วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSตั้งรับไม่ไหว-“บิ๊กตู่”ขันน็อต เพิ่มยาแรงจัดการ“เฟคนิวส์”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ตั้งรับไม่ไหว-“บิ๊กตู่”ขันน็อต เพิ่มยาแรงจัดการ“เฟคนิวส์”

ต้องยอมรับว่า ในยุคโซเชียลมีเดีย ปัญหา “ข่าวปลอม” หรือ “เฟคนิวส์ : FakeNews” รุนแรงมากโดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนในสังคม แบ่งขั้ว-เลือกข้างทางการเมือง ค่อนข้างชัดเจน

ยิ่งช่วงที่การเมืองขับเคี่ยวกันรุนแรง ก็จะยิ่งเห็นชัดเจนว่า เฟคนิวส์ ยิ่งทวีปริมาณและเนื้อหาที่รุนแรงมากขึ้น

ส่วนในช่วงโควิดที่ผ่านมา ปีกว่าๆ ในประเทศไทย ก็มีรายงานจากหน่วยงานรัฐ-บางองค์กรที่ติดตามเรื่องเฟคนิวส์ ก็ให้ข้อมูลว่า เฟคนิวส์ก็มีมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงที่ปัญหาโควิดรุนแรง จากเรื่อง…

“วัคซีน-คนป่วย-คนตาย”

จนมีกระแสความไม่พอใจรัฐบาลสูง และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล เพราะพบว่า ยิ่งเกิดเฟคนิวส์ตามมาพอสมควร จนบางครั้งกลายเป็นดราม่าทางการเมืองไปหลายชั่วโมงในโลกโซเชียลมีเดีย แต่เมื่อตรวจสอบแล้วว่า ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นการสร้างเรื่อง เติมแต่งข้อมูล เฟคนิวส์นั้นก็กระจายไปไกลแล้ว จนเกิดกระแสดราม่าทางการเมืองตามไปโดยปริยาย  

เรื่องที่เกิดขึ้น ฝ่ายรัฐบาล-ศบค.-กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม-กระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมา ถูกมองว่าอยู่ในลักษณะ “ตั้งรับ” มาตลอด แม้จะมีกฎหมายอยู่ในมืออย่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่มีการเอาผิดกับการผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน โทษคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่พบว่า ยังคงมีการผลิต-เผยแพร่ข่าวปลอม…ออกมาตลอดเวลา โดยที่ฝ่ายรัฐบาลก็ถูกมองว่า ทำงานชักช้า ไม่ทันการ แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยนำปัญหาเฟคนิวส์ ไปหารือในที่ประชุมครม. และตกเป็นข่าวมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการจริงจัง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดิจิทัลฯ ยังตามไม่ทันกับการจัดการกับเฟคนิวส์ ที่ต้องแยกให้ออกจากเรื่องของการแสดงความเห็นทางการเมือง-การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยใช้ข้อเท็จจริง

จนมีเสียงกระตุกจากหลายฝ่ายเตือน “พล.อ.ประยุทธ์” หลายรอบว่า หากยังประมาท ชะล่าใจเรื่อง “สงครามข่าวสาร” โดยเฉพาะ “การบริหารข้อมูลข่าวสารในสภาวะวิกฤติ” ในช่วงโควิด ถ้ายังมัวแต่ตั้งรับ สุดท้าย ก็อาจบานปลาย จนพ่ายแพ้ทางการเมืองได้

อย่างเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดีอีเอส ฝ่ายการเมือง” ออกมาเปิดเผยกับสื่อไว้ถึงผลการมอนิเตอร์ “ข่าวปลอม” ช่วง 18-22 ก.ค.ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดีอีเอส พบว่า มีข้อความที่ต้องคัดกรองทั้งสิ้น 8,246,481 ข้อความ ในจำนวนนี้พบข้อความที่เข้าเกณฑ์ต้องดำเนินการตรวจสอบ 145 ข้อความ เป็นจำนวนเรื่องที่ต้องตรวจสอบทั้งหมด 79 เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับโควิด-19 มากถึง 50 เรื่องและเมื่อดูจากปริมาณข้อความเบาะแสข่าวปลอม พบสิ่งน่าสนใจว่า ประชาชนจะเผชิญกับเนื้อหาบนโซเชียล/โลกออนไลน์ที่มีแนวโน้มอยู่ในกลุ่มข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือน เฉลี่ยวันละมากกว่า 1 ล้านข้อความต่อวัน!

เมื่อสถานการณ์ข่าวปลอมหนักขึ้นเรื่อยๆ และมีเสียงเตือนรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้ เพราะมองว่า ถึงหากรัฐบาลทำงานตั้งใจแก้ปัญหาโควิดอย่างเต็มที่ แต่สื่อสารไม่เป็น ไม่เข้าเป้าไม่พอ ยังมาเจอปัญหาเฟคนิวส์ ถล่มรัฐบาลเข้าไปอีก สิ่งที่รัฐบาลทำมา…ก็สูญเปล่า

อาจเพราะเสียงเตือนดังกล่าวเริ่มมีมากขึ้น ขณะเดียวกัน กระแสนิยมในตัวพล.อ.ประยุทธ์ช่วงนี้ ตกลงไปมาก จากเรื่องการแก้ปัญหาโควิด ยิ่งมาโดนฝ่ายไม่ชอบรัฐบาล เล่นสงครามเฟคนิวส์ โดยเฉพาะดราม่า “คนป่วย-คนเสียชีวิต” โดยรัฐบาลทำได้แค่ “ไล่ตาม เช็คบิล” แต่ไม่มีการทำงานเชิงรุกในเรื่องข้อมูลข่าวสาร

มาถึงจุดนี้เลยน่าจะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ อยู่เฉยไม่ได้เสียแล้ว

ท่าทีการขยับของพล.อ.ประยุทธ์ในเรื่อง “การจัดการเรื่องข่าวปลอม” จึงออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หลังการประชุมครม. ที่นายกฯแจ้งเรื่องการจัดการกับข่าวปลอมไว้ ผ่านเฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” โดยมีเนื้อหาโดยสรุปก็คือ การประกาศจะ “ใช้ยาแรง-ยกระดับ” กับการจัดการเรื่องเฟคนิวส์อย่างจริงจัง

ท่าทีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า Fake News กลายเป็นปัญหาสำคัญ ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในสังคมเป็นอย่างมาก มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือการจงใจตัดต่อบิดเบือนคำพูดเพื่อสร้างความเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก ทั้งจากสื่อมวลชน ผู้มีชื่อเสียง และผู้ใช้สื่อทั่วไป

แต่ที่เป็นประเด็นก็คือ ท่าทีของนายกฯ ที่ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า…

“ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปอท. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ศปก.ศบค. ร่วมปรึกษาหารือกันอย่างเร่งด่วน ในการนำเอาข้อกำหนดข้อที่ 11 จากประกาศฉบับที่ 27 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าด้วยเรื่องการห้ามบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร มาเป็นแนวปฏิบัติของมาตรการที่ชัดเจน”

พร้อมทั้งย้ำว่า ให้กระทรวง DES, ปอท., สตช. ดำเนินการในแนวปฏิบัติจากมาตรการนี้อย่างจริงจังและรวดเร็วยิ่งขึ้น ชัดเจน โปร่งใส เป็นธรรม

“ดำเนินคดีกับคนผิดได้จริงๆโดยเฉพาะผู้ปล่อยรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน คนดัง หรือเพจต่างๆ ไม่ใช่จับแค่ชาวบ้านทั่วไปเท่านั้น”

เท่านั้นเอง ก็มีปฏิกิริยาต่างๆ ตามมาทันที ทั้งจากแวดวง สื่อสารมวลชน-นักกฎหมาย-นักวิชาการด้านสื่อ-องค์กรสื่อวิชาชีพ รวมถึงนักการเมืองฝ่ายค้าน ที่จ้องหาทุกประเด็นผสมโรงด่ารัฐบาลอยู่แล้ว ก็ไม่พลาดที่จะเอาเรื่องนี้มาถล่มรัฐบาลตามไปด้วย

