เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทิศทางการใช้พลังงานในอนาคตหลายประเทศได้มุ่งไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาดกันมากขึ้น
การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าก็เริ่มมีบทบาทต่อการเดิน ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 คนก็เริ่มให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น หลายบริษัทได้ปรับตัวตามเทรนด์ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง
IRPC เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ได้ปรับตัวตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการใช้ชีวิตของผู้คน โดยเตรียมปรับแผนการลงทุนใหม่
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการลงทุนใหม่ระยะ 5 ปี (2564-2568) ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ของ IRPC ที่จะเริ่มใช้ในปี 2564 คือ การเป็นองค์กรที่ “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว (To Shape Material and Energy Solutions in Harmony with Life)” ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยแผนการลงทุนระยะ 5 ปีที่ปรับใหม่นั้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนมากกว่า 36,000 ล้านบาท
ซึ่งคาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด IRPC) และบอร์ดปตท.ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้การปรับแผนลงทุนใหม่นั้นจะมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ธุรกิจใหม่เพิ่มเป็น 25% ภายในปี 2568 และเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2573
ทั้งนี้การวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน EBITDA ของธุรกิจใหม่นอกจากสร้างการเติบโตของธุรกิจใหม่แล้วยังเป็นการลดสัดส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันด้วย เพื่อลดความเสี่ยงธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี ที่มีความผันผวนด้านราคา
“เร่งขยายการลงทุนธุรกิจใหม่”
สำหรับการลงทุนในธุรกิจใหม่ได้มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty) ที่สามารถรองรับความต้องการใช้งานทางการแพทย์ อาทิ การสร้างสรรค์นวัตกรรมเม็ดพลาสติก พีพี เกรด เมลต์โบลน (PP Melt blown: Polypropylene Melt blown) วัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ตลอดจนการมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ โดยเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถรองรับความต้องการกลุ่มนวัตกรรมทางการเกษตร ได้แก่ ซิงค์ออกไซด์นาโน (ZnO NANO) ที่พัฒนาต่อยอดมาจากซิงค์ออกไซด์ (ZnO) ทำให้มีขนาดเล็กระดับอนุภาคนาโน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุอาหารเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของพืชได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มผลิตผลทางการเกษตรและปลอดภัยต่อทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม
สำหรับการสร้างสรรค์ด้านการใช้พลังงานนั้น IRPC จะขยายผลธุรกิจในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานแห่งอนาคต ทั้งพลังงานทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน เช่น วัสดุเคลือบแผงโซลาร์เซลล์ลดความร้อน และอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรองให้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ตลอดจนการปรับปรุงกระบวนการผลิตโรงกลั่นน้ำมันให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมากขึ้น
“เล็งซื้อกิจโครงการใหญ่ต่อยอดธุรกิจ”
นอกจากนี้แล้วยังมุ่งเน้นการลงทุนซื้อกิจการ (M&A) หรือการร่วมลงทุนกับพันธมิตร (JV) ทั้งที่เป็นการลงทุนใหม่ และธุรกิจที่พัฒนาอยู่แล้ว หรือการลงทุนกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ของ IRPC เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมกับมองหาโอกาสลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านอาหาร ด้านสุขภาพ และยา
อย่างไรก็ตามการทำดีล M&A นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา 2-3 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไม่ใหญ่มาก มีทั้งโครงการที่อยู่ในไทยและต่างประเทศ โดยในปีนี้คาดว่าจะมีข้อสรุปในส่วนของการร่วมลงทุนการผลิตถุงมือยางสังเคราะห์ ซึ่งจะเป็นการร่วมลงทุนกับ ปตท. และพันธมิตรคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้
ขณะเดียวกันบริษัทก็มีแผนลงทุน ในโครงการโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซล (Ultra Clean Fuel Project: UCF) ขนาดกำลังการกลั่น 75,000 บาร์เรลต่อวัน ใช้งบลงทุน 13,300 ล้านบาท โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่กำหนดให้จำหน่ายน้ำมันดีเซลในประเทศตามมาตรฐาน Euro V ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อลดปัญหาฝุ่นมลภาวะ รวมถึงลดปัญหา PM 2.5 และสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว