แม้จะมีใครบางคนประเมินว่า ศึกซักฟอกที่เพิ่งผ่านพ้นไป จะส่งผลทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องบอบช้ำไม่ใช่น้อย ยิ่งถ้าไปไล่เรียงดูคะแนนไว้วางใจ ซึ่งติดอันดัยรองบ๊วยได้ 264 คะแนน ส่วนคะแนนไม่ไว้วางใจ ยังสูงถึง 208 คะแนน ติดอันดับหนึ่งจากบรรดารัฐมนตรที่ถูกอภิปราย
แต่อย่าลืมว่า เมื่อญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านพ้นไป นายกฯและรัฐมนตรี ได้คะแนนเสียงไว้วางใจเกินครึ่ง นั่นหมายความอำนาจต่อรอง “หัวหน้ารัฐบาล” จะกลับมาสูงขึ้น แม้ปัญหาความขัดแย้งในรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการศึกซักฟอกจะจบลง จะอยู่ที่พรรค “พลังประชารัฐ” (พปชร.) ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งมี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ รับบทหัวหน้าพพรรค ส่วน “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค
ก่อนหน้านั้น มีการปั่นกระแสไปถึงขั้น พปชร.จะจับมือ “บรรดาพรรคเล็กๆ” งดออกเสียงไม่ไว้วางใจ หวังบีบให้ “นายกฯลูงตู่” พ้นจากผู้กุมอำนาจในฝ่ายบริหาร ผลักดัน “พล.อ.ประวิตร” ให้เข้ามาทำหน้าที่นายกฯ โดยพปชร. จะไปจับมือกับ “เพื่อไทย” (พท) โดยมีสมาชิกวุฒิสภาฯบางส่วนให้การสนับสนุน ท่ามกลางกระแสข่าวการเดินเกมของ “คนแดนไกล” ซึ่งใช้นักการเมืองบางกลุ่ม สื่อบางค่าย และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่เป่าหมายที่วาดหวังไว้
ขณะที่ “ร.อ.ธรรมนัส” ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าว เป็นหนึ่งในขบวนการล้มนายกฯว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุชัดเจนว่า 1 เสียงของส.ส.คือเสียงจากประชาชน ส.ส.รู้จักคิด รู้จักทำว่าควรจะทำอะไร ไม่สามารถไปครอบงำอะไรได้ มติพรรคจะให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ เพราะผิดรัฐธรรมนูญ พรรคพปชร.ไม่มีอย่างนั้น
ใครมาถามก็บอกไปว่า ดูแล้วกัน และให้ตัดสินใจเอง ตนไม่ได้ถูกใช้ให้มาล็อบบี้ใคร ไม่ว่าจะให้ช่วยรัฐบาลหรือไปรับรองพรรคอื่น ให้มาช่วยหรือโหวตคว่ำใครคนใดคนหนึ่ง คนเต้าข่าวไม่ใช่ฝ่ายค้าน พรรคฝ่ายรัฐบาล ไอ้ห้อยไอ้โหนทั้งหลาย ชอบเลียแข้งเลียขาสำเหนียกซะบ้าง ผมรู้หมดแล้ว บางคนบันทึกเทปไว้หมดแล้ว ระวังเดี๋ยวเจอกัน พร้อมทั้งยืนยันว่า ไม่ได้คุยกับนายกฯ ตนคุยกับหัวหน้าพรรค
แม้สิ่งที่ เลขาธิการพปชร. ให้ความเห็น จะเป็นการพูดไปตามหลักการ แต่กลับถูกตั้งข้อสังเกตุว่า มีท่าทีแตกต่างจากศึกซักฟอกที่ผ่านมา โดยเฉพาะการออกมาระบุว่า จะไม่คุยกับหัวหน้ารัฐบาล จะหารือกับหัวหน้าพรรคพปชร. เพียงเท่านั้น ยิ่งกลายเป็นเรื่องแปลก อย่าลืม “พล.อ.ประยุทธ์” มีสถานะเป็นหัวหน้ารัฐบาล เปรียบเสมือนผู้บังคับบัญชารัฐมนตรี
หากวันหนึ่งเกิดมีเพื่อนร่วมงานในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ยอมพูดจาด้วย ถามว่า การทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งทำหน้าที่ดูแลความเป็นไปของประเทศ จะเดินหน้าไปได้อย่างไร แม้สิ่งที่ “ร.อ.ธรรมนัส” ออกมาให้ความเห็น จะต้องการบ่งบอก ชี้ใหเห็นถึงความสำคัญของ “บิ๊กป้อม”