ต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านี้ ตอนช่วงรัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ เคอร์ฟิว แล้วมีการออกข้อกำหนดมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ซึ่งในข้อกำหนด ข้อ 11 ที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าเนื้อหาในข้อกำหนดดังกล่าว ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามาอย่างรุนแรงอยู่ก่อนแล้ว ว่าเป็นการออกข้อกฎหมายที่เหมือนกับต้องการ “ปิดปาก” ประชาชน-สื่อมวลชน…หรือไม่

เพราะข้อกำหนดข้อ 11 ที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯดังกล่าว มีเนื้อหาเชื่อมโยง สรุปสาระสำคัญได้ว่า “มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน” โดยมีข้อความกำหนดไว้ว่า การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 แห่งพรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ อันมีโทษคือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะวงการสื่อมวลชนวิจารณ์กันมากก็คือ ข้อกำหนดในส่วนที่ระบุว่า…

หากเป็นการทำให้ “เกิดความหวาดกลัว”

เพราะเกรงกันว่าจะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐ สามารถเอาผิดตามพรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯได้ นักกฎหมาย-สื่อมวลชน-นักวิชาการบางฝ่าย จึงแสดงท่าทีเชิงห่วงกังวลว่า เป็นการเขียนข้อกำหนดแบบเปิดกว้าง จนอาจทำให้มีการเอาผิดกับบุคคลหรือสื่อ ที่เสนอข่าวสาร วิพากษ์วิจารณ์เรื่องเกี่ยวกับโควิด-วัคซีน แล้วฝ่ายรัฐบาลไม่พอใจ จนอาจใช้มาตรา 11 มาจัดการควบคุม หรือเอาผิดได้ โดยอ้างว่าเป็นการสร้างความหวาดกลัว

จึงไม่แปลกที่จะมีความเห็นจากนักกฎหมาย-องค์กรสื่อฯ เช่น 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ อาทิ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แสดงท่าทีตั้งข้อกังขา ถึงข้อกำหนดดังกล่าว และต่อมา “องค์กรวิชาชีพสื่อ” จับมือกันออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพประชาชนและสื่อมวลชนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ก็ไม่ได้มีท่าทีใดๆ ออกมาจากรัฐบาล

จนกระทั่งเมื่อนายกฯมาส่งสัญญาณเข้มจัดการเฟคนิวส์ เลยทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องขอบเขตของข้อกำหนดที่อาจเปิดช่องให้เจ้าหน้ารัฐ เหวี่ยงแห-เอาผิด คนบางกลุ่มที่ต้องการแสดงความเห็นโดยสุจริต ไม่ได้เป็นเรื่องเฟคนิวส์ แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่พอใจ เลยกลับมาเป็นประเด็นถูกพูดถึงอีกครั้ง 

ยิ่งเมื่อช่วงค่ำวันพฤหัสบดีที่ 29 ก.ค. ก็มีราชกิจจาประกาศ ออกมาอีกหนึ่งฉบับ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ข้อมูลข่าวสาร อีกเช่นกัน โดยมีเนื้อหาโดยสรุปก็คือ เป็นเรื่องการควบคุมเฟกนิวส์ที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะ “สื่ออินเตอร์เน็ต”

“1.ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

2.กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารตามข้อ 1 ในอินเตอร์เน็ต ให้ กสทช. แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเตอร์เน็ตตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมทุกรายทราบ และให้ผู้รับใบอนุญาตังกล่าวทุกราย มีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมาจากเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดตามที่ กสทช.ทราบและให้ระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address) นั้นทันที และให้ กสทช.ส่งรายละเอียดตามที่ได้รับแจ้งให้แก่ สำนักตำรวจแห่งชาติ(ตร.)โดยเร็วเพื่อดำเนินคดีต่อไป”

ดร.มุนินทร์ พงศาปาน

มันเลยยิ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับต่อท่าทีดังกล่าวของนายกฯตามมาทันที เช่น ความเห็นนักกฎหมายอย่าง “ดร.มุนินทร์ พงศาปาน” คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวตามมาในคืนวันที่ 29 ก.ค.ทันที…

“นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 โดยมีข้อห้ามแบบเดิมอีก ทำให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของรัฐบาลว่าต้องการห้ามการนำเสนอข้อมูลใดๆ ที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะ “จริง” หรือ “เท็จ” หากบังคับใช้กฎหมายในแนวทางนี้ การนำเสนอข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคระบาดไม่ว่าจะทำโดยสื่อมวลชน บุคคลทั่วไป แม้แต่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะกระทำมิได้เลย เนื่องจากข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคระบาดไม่ว่าในแง่มุมใด ก็อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวได้ด้วยกันทั้งสิ้น

เห็นได้ชัดว่าต้องการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการที่ผิดพลาดของรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ใช้สิทธิและเสรีภาพโดยสุจริต ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 29 นี้ จึงควรปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตน ด้วยการร้องขอให้ศาลยุติธรรมประกาศว่า กฎหมายลำดับรองฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ”

และต่อมาวันศุกร์ที่ 30 ก.ค. ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ก็ได้ไปพบ อนุชา บูรพชัยศรี” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยตัวแทนองค์กรสื่อย้ำว่า องค์การสื่อมองว่า หน่วยบังคับใช้กฎหมายอาจใช้เป็นโอกาสในการตีความเจตนารมณ์นำไปสู่การปิดกั้นการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน หรือการแสดงความเห็นของประชาชน จึงแสดงข้อห่วงใยดังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรีและย้ำว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเห็นด้วยกับรัฐบาล ที่สกัดกั้นข่าวปลอมไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง

ภายใต้คำชี้แจงจาก “โฆษกประจำสำนักนายกฯ” ที่สรุปได้ว่า ข้อกำหนดที่ออกมาสองครั้ง เป็นเพียงการปิดช่องว่างของกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบัน เพื่อสกัดกั้นการเผยแพร่ข่าวปลอม ไม่ได้เจาะจงหรือตั้งใจบังคับใช้กับสื่อมวลชนวิชาชีพ

ขณะที่ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเช่นกันในโซเชียลมีเดีย เช่น ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลและต้องการให้รัฐบาลใช้ยาแรงจัดการกับเฟคนิวส์ ก็มีการวิจารณ์หลังเห็นการขยับขององค์กรสื่อว่า หากสื่อไม่ได้เผยแพร่ข่าวปลอม-เฟคนิวส์ แล้วจะกลัวอะไร เพราะหากมีใครไปกลั่นแกล้ง ยัดข้อหา สื่อก็ฟ้องประชาชนได้ รวมถึงหากมีการเอาเรื่อง จนคดีไปถึงอัยการ-ศาล ถ้าสื่อไม่ได้ทำผิด ยังไง…ก็น่าจะสู้คดีจนชนะได้ 

ทั้งหมด คือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากท่าทีอันขึงขังของพล.อ.ประยุทธ์ในเรื่อง “การจัดการกับข่าวปลอม”

จุดสำคัญของเรื่องนี้คือ สังคมต้องแยกให้ออก ระหว่าง “ข่าวเฟคนิวส์” ที่บิดเบือนข้อเท็จจริง มีเจตนาในทางไม่สุจริตใจ มีการผลิตข่าวสารข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อต้องการทำให้เกิดความสับสน เกิดความเข้าใจผิดในสังคมและผู้รับสาร กับ “ข่าวจริง-ข้อเท็จจริง” ข้อวิพากษ์วิจารณ์ในทางสุจริต ตรงไปตรงมา แม้บางเรื่องเช่น การเสนอข้อมูลเรื่องประชาชนติดโควิด อาจทำให้สังคมตกใจกันบ้างแต่ถ้าเป็นความจริง ข้อมูลจริง สื่อก็ต้องเสนอได้ รวมถึงการแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ที่สื่อและประชาชน ย่อมต้องวิจารณ์และตรวจสอบรัฐบาลได้

ดังนั้น เฟคนิวส์กับข่าวสาร ความเห็นที่เป็นความจริง ย่อมแตกต่างกันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

หากแต่ละฝ่าย ยึดในหลักการนี้ ที่ห่วงกันว่า จะมีการใช้กฎหมาย ข้อกำหนดมาปิดปาก เหวี่ยงแห จัดการกับประชาชนหรือสื่อมวลชน ก็น่าจะเบาใจได้ เว้นเสียแต่จะมีใคร เมาอำนาจ จนทำสิ่งที่หลายคนเป็นห่วง ให้เกิดขึ้นจริง

……………………………….

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img