กรมพลศึกษา จับมือ สสส. มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม พัฒนา “หลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ” กระตุ้นทักษะเคลื่อนไหว สร้างสุขภาวะที่ดีในครอบครัว
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมพลศึกษา และมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม จัดเสวนาออนไลน์พร้อมเปิดตัว ”หลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ” ระดับประถมศึกษา (ประเภทความบกพร่องทางสติปัญญา) และ “คู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) มีเป้าหมายพัฒนาทักษะทางร่างกาย เพิ่มโอกาสการเรียนรู้วิชาพลศึกษาอย่างเท่าเทียม เพื่อให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเหมือนเด็กทั่วไปในสังคม
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จำนวนคนพิการที่จดทะเบียนปัจจุบันมีประมาณ 2 ล้านกว่าคน สำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ ด้านจิตใจหรือพฤติกรรม ด้านสติปัญญา กลุ่มออทิสติก และด้านการเรียนรู้ ที่ผ่านมาพบว่า เด็กกลุ่มนี้มักไม่ได้รับบัตรคนพิการ เพราะไม่มีเอกสารทางการแพทย์รับรองความพิการตั้งแต่กำเนิด
เนื่องจากประเภทความพิการของเด็กกลุ่มนี้ไม่แสดงอาการให้เห็นทางกายภาพ จึงต้องอาศัยเวลาประเมินความพิการ ทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับบัตรคนพิการช้ากว่าคนพิการกลุ่มอื่นๆ โดยข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2564 พบเด็กที่มีความต้องการพิเศษ กลุ่มพิการด้านสติปัญญา 142,667 คน ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะพบเด็กกลุ่มนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ด้านสุขภาวะ
นางภรณี กล่าวต่อว่า สสส. ร่วมพัฒนาหลักสูตรผู้ฝึกสอนกิจกรรมทางกายฯ และคู่มือกิจกรรมทางกายฯ (ฉบับผู้ปกครอง) เพื่อทำให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษทั่วประเทศได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาพ ไม่ถูกละเลย หรือถูกเลือกปฏิบัติในรั้วโรงเรียนและสังคม โดยตั้งเป้าภายในปี 2565 ร่วมกับกรมพลศึกษาผลักดันให้เกิดการจัดการอบรมขยายในวงกว้างให้ครูในโรงเรียนเรียนร่วมได้เพิ่มเติมศักยภาพในการสอนกิจกรรมทางกายได้อย่างถูกต้องตามหลักการ จนส่งผลให้เกิดสุขภาวะกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนเรียนร่วมทั่วประเทศ และเผยแพร่คู่มือการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา (ฉบับผู้ปกครอง) ให้ถึงมือผู้ปกครองของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อผู้ปกครองจะได้มีส่วนในการพัฒนาสุขภาวะอย่างต่อเนื่องให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่บ้านต่อไป