คณบดีศิริราช ถอดบทเรียนต่างประเทศโควิด พันธุ์เดลตาระบาดซ้ำติดเชื้อพุ่ง เผยหลักฐานชัดแพร่เร็วกว่า อัลฟา 60% รุนแรง ชี้สหราชอาณาจักรพบฉีดวัคซีนติดเชื้อได้ แถมปริมาณเชื้อในลำคอเทียบเท่าคนไม่ฉีดวัควีน
เมื่อวันที่ 10 ส.ค.64 นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงสถานการณ์โรคโควิด -19 ว่า สหประชาชาติเตือนว่าขณะนี้สายพันธุ์เดลต้ากระจายไป 132 ประเทศ ทั่วโลกติดเชื้อเพิ่มเป็น 5-6 แสนรายต่อวันจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า อัตราการเสียชีวิตเพิ่งเริ่มขึ้นแต่ไม่มาก ปัจจัยสำคัญคือการฉีดวัคซีน สหรัฐอเมริกากลับมามีการติดเชื้อต่อวันหลักแสนรายอีกครั้งแต่เสียชีวิตไม่ถึง 500 ราย เชื่อมาจากการฉีดวัคซีน ซึ่งฉีกไปกว่า 350,627,188 โดส ฉีด1 เข็ม 58.5% ฉีดครบ 50.1%
ขณะที่สหราชอาณาจักรมีประชากรใกล้เคียงกับไทย ปัจจุบันมีการแพร่ของเชื้อเดลตากว่า 90 % ข้อมูล วันที่ 23 ก.ค. 3,692 คน มีการตรวจสายพันธุ์พบว่า 60% เป็นคนที่ยังไม่ฉีด 23% ฉีดแล้ว วัคซีนที่ฉัดมากที่สุดคือไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนกา ปัจจุบันมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ส่วนประเทศอิสราเอลมีการฉีดวัคซีน 11.5 ล้านโดส 64% ฉีด 1 เข็ม 59.6% ฉีดครบโดส ปัจจุบันมีการติดเชื้อหลักพัน แต่ติดเชื้อต่ำมาก
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สรุปเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา ไม่เพียงแพร่ระบาดรวดเร็วอย่างเดียว แต่แพร่เร็วกว่าอัลฟ่า 60% และมีหลักฐานว่ารุนแรงกว่าเดิม โดยเฉพาะคนที่ไม่ฉีดวัคซีน และเริ่มพบอาการรุนแรงในกลุ่มคนอายุน้อยลง ซึ่งมีหลายปัจจัย แต่หลายประเทศมองว่าส่วนหนึ่งเพราะคนสูงอายุฉีดวัควีนแล้ว ประกอบกับธรรมชาติของไวรัสทำให้อาการรุนแรงด้วย ประเทศไทยก็เหมือนกัน พบคนอายุน้อยมีอาการมากขึ้นโดยเฉพาะโรคอ้วน ทั้งนี้ขอย้ำว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน ยังติดและแพร่เชื้อได้
อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนให้มาก แต่ไม่ควรเป็นข้อบ่งชี้ในการยกเลิกมาตรการดูแลตัวเอง ทั้งสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ทั้งนี้พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของคนจำนวนมาก ต้องระวัง ประเทศใดก็ตามที่แพร่ ระบาดหลายหมื่นคนต่อวัน หลายครั้งมองย้อนหลังพบการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ เพราะทุกครั้งที่ส่งจากคนหนึ่งไปคนหนึ่ง เชื้อมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าโชคร้ายจะกลายเป็นสายพันธุ์ที่แพร่เร็วกว่าเดิม และรุนแรงกว่าเดิม ศึกโควิดไม่รู้จริงๆ ว่าปลายทางอยู่ตรงไหน ไม่รู้เทคโนโนยีจะตามทันหรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่ประชาคมโลกต้องช่วยกัน เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะปลอดภัยโดยที่ประเทศอื่นยังระบาดเป็นไปไม่ได้ เพราะมีการเดินทาง และส่งของข้ามประเทศ มีโอกาสนำเชื้อไปได้
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า หากมาตรการกระชับจริง คู่กับการฉีดวัคซีนตามเป้ามากกว่า ร้อยละ 25 ภายในเดือน ส.ค.นี้ คาดว่าเดือน ก.ย.-ต.ค. เป็นช่วงที่ตัดกันของผลที่เกิดจากวัคซีน น่าจะเห็นตัวเลขที่ลดลงชัดเจน ถ้าตัวเลขลดได้จริง รวมถึงปลายปี มีวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส เชื่อว่ายื้อต่อไปถึงวัคซีนรุ่น 2 ในปี 2565 สำหรับไทยในขณะนี้ ยังไม่ถึงจุดพีคของการระบาด เพราะตัวเลขทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด กราฟขึ้นด้วยความชันที่ลดลง แต่กราฟยังไม่ลดลง