นายกรัฐมนตรี จี้ทุกหน่วยงานเร่งจัดการ ‘ขยะติดเชื้อ’ พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้วิธีการทิ้งอย่างถูกต้อง
เมื่อวันที่ 12 ส.ค.น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ห่วงใยสถานการณ์ขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีความต้องการใช้หน้ากากอนามัยสูงขึ้น เป็นที่มาของขยะติดเชื้อ
โดยนายกรัฐมนตรี กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งล้อม กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ให้ปฏิบัติตามมาตรการจัดเก็บและกำจัดขยะติดเชื้อ อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง เพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชาชน ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อันเกิดจากขยะดังกล่าว
และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงวิธีการทิ้งขยะติดเชื้ออย่างถูกต้องตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ตามมาตรการการจัดเก็บอย่างเคร่งครัด มีระบบการป้องกันอย่างรัดกุม ก่อนจะไปถึงปลายทางคือกระบวนการทำลาย ซึ่งต้องทำอย่างถูกต้องตามขั้นตอน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้รายงานปริมาณขยะติดเชื้อพบว่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลย้อนหลัง 5 วัน พบปริมาณขยะติดเชื้อ ดังนี้ วันที่ 10 สิงหาคม มีปริมาณขยะติดเชื้อรวม 125,072 กิโลกรัม เป็นมูลฝอยติดเชื้อทั่วไป 61,114 กิโลกรัม มูลฝอยติดเชื้อโควิด 63,958 กิโลกรัม, วันที่ 9 สิงหาคม มีปริมาณ 118,150 กิโลกรัม เป็นมูลฝอยติดเชื้อทั่วไป 60,161 กิโลกรัม มูลฝอยติดเชื้อโควิด 57,989 กิโลกรัม, วันที่ 8 สิงหาคม มีปริมาณ 126,700 กิโลกรัม มูลฝอยติดเชื้อทั่วไป 70,380 กิโลกรัม มูลฝอยติดเชื้อโควิด 56,320 กิโลกรัม, วันที่ 7 สิงหาคม มีปริมาณ 109,070 กิโลกรัม เป็นมูลฝอยติดเชื้อทั่วไป 67,113 กิโลกรัม มูลฝอยติดเชื้อโควิด 41,957 กิโลกรัม และ วันที่ 6 สิงหาคม มีปริมาณ 112,310 กิโลกรัม มูลฝอยติดเชื้อทั่วไป 68,386 กิโลกรัม มูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 43,924 กิโลกรัม
ทั้งนี้รัฐบาลจึงขอความร่วมมือจากประชาชน ให้คัดแยกขยะติดเชื้อตั้งแต่ต้นทาง สำหรับการทิ้งหน้ากากอนามัย ให้พับแล้วใช้สายรัดพันให้แน่น นำหน้ากากอนามัยใส่ถุงแล้วรัดปากถุงให้แน่น เพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อ เขียนกำกับบนถุงว่าขยะติดเชื้อ ทิ้งลงถังรองรับหน้ากากอนามัยใช้แล้ว (ถังสีส้ม) เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่ทันทีหลังทิ้งหน้ากากอนามัย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนชุดตรวจ ATK กระทรวงสาธารณสุข แนะนำวิธีกำจัด ไว้ 2 กรณี 1) ชุมชนที่มีระบบการเก็บขยะติดเชื้อ ให้เก็บรวบรวมขยะติดเชื้อเป็นประจำทุกวัน โดยใส่ถุงขยะ (ถุงแดง) 2 ชั้น มัดปากถุงชั้นในและชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ ก่อนเคลื่อนย้ายไปไว้ยังจุดพักขยะที่จัดไว้เฉพาะ เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป และ 2) ชุมชนที่ไม่มีระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ ให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกที่บรรจุมูลฝอยติดเชื้อแล้ว ให้ราดด้วยสารฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ จากนั้นมัดปากถุงให้แน่นแล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ ซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงอีกครั้ง จากนั้นให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อนำไปกำจัดต่อไป