มาตรการ #ล็อคดาวน์เข้มข้น ขึ้นตามลำดับตามสำหรับควบคุมและป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่แตะระดับหลักหมื่นติดต่อกันเกือบสัปดาห์แล้ว
โดยเฉพาะในที่ประชุมครม. 20 ก.ค.64 มีข้อเสนอไปถึง “ศปก.ศบค.” ให้ศึกษามาตรการล็อคดาวน์ในต่างประเทศ เพื่อถอดบทเรียนนำมาปรับใช้ในประเทศไทย
พร้อมยกตัวอย่าง เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มาตรการเข้มชนิดงดเข้า-ออกเมืองเด็ดขาด และเสริมใยเหล็กโดยล็อคดาวน์แบบ Stay Home
ขณะที่ประเทศเยอรมนี ล็อคดาวน์ภายใต้อนุญาตให้ประชาชนออกไปจับจ่ายสินค้าในห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตได้ตามเวลาที่กำหนด และก่อนใช้บริการทุกครั้งจะถูกตรวจสอบไวรัสแบบเร็ว หรือ Rapid Antigen Test
ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไวรัสกลายพันธุ์ที่ยังคงทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย สุ่มเสี่ยงเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข จำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลายลงโดยเร็ว
มาตรการที่เตรียมออกมาเพิ่มจะลงรายละเอียดยกระดับล็อคดาวน์ งดเข้า-ออกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ภายใต้เงื่อนไขให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุดและควบคุมการแพร่ระบาดได้มีประสิทธิภาพ
อาทิ เปิดสถานที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค และก่อนเข้าบริการประชาชนต้องผ่านระบบคัดกรองประชาชนด้วยการตรวจด้วยชุดตรวจสอบไวรัสแบบเร็วก่อนเข้าใช้บริการ
หวังรับมือไวรัสกลายพันธุ์ให้ได้ในช่วงประเทศไทยเผชิญหน้ากับความท้าทายในระดับสูง และเสริมมาตรการในอนาคตเร่งจัดหาวัคซีนปี 65 จำนวน 120 ล้านโดส ให้ครอบคลุมไวรัสกลายพันธุ์
อีกปัญหาที่ใหญ่และกำลังเร่งแก้ไข คือ สถานที่ฌาปนกิจร่างผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 บางวัดมีร่างไร้วิญญาณเข้าคิวสู่เชิงตะกอน เผาทั้งวันจนมีข่าวเมรุแตก ชำรุด
สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ผู้เสียชีวิตไม่ถึงวันละ 100 ราย แต่ในช่วงสัปดาห์นี้ มีผู้เสียชีวิตพุ่งถึงวันละ 100 รายติดต่อกัน มีโอกาสสูงเกิดปัญหาผู้เสียชีวิตค้างในโรงพยาบาล
“บางวันผู้เสียชีวิต 100 ราย อีกไม่นานจะเกิดปัญหาผู้เสียชีวิตค้างในโรงพยาบาล หากวัดที่มีจำนวนมากช่วยนำร่างผู้เสียชีวิตไปเผา ก็จะไม่ค้างที่โรงพยาบาล” นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ระบุ
ยังดีที่นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้นัดหารือแนวทางฌาปนกิจร่างผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กับผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทุกจังหวัด
ได้ข้อสรุปตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาและกำหนดแนวทางช่วยเหลือประชาชนเรื่องนี้โดยด่วน ทั้งจัดงบประมาณสำหรับซื้อชุดพีพีอีให้พระและสัปเหร่อในการจัดฌาปนกิจร่างผู้เสียชีวิตจากโควิด-19
รวบรวมรายชื่อวัดที่มีความพร้อมรับสงเคราะห์ฌาปนกิจผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และประสานแจ้งโรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสานขอฉีดวัคซีนให้พระ สัปเหร่อและผู้ปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดอย่างเร่งด่วน
จังหวะนี้ “ราษฎรเต็มขั้น” ขอให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาและกำหนดแนวทางการช่วยเหลือประชาชนฯ สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และรัฐบาล ควรออกแบบหลักสูตรมาตรฐานในการฌาปนกิจร่างผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพื่อติวเข้มพระและสัปเหร่อ
พร้อมสำรวจเมรุของวัดทั่วประเทศที่มีความพร้อมรับสงเคราะห์ฌาปนกิจผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อสำรวจสภาพความพร้อมสรรพและออกแบบพิมพ์เขียวเตาเผาเมรุที่ได้มาตรฐานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยต้องขีดเส้นตายนับวัดทุกวัดห้ามก่อสร้างเตาเผาใช้ถ่านไม้ ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งอยู่ตามวัดชนบท และเตาเผาที่ใช้น้ำมัน ซึ่งอยู่ตามวัดในชุมชนที่ไม่หนาแน่น
แล้วหันไปส่งเสริมสร้างเตาเผาที่ใช้น้ำมันหรือก๊าชเป็นเชื้อเพลิง ควบคุมมลพิษได้ดี และเตาเผาที่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีประสิทธิภาพควบคุมมลพิษในระดับพรีเมียม เพื่อลดฝุ่นจิ๋วพีเอ็ม 2.5 ที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศทุกปี และลดมลพิษทางอากาศที่สำคัญเป็นการเนรมิตฌาปนสถานส่งดวงวิญญาณของมนุษย์จากภพโลกไปสู่อีกภพภูมิ
……………….
คอลัมน์ : ไขกุญแจ/ไขแหลก
โดย…..“ราษฎรเต็มขั้น”