วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightปชช.กังวลช่วงโควิด-19 “นักการเมือง” หิวแสง-บิดเบือน-สร้างความเกลียดชัง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปชช.กังวลช่วงโควิด-19 “นักการเมือง” หิวแสง-บิดเบือน-สร้างความเกลียดชัง

ปชช.ต้องการเห็นนักการเมืองเสียสละเงินเดือนและค่าตอบแทนช่วยเหลือประชาชนจากวิกฤตโควิด-19 ยังกังวลกับความไม่จริงใจของนักการเมืองหิวแสง ที่พยายามใช้ทุกสถานการณ์แสวงประโยชน์ สร้างความเกลียดชังและทำลายกัน

เมื่อวันที่ 4 ก.ค.64 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง มาตรการ ปิดพื้นที่ควบคุมโรคที่ประชาชนต้องการ  กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพในกรุงเทพมหานครโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,068 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 – 4 กรกฎาคม 2564 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.1 ระบุปิดเฉพาะพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด กำหนดมาตรการควบคุมและกิจกรรมเฉพาะพื้นที่นั้น  รองลงมาคือร้อยละ 32.6 ระบุปิดทั้งจังหวัดและหยุดทุกกิจกรรม เพื่อควบคุมโรค โดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล ในขณะที่ ร้อยละ 3.2 ระบุ ต้องการให้ใช้มาตรการเดิมที่ผ่านมา ก่อนปิดแคมป์คนงาน และร้อยละ 1.1 ระบุอื่น ๆ เช่น ไม่มีความเห็น ไม่ทราบ เป็นต้น

เมื่อถามถึงมาตรการในการปิด-เปิดประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.5 ระบุปิดเฉพาะพื้นที่ที่แพร่ระบาด ทำให้เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ รองลงมาคือ ร้อยละ 91.3 ระบุ ปิดเฉพาะพื้นที่ที่แพร่ระบาด ทำให้ประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ ทำมาหากินต่อไปได้ ร้อยละ 89.2 ระบุ ปิดเฉพาะพื้นที่ที่แพร่ระบาด ลดความเสี่ยงการกระจายเชื้อในพื้นที่อื่น ร้อยละ 88.0 ระบุ ปิดเฉพาะพื้นที่ ช่วยลดความเหน็ดเหนื่อยของบุคลากรทางการแพทย์ ร้อยละ 82.6 ระบุ เปิดพื้นที่นำร่องที่มีความพร้อม เช่น ภูเก็ต และพื้นที่อื่นที่พร้อม คู่ควบคุมโรคเข้ม กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในและนอกพื้นที่ และร้อยละ 78.2 ระบุ เปิดพื้นที่ท่องเที่ยวขนาดใหญ่ คู่ควบคุมโรคเข้ม กระตุ้นรายได้เงินในกระเป๋าของประชาชน

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.8 เห็นด้วยต่อมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนผู้รับจ้างรูปแบบการค้า หมวดอาหารและอื่น ๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น เช่น แกร็บ ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า เคอรี่ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 9.2 ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.3 เห็นด้วยต่อมาตรการลดปัญหาเตียงผู้ป่วยไม่พอ ให้ผู้ป่วยระยะแรกรักษาตัวที่บ้านพร้อมสนับสนุนเงินรายวันต่อหัว ยา อาหารและอื่น ๆ ให้ ในขณะที่ร้อยละ 36.7 ไม่เห็นด้วย

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่ร้อยละ 98.5 ต้องการให้ ส.ส.และ ส.ว. และนักการเมืองทุกระดับ เสนอการเสียสละเงินเดือนและค่าตอบแทนช่วยประชาชนเดือดร้อนจากโควิดจนกว่าโควิด-19 จะหมดไป  อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.3 กังวลนักการเมืองฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ทางการเมืองบนความทุกข์ของประชาชน และร้อยละ 96.6 กังวลนักการเมืองปลุกปั่นอารมณ์ของประชาชนให้เกลียดชังกัน บิดเบือนทำลายกัน ไม่ช่วยเหลือกันแก้ปัญหาบ้านเมืองยามวิกฤต

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการควบคุมโรค ด้วยการปิดเฉพาะพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูง โดยกำหนดคุมเข้มมาตรการและกิจกรรมเฉพาะกลุ่มและพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ สามารถใช้ชีวิตทำมาหากินต่อไป และเศรษฐกิจของประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้และเห็นด้วยกับการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่องควบคู่ไปกับมาตรการการควบคุมโรคเข้มข้นต่อเนื่องจริงจัง ระหว่างการรอวัคซีน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะธุรกิจลูกโซ่การท่องเที่ยวซึ่งจะสามารถกระจายรายได้ลงถึงประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ และช่วยจัดเก็บภาษีจากรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนระดับฐานรากที่รับจ้างในรูปแบบการค้าภายใต้วิถีใหม่ (New Normal) ที่รัฐเข้าไปช่วยเสริมและสนับสนุน ธุรกิจหมวดอาหาร การขนส่งและอื่น ๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น เช่น แกร๊บ ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า เคอรี่ เป็นต้น รองรับสถานการณ์โควิดที่ต้องอยู่กับเราไปอีกนาน

“ที่น่าสนใจคือ ประชาชนเกือบร้อยละร้อย ต้องการให้ ส.ส.ฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล ส.ว. และนักการเมืองทุกระดับเสนอเสียสละเงินเดือนและค่าตอบแทนช่วยเหลือลดความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนจนกว่าวิกฤตโควิด-19 จะหมดไป ทั้งยังกังวลกับความไม่จริงใจของนักการเมืองหิวแสงที่พยายามใช้ทุกสถานการณ์แสวงประโยชน์ ปลุกปั่นอารมณ์ของประชาชน ด้วยข้อมูลบิดเบือน ไม่ครบถ้วน สร้างความเกลียดชังและทำลายกันในหมู่คนไทยซ้ำแล้วซ้ำอีก ในทุกยามสถานการณ์ แม้ยามบ้านเมืองวิกฤต ประชาชนเดือดร้อนทุกข์ยาก” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img