แม้จะเจือปนไปด้วยเป้าหมายการเมือง หรือ ผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจ แต่คำให้สัมภาษณ์ “นพ.บุญ วนาสิน” ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ซึ่งเปิดเผยผ่านรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ทางช่อง 3 วิกย่านพระราม 4 และอีกหลายสื่อ
กรณีการจัดหาวัคซีนโควิด-19 “โมเดอร์นาและไฟเซอร์” ให้กับโรงพยาบาลเอกชนล่าช้า สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นแวดวงทางการเมืองได้มากพอสมควร ยิ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสร้าย สูงเกินครึ่งหมื่นติดต่อกันรายวัน ทำให้หลายคนเกรงว่า สถานการณ์ประเทศจะใกล้เคียงกับอินเดีย และระบบสาธารณสุขเกิดภาวะล่มสลาย
แม้หลายคนจะรับรู้ว่า “คุณหมอคนดัง” มีคอนเนคชั่นกับ หลายพรรคการเมือง มีส่วนทำให้เกิดดีลฉาว กรณีแปลงที่ธรณีสงฆ์ให้กลายสภาพเป็น สนามกอลฟ์อัลไพน์ จนมีนักการเมืองและข้าราชการหลายคน ติดคุกติดตะราง แต่เรื่องวัคซีนซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ประชาชน ยิ่งมีหลายยี่ห้อ คนไทยย่อมมีทางเลือก ดังนั้นคำพูด “หมอบุญ” เลยกลายเป็นประเด็นขึ้นมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างออกมาชี้แจง
ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ก.ค. “นายอนุชา บูรพชัยศรี” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบจัดหาวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติม 10.9 ล้านโดส กรอบวงเงิน 6,111.41 ล้านบาท โดยใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน แบ่งเป็น การจัดซื้อ 2 เดือน โดยกรมควบคุมโรค (คร.) ดังนี้
จัดหาวัคซีนเพิ่มเติมในเดือน ก.ค. วงเงิน 3,894.8 ล้านบาท และจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมเดือน ส.ค. 2,169.96 ล้านบาท และมีค่าบริการจัดการวัคซีนและส่วนที่เกี่ยวข้องอีก 46.65 ล้านบาท สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ ครม.ได้เห็นชอบ ให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้จัดหาวัคซีนจำนวน 20 ล้านโดส โดยมอบหมายให้อธิบดีคร. เป็นผู้ลงนามในสัญญา ครม.ยังเห็นชอบการจัดทำความตกลงกับประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อรับมอบวัคซีนไฟเซอร์ที่บริจาคมาให้ประเทศไทย ไฟเขียว องค์กรเภสัชกรรม (อภ.) ลงนามซื้อโมเดอร์นา
นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบให้ อภ. เป็นตัวกลางในการจัดหา วัคซีนโมเดอร์นา กับ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด และมอบหมายผู้อำนวยการ อภ.เป็นผู้ลงนามในสัญญา พร้อมกับรับข้อสังเกตจาก สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ไปดำเนินการให้เหมาะสมกับการเจรจาเช่นเดียวกัน
ขณะที่ “นพ.บุญ” ได้ออกแจกแจงปมการจัดหาวัคซีน ระบุตอนหนึ่งว่า “โรงพยาบาลของบริษัทธนบุรีฯ หรือ เครือโรงพยาบาลธนบุรี ได้วางแผนตั้งแต่เดือนต.ค.63 เพื่อนำเข้าวัคซีน 4-5 ชนิด จำนวน 50 ล้านโดส แต่รัฐบาลบอกว่าต้องซื้อขายผ่านรัฐต่อรัฐ และ ห้ามซื้อวัคซีน 5 ชนิด ที่รัฐบาลจะสั่งซื้อ จึงเหลือเพียง 3 ยี่ห้อที่เอกชนซื้อได้ คือ โมเดอร์นา ไฟเซอร์ และ โนวาแวกซ์ แต่ต้องซื้อผ่านอภ.”
