“ไอติม พริษฐ์”ลั่น ถึงเวลาประเทศไทยต้องมี “ผู้ตรวจการกองทัพ”จี้หยุดใช้เงินภาษีประชาชนไปทำนักรบไซเบอร์ ชี้การอวยรัฐบาล ตอบโต้คนเห็นต่างไม่ใช่หน้าที่ทหาร
เมื่อวันที่ 2 ก.ย.นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม อดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า เขียนบทความทางเฟซบุ๊ก ย้ำแนวคิดการตั้งผู้ตรวจการกองทัพ โดย ระบุว่า
หยุดใช้เงินภาษีไปทำ “นักรบไซเบอร์” – ตั้งผู้ตรวจการกองทัพ ตรวจสอบทหารแทนประชาชน
การอภิปรายของ ส.ส.ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ เมื่อคืนที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่เปิดเผยการทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation หรือ ไอโอ) ของกองทัพ โดย ส.ส.ณัฐชาอ้างจากข้อมูลหลักฐานว่า ปฏิบัติการดังกล่าวมีการทำอย่างเป็นระบบ (เช่น สั่งการผ่านหนังสือราชการ ติดตามและรายงานผลต่อผู้บังคับบัญชาอย่างสม่ำเสมอ) ใช้กำลังพล และงบประมาณจากภาษีประชาชนในการดำเนินการ จุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล และตอบโต้/ลดทอนคุณค่าความเห็นของผู้เห็นต่าง (จากรัฐบาล) ในเวลาเดียวกัน
มีบางคนที่พยายามปกป้องรัฐบาลและกองทัพโดยการบอกว่า IO ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เหมือนกับคนทั่วไปที่แสดงความเห็นชื่นชมรัฐบาล แต่ประเด็นที่ต้องชี้ให้เห็นคือ การแสดงความเห็นของ IO กองทัพนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่มาจากการจัดตั้งโดยใช้ทรัพยากรของประเทศ ปัญหาของ IO กองทัพจึงอยู่ที่
1. ปฎิบัติการ IO เป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนไปดำเนินการ ไม่ได้ใช้เงิน เวลา หรือทรัพยากรส่วนตัว
2. การอวยผลงานรัฐบาล หรือ ตอบโต้คนเห็นต่าง ไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพ หากอ้างว่าทำไปเพื่อความมั่นคงของรัฐ ก็ต้องบอกย้ำว่าความมั่นคงของรัฐบาลเป็นคนละสิ่งกับความมั่นคงของรัฐ
แม้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมจะชี้แจงแล้วว่า เอกสารที่ ส.ส.ณัฐชา แสดงในสภานั้น “มีเอกสารที่ไม่เป็นเอกสารจริง” แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการนำงบประมาณไปใช้ในปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร รวมถึงไม่ได้ชี้แจงให้ประชาชนคลี่คลายความกังวลว่าการใช้งบประมาณในเรื่องนี้ เหมาะสม-โปร่งใสหรือไม่
นอกจากใช้งบประมาณไปกับเรื่องที่ดู “ไม่ใช่หน้าที่” แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่น กองทัพยังขึ้นชื่อเรื่องการเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบยาก มีเอกสาร “ลับ” อยู่ไม่น้อย ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลก็ทำได้ลำบาก หลายครั้งที่หลักฐานเล็ดลอดออกมาจึงเป็นเพราะ “คนใน” แอบส่งให้ ทั้งที่จริง หากหน่วยงานยึดความโปร่งใสเป็นพื้นฐานในการทำงาน เจ้าหน้าที่จะไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นเลย
ในเมื่อความหวังให้กองทัพปฏิรูปตัวเอง อาจมีความเป็นไปได้น้อย กลไกหนึ่งที่อาจช่วยกระตุ้นและเป็นทางออกของเรื่องนี้ คือการจัดตั้ง “คณะผู้ตรวจการกองทัพ” เป็นตัวแทนของประชาชนเข้าไปตรวจสอบการทำงานของกองทัพ โดยอำนาจหลักๆ อาจครอบคลุมไปถึง
1. การตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม หรือที่ไม่ตรงกับหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ
กองทัพมีหน้าที่รักษาความมั่นคงของรัฐภายใต้รัฐบาลพลเรือน แต่ปัจจุบันเราเห็นกองทัพใช้ทรัพยากรหลายอย่างไปทำสิ่งที่ไม่เข้าข่ายหน้าที่หลักข้อนี้
นอกจากการทำ IO เพื่อชื่นชมผลงานรัฐบาล อีกตัวอย่างหนึ่งคือการที่กองทัพใช้ทหารเกณฑ์มาทำหน้าที่เป็นพลทหารรับใช้ให้กับนายทหารที่มียศสูงกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย กองทัพไทยยังมีการกระทำอื่นที่ขัดกับหลัก “กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน” เช่น การที่ผู้นำทหารแสดงออกทางการเมืองในที่สาธารณะ หรือการทำรัฐประหาร
2. ตรวจสอบการใช้งบประมาณกองทัพ ที่อาจไม่โปร่งใสหรือมีการทุจริต
ข้อมูลบางส่วนของกองทัพเป็นสิ่งที่เข้าถึงยากกว่าหน่วยงานอื่น อาจด้วยประเด็นเรื่อง “ความมั่นคง” ที่มักถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้าง – ผู้ตรวจการกองทัพจึงควรมีหน้าที่ตรวจสอบว่างบประมาณทุกบาทที่ถูกใช้ ไม่มีเรื่องการทุจริต หรือใช้ไปอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งรวมถึง
– การตรวจสอบงบประมาณรายจ่าย (แม้งบของกองทัพในปีงบประมาณ 2565 ในภาพรวมลดลงเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่น แต่ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าทุกบาทถูกใช้อย่างคุ้มค่า – เช่น งบการจัดหายุทโธปกรณ์ เพิ่มเป็น 4,937 ล้านบาท จากเดิมปีงบ 2564 อยู่ที่ 3,132 ล้านบาท ซึ่งต้องตรวจสอบว่าการจัดงบประมาณแบบนี้ จำเป็นหรือไม่ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศ)
– การตรวจสอบรายได้ของกองทัพ เพราะนานมาแล้วที่อำนาจทางการเมืองของกองทัพได้แปรไปเป็นอำนาจในการครอบครองทรัพยากรของชาติ โดยปัจจุบันมีธุรกิจในการดูแลของทหาร (อย่างน้อย) 15 ธุรกิจ เช่น สถานีโทรทัศน์ สนามม้า สนามกอล์ฟ (อ.สุรชาติ บำรุงสุข เรียกว่า “เสนาพาณิชย์นิยม” หรือ military commercialism) ซึ่งสร้างความมั่งคั่งส่วนบุคคลแก่ทหารบางนาย และทำให้เกิดคำถามตามมาว่า รายได้จากธุรกิจเหล่านี้ถูกนำมาพัฒนากองทัพมากเพียงใด
– การตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้าง โดยให้ผู้ตรวจการกองทัพเข้าไปนั่งอยู่ตลอดกระบวนการ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่ล็อกสเปค หรือเอื้อผลประโยชน์ให้ใคร
3. สืบสวนเรื่องร้องเรียนกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน
แทบทุกปีที่มีข่าวพลทหารเสียชีวิตในค่าย ทั้งทหารที่ถูกเกณฑ์ และ ทหารที่สมัครใจเข้าไป (เช่น กรณีการเสียชีวิตของ นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ “น้องเมย” นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1)
สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะพลทหารไม่ทราบว่าควรร้องเรียนไปที่ใคร เพราะไม่ไว้วางใจผู้บังคับบัญชา หรือ เกรงว่าร้องเรียนไปแล้วเรื่องก็อาจจะเงียบ – การมีผู้ตรวจการกองทัพ ช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
4. ปกป้องผู้ออกมาเปิดโปง (Whistleblower protection)