หรือหวังเอาใจสมาชิกพรรคพปชร. ที่ไม่พอใจหัวหน้ารัฐบาล ทั้งเรื่องการ ดึงโค้วต้ารัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ ไปอยู่ที่การตัดสินใจของตัวเอง การไม่ยอมพบปะพํดคุยกับบรรดาสมาชิกพรรคแกนนำรัฐบาล จนตกอยู่ในสภาพขาลอย เช่นเดียวกับพี่รองแห่งบูรพาพยัคฆ์ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย ที่ใครเรียกกันติดปากว่า “บิ๊กป๊อก” ซึ่งก็ถูกวิจารณ์ในทางลบเช่นเดียวกัน
แต่เหนือสิ่งอื่นใด การออกมาเล่นบทท้าทายหัวหน้ารัฐบาลของ เลขาธิการพปชร. อาจต้องการเอาใจและพูดแทนหัวหน้าพรรคพปชร. หวังสะท้อนความรู้สึกเพื่อนร่วมพรรค เพียงแต่ว่า สิ่งที่ทำก็สุ่มเสี่ยง กับการถูกมองว่ามีเป้าหมายแฝงเร้น เพราะการเติบโตทางการเมืองแบบก้าวกระโดดของ “ร.อ.ธรรมนัส” ในพรรคแกนนำรัฐบาล นำมาสู่กระแสความไม่พอใจ ของเพื่อนร่วมพรรคอยู่ไม่ใช้น้อย
ยิ่ง “พล.อ.ประยุทธ์” ออกมาให้ห้สัมภาษณ์ ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่สอง ยืนยันว่า “ใครจะไปพูดอะไรก็แล้วแต่ ผมยังไม่มีการปรับ ครม.ในตอนนี้ จะไม่มีการยุบสภาในตอนนี้ ไม่มีในสมองผมเลย เพราะฉะนั้นใครที่ออกไปพูดในลักษณะนี้ ระวังตัวไว้ด้วยแล้วกัน เพื่อสร้างความตื่นตระหนกอะไรก็แล้วแต่ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็มีหลายข่าว ผมก็ได้ติดตามมาโดยตลอด ถ้ามีใครทำเช่นนั้นจริง ผมคิดว่า เป็นคนที่ใช้ไม่ได้”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้พูดคุยกับพล.อ.ประวิตรหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ก็คุยกันแล้ว พล.อ.ประวิตรท่านบอกว่าไม่มีอะไร ท่านบอกว่าคุยกับข้างในแล้ว แต่ก็ยังมีการปล่อยข่าวเช่นนี้ออกมาอีก ผมไม่สบายใจ และ พล.อ.ประวิตรก็ไม่สบายใจ”
พร้อมทั้งย้ำว่า “เพราะฉะนั้นวันนี้ที่เป็นข่าวมีอยู่ 2-3 เรื่อง คือการโหวตล่มนายกฯ เรื่องนี้ถ้ามันจริงผมถือว่าไม่ใช่สุภาพบุรุษแล้ว เวลานี้ก็ไม่ใช่เวลาที่ต้องมาทำอย่างนั้น ทำไปเพื่ออะไร ผมเข้ามาทำงานก็ทำงาน 100% ทุกเรื่อง ดังนั้นที่มีข่าวว่าจะมีการไปรวมคะแนนเสียงโหวต ซึ่งจริงไม่จริงผมไม่ทราบ ผมถือว่าไม่ใช่สุภาพบุรุษ ถ้าทำแบบนี้
ส่วนที่ 2 อาจจะมีการปล่อยข่าวว่าผมจะยุบสภา ทุกคนก็ตื่นตระหนกไปหมด และมีการไปพูดทำนอง เรื่องของกำลังคน ทำให้นายกฯไม่มีอำนาจในการยุบสภา และเรื่องที่ 3 มีการแอบอ้างหรือเปล่า ผมยืนยันว่าทุกเรื่องแอบอ้างทั้งสิ้น”
พร้อมทั้งระบุว่า “ยืนยันไม่มีการยุบสภา เรากำลังทำงานหนักอยู่ ทำงานสำคัญ เราจะยุบสภาได้อย่างไร เรื่องที่ 2 การแอบอ้างเบื้องสูง ว่าจะมีการเปลี่ยนตัวนายกฯ ถือว่าผิดอย่างร้ายแรง ผมคนเดียวเท่านั้นที่มีโอกาสถวายข้อราชการ คนอื่นไม่มี ชัดเจนไหม”
หลายคนมองว่า การออกมาจัดหนักครั้งนี้ ต้องการส่งสัญญาณไปถึงผู้อยู่เบื้องหลังในการเคลื่อนไหว ซึ่งถูกมองว่า เป็น แกนนำคนสำคัญในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการเปิดหน้าชนอย่างตรงไปตรงมา ต้องการบอกให้รู้ว่า รับรู้การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะประเด็นละเอียดอ่อน ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบัน
แม้ว่าในที่สุด ก่อนวันลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางออกจากรัฐสภาไปยังมูลนิธิป่ารอยต่อฯ เพื่อไปหารือกับ พล.อ.ประวิตร, พล.อ.อนุพงษ์, ร.อ.ธรรมนัส พร้อมด้วย ส.ส.พรรค 60 คนรออยู่ จนมีข่าว ร.อ.ธรรมนัสได้ยกมือไหว้ขอโทษพล.อ.ประยุทธ์ พร้อมระบุว่า “ถ้าทำอะไรให้ท่านไม่สบายใจ ผมขอโทษ”