อีกตอนหนึ่งอ้างว่า “ในไทม์ไลน์การสั่งซื้อวัคซีน หากเซ็นสัญญาแล้ว ผู้ผลิตจะต้องใช้เวลาอีก 4 เดือน จึงจะส่งถึงประเทศที่สั่งวัคซีนได้ หากไม่ติดเงื่อนไขรัฐบาล บริษัทธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด ก็พร้อมซื้อโมเดอร์นาและไฟเซอร์ 50 ล้านโดส ตั้งแต่ต.ค.63 โดยได้เตรียมพร้อมทุกอย่างเรียบร้อย เพียงแต่รัฐไม่ยอมเซ็นให้ เพราะต้องซื้อแบบรัฐต่อรัฐ เอกชนจึงไม่สามารถสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกได้ และรอจนถึงวันนี้”
อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนไปดูข่าวเก่าจะพบว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหา วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงแต่งตั้ง “นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร” เป็นประธาน โดยมี “นพ.บุญ วนาสิน” เป็นตัวแทนภาคเอกชน ร่วมอยู่ด้วย เพื่อหารือถึงแนวทางให้ได้ข้อสรุปภายใน 30 วัน
คำถามที่มีคือ ทำไม “นพ.ปิยะสกล” ถึงไม่ออกมาแถลงความคืบหน้าในเรื่องนี้ อีกทั้ง “นพ.บุญ” ก็ร่วมเป็นคณะกรรมการชุดนี้ จะไม่รับรู้รายละเอียดเลยหรือว่า บทสรุปเป็นอย่างไร??? หรือเป็นเพราะไม่เอื้อประโยชน์โรงพยาบาลเอกชน ส่งผลให้คุณหมอคนดังต้องออกมาโวย
ด้าน “นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์” ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวถึงดำเนินการเรื่องวัคซีนทางเลือกของอภ.ว่า วัคซีนจะแบ่งเป็นวัคซีนที่รัฐจัดหา จะมีอยู่ 5 ยี่ห้อคือ แอสตร้าเซนเนก้า, ซิโนแวค และเพิ่มเติมอีก 3 ยี่ห้อคือ ไฟเซอร์, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, สปุตนิกไฟว์ ส่วนที่มีโรงพยาบาลเอกชน 2 แห่งระบุว่า สามารถติดต่อซื้อวัคซีนจากบริษัทโมเดอร์นาได้โดยตรงนั้น จะต้องติดต่อผ่าน บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ตัวแทนบริษัทนำเข้าวัคซีคโมเดอร์นาเท่านั้น ซึ่งอภ.เป็นเพียงตัวแทนภาครัฐที่จะนำมาขายต่อให้กับเอกชน
ผู้บริหารอภ. บอกอีกว่า ได้รับทราบว่าวัคซีนโมเดอร์นา จะมาเร็วก่อน 1 ไตรมาส คือไตรมาส 4 ของปี 2564 เนื่องจากวัคซีนตัวนี้ ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ จึงทำให้ได้รับมอบช้า เพราะเราต้องทำงานคู่ขนานกับ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ที่มีโรงพยาบาลทั่วประเทศประมาณกว่า 300 โรงพยาบาล เพื่อรวบรวมความต้องการวัคซีนและเงิน ซึ่งล่าสุดมีความต้องการเสนอมา 9 ล้านโดส โดยคาดว่าจะได้รับมอบวัคซีนภายในปีนี้ 4 ล้านโดส และที่เหลือจะมาต้นปีหน้า
“คือเหตุผลที่ว่าทำไมอภ.ยังไม่เซ็นสัญญาสักที เพราะเราต้องรอให้โรงพยาบาลเอกชนรวบรวมเงินมาก่อนที่จะเซ็นสัญญา หากไปเซ็นสัญญาโดยที่ความต้องการไม่มีอยู่จริง อภ.จะรับผิดชอบไม่ไหว เพราะเป็นวัคซีนราคาแพง เราจึงได้วางแผนไว้ว่าจะเซ็นสัญญาบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ภายในต้นสัปดาห์ของส.ค.”
