีความรักชาติ รักแผ่นดิน และมีความสามัคคี อันเป็นเอกลักษณ์ที่ดีงามของทหารเรือ ซึ่งยังคงขับร้องกันอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

…………..

คอลัมน์  : “Military Key”

โดย.. “รหัสมอร์ส

- Advertisment -spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img