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองคนพูดเปิดโปง หรือ Whistleblower protection เหมือนในต่างประเทศ หลายคนจึงอาจกังวลถึงความปลอดภัยหากจะออกมาเปิดเผยเรื่องการทุจริต (เช่นเดียวกับผู้ที่เปิดเผยข้อมูลให้ ส.ส.ณัฐชา)
ตัวอย่างหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา มีกฎหมาย Military Whistleblower Protection Act ที่วางกลไกคุ้มครองบุคลากรในกองทัพให้ชี้เบาะแสการทุจริตได้โดยไม่ถูกกองทัพขัดขวางหรือกลั่นแกล้ง เช่น ห้ามถูกเปลี่ยนตำแหน่งหรือโยกย้าย ห้ามถูกข่มขู่หรือคุกคาม ห้ามถูกขัดขวางความก้าวหน้าทางอาชีพ
นอกจากการวางขอบเขตอำนาจหน้าที่ให้ครอบคลุม “ผู้ตรวจการกองทัพ” จะต้องมีอีก 2 คุณสมบัติที่สำคัญ คือ
(1) มีความยึดโยงกับประชาชน – คณะผู้ตรวจการกองทัพอาจเป็น ส.ส. เอง (จากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน) หรือ คนที่ ส.ส. แต่งตั้ง และ มีความเชี่ยวชาญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทหารหรือกองทัพ
(2) เป็นอิสระจากกองทัพ – สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดโดยไม่ถูกปิดกั้น ไม่ถูกกองทัพแทรกแซงการทำงาน และ รายงานผลการสอบสวนหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐสภาและประชาชนโดยไม่ผ่านกองทัพ
จากการศึกษาตัวอย่างของรูปแบบผู้ตรวจการกองทัพในประเทศอื่นๆ (เช่น Wehrbeauftragter des Bundestages (WB) ของประเทศเยอรมัน หรือ Canadian Military Ombudsman ของประเทศแคนาดา) พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ตรวจการกองทัพ คือการมีสถานะทางกฎหมายที่ถูกระบุอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติ จึงเป็นเหตุผลที่เราใส่เรื่อง “ผู้ตรวจการกองทัพ” เข้าไปในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่ม Re-Solution
ตลอดเวลากว่า 2 ปี พรรคฝ่ายค้านอภิปรายถึงปฏิบัติการ IO ของกองทัพถึง 3 ครั้ง คงเป็นสัญญาณที่ชัดเจนเพียงพอแล้วว่าบทบาทของกองทัพในปัจจุบัน ได้ไถลออกนอกเส้นทางที่ควรเป็นไปมากเพียงใด ข้อเสนอ “ผู้ตรวจการกองทัพ” (หรือกลไกอื่นที่เป็นอิสระจากกองทัพ และทำหน้าที่เพื่อจุดประสงค์เดียวกันนี้) จึงควรเป็นฉันทามติของทุกพรรคการเมืองที่ไม่อาจทนเห็นประเทศไทยผลาญงบประมาณไปกับ “นักรบไซเบอร์” ที่สร้างสมรภูมิปลอมๆ ขึ้นมาสู้กับประชาชนในประเทศ แบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้อีกต่อไป
แม้กระทั่งสำหรับกองทัพเอง หากไม่ต้องการถูกครหาจากสังคมด้วยชื่อเรียกที่ไม่ชวนฟัง (เช่น สถาบันอำนาจนิยม หรือ แดนสนธยา) และต้องการพิสูจน์ให้คนภายนอกองค์กรเชื่อมั่นในความโปร่งใส ความรับผิดชอบในการดำเนินงาน และความมุ่งมั่นในการปฏิรูปองค์กรตัวเองให้มีความเป็นมืออาชีพ ผมไม่เห็นเหตุผลใดที่กองทัพจะต้องปฏิเสธข้อเสนอ “ผู้ตรวจการกองทัพ”
เพราะข้อเสนอนี้ จะเป็นเพียงการทำให้กองทัพพร้อมถูกตรวจสอบจากภายนอก อย่างที่ปกติควรจะเป็นในประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แถมจะทำให้กองทัพในฐานะหน่วยงาน หรือทหารในฐานะอาชีพหนึ่ง ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนมากขึ้น และเป็นโอกาสเติมศักยภาพการทำงานเพื่อ “ความมั่นคง” ที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน