วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS'บิ๊กตู่'เปิดไทม์ไลน์-เลือกอปท. ขอยึด'เก้าอี้สร.1'ถึงปี 65
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘บิ๊กตู่’เปิดไทม์ไลน์-เลือกอปท. ขอยึด’เก้าอี้สร.1’ถึงปี 65

ยิ่งอยู่นาน ”นายกฯลุงตู่” ยิ่งโชว์ความเขี้ยวมากขึ้นเรื่อยจริง ๆ หลังจากก่อนหน้านี้หลายฝ่ายประเมินว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ ”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ดูเหมือนจะมีแรงกดดันที่ถาโถมเข้าใส่มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทำไปทำมาหัวหน้ารัฐบาล ก็ใช้วิธีถอยบ้างรุกบ้าง จนลดผลกระทบ ซึ่งเกิดจากปัญหาต่างๆได้มากพอสมควร

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเคลื่อนไหวของม็อบนักศึกษาและเยาวชน แถมระยะหลัง กลุ่มที่ใช้ชื่อ ”คณะราษฎร” ยิ่งเคลื่อนไหว ยิ่งออกทะเล ออกมหาสมุทร แทนที่จะกดดันฝ่ายบริหาร กลับถูกมองว่า ไม่เข้าจารีตประเพณีของไทย และยังสุ่มเสี่ยงกับการล่วงละเมิดสถาบัน

​จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เมื่อมีข่าวระบุไม่กี่วันที่ผ่านมา ในระหว่างการหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ”พล.อ.ประยุทธ์” ได้แจ้งให้เพื่อนร่วมงานทราบว่า นอกจากจะไม่ขัดขวางกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ยังขอทำงานในฐานะผู้นำรัฐบาลไปจนถึงปี 65

จากนั้นสอบถาม เพื่อนร่วมงานต่างพรรคว่า พร้อมจะสนับสนุน และร่วมกันทำงานต่อหรือไม่ ซึ่งเกือบทุกพรรคร่วมรัฐบาลต่าง ๆ ยืนยันว่า พร้อมสนับสนุน ”บิ๊กตู่” ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้ ยกเว้น ”นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ” รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไม่ได้ตอบรับหรือแสดงท่าทีปฏิเสธ เพียงแต่ก้มหน้า

ดังนั้นเมื่อประเมินเสียงสนับสนุนของเพื่อนร่วมงาน และรัฐบาลไม่ได้เจอคลื่นใต้น้ำ หรือมรสุมถาโถมแบบรุนแรง เป้าหมายของผู้นำฝ่ายรัฐบาลที่วางไว้ จึงไม่น่ามีปัญหา แถมยังได้รับการสนับสนุนจาก ”บุคคลสำคัญ” และผู้นำกองทัพ หลังจากขบวนการจาบจ้วงสถาบัน พยายามสร้างความปั่นป่วนและเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ภายหลังการประชุมครม. 6 ต.ค. ทางรัฐบาลก็ออกมาเปิดเผยว่า จะไฟเขียวให้มีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นตั้งแต่ปลายปี 63 ไปจนถึงตลอดปี 64 ซึ่งส่งผลทำให้บรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆแสดงอาการตอบรับทันที เนื่องจากที่ผ่านมาได้ว่างเว้นในการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น มาเกือบ 6 ปีเต็ม  หลังจากมีการยึดอำนาจเมื่อปี 57

โดย.”นายอนุชา บูรพชัยศรี” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ครม.เห็นชอบให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 จังหวัด โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งตามความเหมาะสม หลังจากที่ได้รับแจ้งจาก ครม.ภายใน 60 วัน

ทั้งนี้ปัจจุบันสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งทั่วประเทศแล้วในเดือน พ.ค.61 แต่ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และประกาศ คสช.ที่เกี่ยวข้อง

​โฆษกรัฐบาล กล่าวอีกว่า  ส่วนความพร้อมของสำนักงาน กกต. ได้แก่ 1.ออกระเบียบและประกาศ กกต.แล้ว 2.ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งของ อบจ.ครบทุกแห่ง และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 3.ดำเนินการสรรหา กกต.ประจำ อปท.ครบทุกอปท.แล้ว 4.ดำเนินการอบรมผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ อปท. และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ จำนวน 10,749 คน ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วในเดือนก.ย.63

มีรายงานข่าวระบุว่า ในหว่างการประชุม ครม. ”พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา”เลขาธิการ กกต. ได้ชี้แจงถึงความพร้อมในการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยนำเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 5 ประเภท ได้แก่ อบจ., อบต., เทศบาล, เมืองพัทยา และกทม. พร้อมระบุว่า กกต.มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งทุกประเภทแล้ว

ขณะที่ ครม.ได้เห็นชอบให้จัดการเลือกตั้ง อบจ.ก่อน เพราะมีความพร้อมในเรื่องของงบประมาณ ที่จะใช้จำนวน 3,200 ล้านบาท และการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเป็นลำดับถัดไปคือ เทศบาลและเมืองพัทยา ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะให้ทั้งสองประเภทนี้จัดพร้อมกันหรือไม่จากนั้นจะมีการจัดการเลือกตั้ง อบต. และปิดท้ายด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่ยังมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการมีอยู่สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) เนื่องจากการเลือกตั้งแต่ละประเภทต้องทิ้งระยะห่างกัน 45-60 วัน ทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เร็วที่สุดอาจจะอยู่ช่วงปลายปี 2564

นอกจากนี้ในที่ประชุม ”นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ได้แสดงความเห็นว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และการทำประชามติ จะส่งผลกระทบให้การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องเลื่อนออกไปด้วย รวมถึงจะทำให้รัฐบาลมีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่ ”พล.อ.ประยุทธ์” ได้ออกมาขยายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า กกต.ได้รายงานที่ประชุม ครม.ถึงการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งนี้มีเรื่องของความจำเป็นในเรื่องของโควิด-19 และงบประมาณต่าง ๆ ที่เตรียมไว้ระดับหนึ่งแล้ว โดยมติ ครม.ให้มีการเลือกตั้งอบจ.ก่อนเป็นอันดับแรก

เพราะมีความพร้อมมากสุด ทั้งนี้จะต้องมีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน คาดว่าเลือกตั้ง อบจ.ได้ในเดือน ธ.ค.63 โดยวันเลือกตั้ง กกต.จะเป็นคนกำหนด และในปีหน้าจะทยอยเลือกตั้งประเภทอื่น ๆ ต่อไป โดยต้องเตรียมการในเรื่องของงบประมาณต่าง ๆ ของปี 64

​อย่างไรก็ตาม ”พ.ต.อ.จรุงวิทย์” ได้ออกมากล่าววถึงไทม์ไลน์ในการเลือกตั้งท้องถิ่นหลังครม.มีมติให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่า เรื่องวันเลือกตั้งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกกต.จะเห็นว่าวันใดเหมาะสมระหว่างวันที่ 13 ธ.ค. หรือ 20 ธ.ค.63 แต่มีความเป็นไปได้ ที่จะเป็นวันที่ 20 ธ.ค.เนื่องจากวันที่ 13 ธ.ค.เป็นช่วงวันหยุดยาว ซึ่งอาจจะมีความชัดเจนขึ้นหลังประชุมกกต.ในวันที่ 12 ต.ค.นี้

โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรก หลังใช้บังคับกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับใหม่นี้ กกต.ก็จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง รวมถึงวันรับสมัครของนายกและสมาชิกอบจ. เป็นวันเดียวกันทั้ง 76 จังหวัดเพื่อสะดวกในการบริหารจัดการ และหลังจากที่กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งก็จะเริ่มนับหนึ่งในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งจะจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ส่วนนายกและสมาชิกอปท.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีตามกฎหมายกำหนด

ดังนั้นถ้าจะบอกว่า การเปิดทางให้มีการเลือกตั้งอปท. จะช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อรัฐบาลไปได้มากพอสมควร เพราะต่อจากนี้ไปบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็จะได้วางจัดเตรียมผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง เนื่องจากตัวแทนประชาชน ที่ทำงานในระดับท้องถิ่น มีผลต่อคะแนนนิยมของพรรคการเมือง และส่งผลต่อการเลือกตั้งระดับชาติ และยังมีบทบาทสำคัญ ในการดูแลงบประมาณพัฒนาท้องถิ่น

และถ้าในที่สุดสมาชิกรัฐสภาสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ตั้งส.ส.ร ยิ่งจะช่วยต่ออายุให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อ ซึ่งอาจอยู่ไปได้ถึงปี 65 ตามที่ตั้งใจไว้ ก่อนจะส่งต่อตำแหน่งนายกฯ ให้……..

​​​​​​​​​​………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก #แมวสีขาว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

ว่าด้วยเรื่อง พัฒนา“พุทธมณฑล”

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img