“อรมน” เผย 4 เดือนต่างชาติลงทุนในไทย 276 ราย เงินลทุน 5.78 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% ญี่ปุ่นนำโด่ง 1.72 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นสหรัฐฯ 2.48 พันล้านบาท
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ใน 4 เดือนแรกของปี 2568 (มกราคม-เมษายน ) มีจำนวน 363 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 87 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 276 ราย เพิ่มขึ้น 110 ราย หรือ 43% เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 57,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,902 ล้านบาท หรือ 5% โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.ญี่ปุ่น 71 ราย คิดเป็น 20% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 17,255 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจจัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ธุรกิจบริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ การเปลี่ยนและทำการเชื่อมต่อท่อส่งใต้ทะเล ระหว่างแท่นหลุมผลิตในโครงการขุดเจาะน้ำมัน ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
2.สหรัฐอเมริกา 51 ราย คิดเป็น 14% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 2,485 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุน ในธุรกิจค้าปลีกสินค้า ธุรกิจบริการคลังสินค้า ธุรกิจบริการ Data Center และธุรกิจบริการรับจ้างผลิต
3.สิงคโปร์ 45 ราย คิดเป็น 12% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 9,126 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนใน ธุรกิจบริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบ ตลอดจนการฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำด้านการปฏิบัติการของงานระบบควบคุมกำกับดูแลและเก็บข้อมูลสำหรับโครงการรถไฟฟ้า ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
4.จีน 43 ราย คิดเป็น 12% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 6,471 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการดำเนินพิธีการศุลกากรในเขตปลอดอากร (Free Zone) ธุรกิจบริการให้เช่าอาคารโรงงานพร้อมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
5.ฮ่องกง 40 ราย คิดเป็น 11% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 5,766 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ธุรกิจบริการ DATA CENTER, CLOUD SERVICES และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า
สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติใน 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) มีจำนวน 108 ราย คิดเป็น 30% ของนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้น 31 ราย มูลค่า 31,363 ล้านบาท คิดเป็น 54% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศ ญี่ปุ่น 32 ราย ลงทุน 10,008 ล้านบาท จีน 25 ราย ลงทุน 3,867 ล้านบาท สิงคโปร์ 10 ราย ลงทุน 5,934 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 41 ราย ลงทุน 11,554 ล้านบาท
โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ ธุรกิจค้าปลีกสินค้าแม่พิมพ์ (Mould) ที่ใช้สำหรับผลิตชิ้นส่วนพลาสติก อุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องทำความเย็น ชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตยางรถยนต์ ธุรกิจบริการเคลือบผิวผลิตภัณฑ์โลหะ ธุรกิจบริการให้ใช้แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น เคมีภัณฑ์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับโลหะ ชิ้นส่วนเครื่องจักร ชิ้นส่วนคอมเพรสเซอร์รถยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม เป็นต้น