ถ้าตีความคำพูดผู้บริหาร อภ. ความไม่พร้อมในการจัดซื้อ “วัคซีนทางเลือก” น่าจะเกิดจากภาคเอกชน โดยเฉพาะยอดการจอง และเม็ดเงินที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทผลิตตัวยาสำคัญ ตอกย้ำด้วยข้อมูลระดับฮาร์ดคอร์ภาครัฐ “นายเสกสกล อัตถาวงศ์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาตอบโต้นพ.บุญ โดยระบุว่า คนในวิชาชีพหมอ ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่น่ายกย่อง ยกมือไหว้ได้ เพราะรักษาชีวิตผู้คน ยกเว้นหมอบางจำพวก ที่แท้จริงเป็นนายทุน เป็นนักแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ
น่าเสียใจที่หมอบุญ ซึ่งเป็นนักธุรกิจหลายประเภท ทั้งอสังหาริมทรัพย์ ทั้งโรงพยาบาลเอกชน ได้ออกมาให้ข้อมูลที่บิดเบือน เจตนาจะทำให้คนเข้าใจผิด ในการทำงานของภาครัฐ และการจัดหาวัคซีน ซึ่งก็ดูแลโดยทีมหมอที่ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ในยามนี้
พร้อมทั้งยังไล่เรียงไทม์ไลน์ แจกแจงให้เห็นว่าภาครัฐไม่ได้ล่าช้า เริ่มตั้ง…
25 ก.พ.64 ก่อนการระบาดใหญ่ อภ.ติดต่อตรงไปแสดงความจำนงไปยัง บริษัทโมเดอร์นา ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อสั่งจองวัคซีนกว่า 5 ล้านโดส พร้อมสอบถามความเป็นไปได้ว่า จะได้ทัน มิ.ย. 64 หรือไม่
28 ก.พ.64 อภ. ได้รับคำตอบกลับมาว่า ซัปพลายมีจำกัด เนื่องจากมีความต้องการสูงมาก ทำให้สามารถส่งได้เร็วสุด คือ ไตรมาสแรกของปีหน้า (ม.ค.-มี.ค.65)
1 เม.ย.64 อภ.สอบถามเพิ่มเติมว่า Moderna ได้ตั้งบริษัทใดเป็น Authorized dealer เนื่องจากมีผู้แสดงตัวว่า สามารถนำวัคซีนเข้าให้ไทยได้มากกว่า 2 ตัวแทน
2 เม.ย.64 บริษัทโมเดอร์นา ได้แจ้งว่า อยู่ระหว่างการเจรจากับ “บริษัท ซิลลิค” (Zuellig Pharma LTD.) แต่เพียงผู้เดียว และหวังว่า จะสรุปสัญญากับ ซิลลิค ให้เร็วที่สุด
15 พ.ค.64 บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ได้ออกแถลงการณ์ว่า “การจัดซื้อวัคซีนของโมเดอร์นา ต้องจัดซื้อผ่านตัวแทนภาครัฐเท่านั้น ในที่นี้ คือ อภ. เนื่องจากเป็นข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลเอกชน จัดส่งความต้องการวัคซีนจริง พร้อม “วางเงิน” เพื่อให้อภ. สั่งวัคซีนจากบริษัท ซิลลิค ตัวแทนจัดหน่ายวัคซีน Moderna ในประเทศไทย
2 ก.ค.64 อภ.ได้รับเอกสารจากฝั่งของซิลลิค เพื่อแนบไปให้สำนักงาน อสส. ซึ่งต้องย้ำ “เพิ่งได้รับเอกสาร” วันที่ 2 ก.ค. หลังจากวันที่ “นพ.บุญ” ออกมาพูด ไม่ใช่ว่าภาครัฐเพิ่งทำหลัง “นพ.บุญ” โจมตี แต่ภาครัฐ เจรจามาโดยตลอด เพื่อขอให้ได้วัคซีนมาเร็วที่สุด แต่ฝ่ายเอกชนเพิ่งส่งเอกสารมาภายหลัง เช่นเดียวกับวัคซีนไฟเซอร์ ลงนามใบจองไปแล้ว 20 ล้านโดส เร่งให้ได้ของเร็วที่สุดแล้ว คือ ไตรมาส 4 ปีนี้ ร่างสัญญาจะเข้า ครม.
“ถ้าหมอบุญ…ใจบุญต่อประเทศชาติและคนไทยจริง ทำไมไม่เร่งให้ผู้ผลิตวัคซีน ทั้งโมเดอร์นา ทั้งไฟเซอร์ รีบดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ รวมทั้งขอขึ้นทะเบียน อย. เพิ่งมาขอขึ้นทะเบียนภายหลัง ซึ่งทางการไทยก็ดำเนินการให้อย่างรวดเร็วที่สุด”
“ขอย้ำว่าเพิ่งได้รับเอกสารวันที่ 2 ก.ค. หลังจากวันที่ นพ.บุญ ออกมาพูด ไม่ใช่ว่าภาครัฐเพิ่งทำหลัง นพ.บุญ โจมตี แต่ภาครัฐเจรจามาโดยตลอด เพื่อขอให้ได้วัคซีนมาเร็วที่สุด แต่ฝ่ายเอกชนเพิ่งส่งเอกสารมาภายหลังเช่นเดียวกับวัคซีนไฟเซอร์ ลงนามใบจองไปแล้ว 20 ล้านโดส เร่งให้ได้ของเร็วที่สุดแล้ว คือ ไตรมาส 4 ปีนี้”
แต่ที่หนักหน้าสาหัส และคุณหมอคนดังต้องตอบให้ได้คือ…ถ้าหมอบุญใจบุญจริง เมื่อ อภ. ประกาศจะขายวัคซีนโมเดอร์นา ให้โรงพยาบาลเอกชน ราคา โดสละ 1,100 บาท (ราคารวมรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าขนส่ง ค่าประกันภัยรายบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)
โรงพยาบาลเอกชนก็ไม่ควรจะนำไปขายต่อในราคาที่มีส่วนต่างมากเกินไป อย่างโรงพยาบาลเอกชนของหมอบุญ ก็แจ้งว่า จะคิดบริการรวมค่าฉีดวัคซีน 1,700 บาท ต่อโดส ประกาศรับชำระค่าวัคซีนทางเลือกก่อนแล้วด้วย มีส่วนต่างราคาที่รับมาจากอภ.ถึงโดสละ 600 บาท จำนวน 5 ล้านโดส ก็คือส่วนต่าง 3,000 ล้านบาท
“การเป็นหมอของหมอบุญ อย่านึกถึงแต่ผลประโยชน์ธุรกิจตัวเองมากเกินไป เดี๋ยวจะเสียหมอเป็นเสียหมามากกว่า”
ใครตามการเมืองบ้านเราก็คงรู้ว่า ปมจัดหาวัคซินโควิดป้องกันเชื้อไวรัสร้าย ต้องกลายเป็นประเด็นสำคัญในศึกซักฟอกรัฐบาลแน่ๆ โดยเฉพาะเรื่องราคา และกระบวนการจัดหา แต่ถ้าโรงพยาบาลเอกชนชิง เล่นบท…หากินกับส่วนต่าง
บางทีสมการอาจเปลี่ยนทิศ ทำให้คนไทยอาจได้รู้ว่า ไม่ว่าหมอหรือคนอาชีพไหนก็ตาม มักหนีไม่พ้น กับการเข้าไปพัวพันกับผลประโยชน์ได้ทั้งนั้น
………………………………..
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย “แมวสีขาว”