อีกทั้ง ร.อ.ธรรมนัสยังได้ชี้แจงถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า ข่าวที่ออกมาเป็นข่าวลือทั้งหมด ไม่รู้เรื่อง พร้อมระบายว่า “การที่เชิญท่านมา อยากขอความมั่นใจว่านายกฯ จะดูแลและทำงานร่วมกับพวกเรา ส.ส.และพรรค พปชร.อย่างไร มีหลายเรื่องที่ ส.ส.ไม่สบายใจ ในฐานะเราเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล พรรคอื่นขออะไรก็ได้ แต่พวกเราไม่ได้อะไรเลย” พล.อ.ประยุทธ์ได้ตอบกลับว่า “ถ้าโครงการต่างๆ มันถูกกฎหมายก็เขียนมา”
เลขาธิการพปชร. ยังบอกอีกว่า “ท่านไม่เคยมาดูแล ไม่ได้เจอ ส.ส.ในพรรคเลย ส.ส.หลายคนก็ไม่เคยได้รู้จักกับท่านเลย” พล.อ.ประยุทธ์เลยตอบกลับไปว่า “ถ้าเป็นปัญหาแบบนี้ ก็จะไปปรับตัวดู” ร.อ.ธรรมนัสกล่าวอีกว่า “อะไรที่ผิดพลาดไป ผมก็ต้องขออภัย แต่สิ่งที่ผมพูดไป พูดไปในฐานะเลขาธิการพรรค ที่ต้องดูแลพรรค ดูแล ส.ส.”
อย่างไรก็ตาม ในการมาพบ ส.ส.ครั้งนี้ พล.อ.ประวิตรและพล.อ.ประยุทธ์ได้โชว์ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของ “3 ป.” โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าไปกอดพล.อ.ประวิตร พร้อมสลับกันพูดรับส่งกันอย่างอารมณ์ดีว่า “ถ้า 3 คน อยู่ก็ต้องอยู่ด้วยกัน ถ้าไปก็ต้องไปด้วยกัน ยังมีเรื่องราวของทั้ง 3 คนที่คนอื่นไม่รู้อีกเยอะ” นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังย้ำด้วยว่า “ถ้าอยู่ เราต้องอยู่กัน 3 คน”
ดูเหมือนฉากจบจากความไม่พอใจสมาชิกพปชร.บางส่วน ที่มีต่อหัวหน้ารัฐบาลจะจบลงด้วยความชื่นมื่น “พล.อ.ประยุทธ์” ยืนยันว่า “พร้อมจะปรับตัว” แต่ในข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ เพราะก่อนหน้านั้นมักมีกระแสข่าว ส.ส.พรรคพปชร.ต้องการให้มีการปรับครม. พุ่งเป้าไปที่กระทรวงมหาดไทย หวังให้ช่วยสร้างฐานทางการเมือง ในห้วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งเหลืออีกปีกว่าๆ มีชื่อ “ร.อ.ธรรมนัส” ติดโผในฐานะ “มท.1” ซึ่งในฐานะ เลขาธิการพรรคแกนนำรัฐบาล ถูกคาดหวังและเชื่อว่าจะดูแลทุกข์สุขของส.ส. 1 “ได้ดีกว่า” พล.อ.อนุพงษ์
จากนี้คงต้องจับตาดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะโอนอ่อนผ่อน ในเรื่องการปรับ.ครม.หรือไม่ เนื่องจากอดีตที่ผ่านมา “บิ๊กป้อม” มักเล่นบท ยอมงอ-ไม่ยอมหัก…แทบทุกครั้ง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในฝ่ายบริหารจริงๆ หัวหน้ารัฐบาลอาจะยอมให้ “บิ๊กป้อม” เข้าไปทำหน้าที่ “รมว.มหาดไทย” มากกว่าเลขาธิการพปชร. ซึ่ง “บิ๊กป๊อก” ก็น่าจะยอมรับได้ ในฐานะน้องรองแห่งบูรพาพยัคฆ์ โดยอาจไปนั่งเก้าอี้รองนายกฯ หรือ “รมว.กลาโหม”
เพราะท่าที “นายกฯลุงตู่” ที่แสดงออกต่อ “ร.อ.ธรรมนัส” หลังผ่านศึกซักฟอก ใครก็มองออกว่า ไม่ค่อยปลื้ม หากทำตามคำร้อง ก็เท่ากับยอมตกเป็นไก่รองบ่อน มีผลกระทบกับสภาวะความเป็นผู้นำรัฐบาล อีกทั้งยังมีกระแสข่าว การไล่รื้ออาณาจักรของ “ผู้กองคนดัง” ไม่ว่าจะเป็นกรณีเช่าพื้นที่ตลาดคลองเตย การจัดแบ่งโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาล จนอาจทำให้ “คนมากบารมี” กลายเป็น “คนหมดทางทำมาหากิน” ไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
…………………………..
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย “แมวสีขาว”