เหมือนนัดหมาย… แต่ก็อาจไม่ใช่เป็นการนัดหมาย หลังจากบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองพร้อมๆกัน ในช่วง ”พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมเผชิญกระแสกดดันจากม็อบร้อยชื่อ ซึ่งล่าสุดเปลี่ยนเป็น ”คณะราษฎร”
เรียกร้องให้หัวหน้ารัฐบาลลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม ‘‘คณะราษฎร 2563” ซึ่งปักหลักชุมนุมบริเวณสี่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ในช่วงที่ฝ่ายบริหารประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินในสถานการณ์ร้ายแรง 2548
จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมก็ใช้ยุทธวิธีดาวกระจาย ประกาศชัดเจนว่าไม่มีใครเป็นแกนนำ ให้จัดชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แม้ไม่มีการชุมนุมแบบพักค้างคืน แต่ก็ก่อให้เกิดผลกระทบกับสภาพเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่ ”พรรคประชาธิปัตย์” (ปชป. ) ซึ่งถูกจับตามองที่สุด เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา สมาชิกพรรคการเมืองเก่าแก่ออกมาเรียกร้อง ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) เพราะถือเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่พรรคเสนอไว้ก่อนเข้าร่วมรัฐบาล
โดย ”นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เมื่อวันที่ 18 ต.ค. จากนั้นนายจุรินทร์แถลงภายหลังการประชุมว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์บ้านเมืองเช่นเดียวกับประชาชนทั้งประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งพรรคมีจุดยืนว่า 1.พรรคยึดมั่นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นอุดมการณ์ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมา 2.การแก้ปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันควรใช้แนวทางสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะโดยฝ่ายใด และ 3.ทางออกของสถานการณ์ทางการเมืองควรใช้รัฐสภาเป็นเวทีหาทางออกให้กับประเทศ ภายใต้การรับฟัง การแสวงหาความร่วมมือร่วมใจ และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์
ดังนั้นพรรคจึงเห็นว่ารัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพในการขอเปิดประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ เพื่อให้รัฐสภาเป็นเวทีหาทางออกสำหรับการแก้ปัญหาของประเทศ
และเร่งรัดให้มีการแก้ไขรธน.เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 1 ขั้นรับหลักการทันที โดยไม่จำเป็นต้องจัดทำประชามติก่อนรับหลักการ และไม่ควรมีเงื่อนไขใดๆที่จะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดว่ามีการยื้อเวลา
เช่นเดียวกับ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ประกาศจุดยืนของพรรคต่อสถานการณ์การเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ว่า 3 จุดยืนของพรรคคือ 1.ปกป้องสถาบัน 2.แก้รธน. 3.แก้ปัญหาปากท้องประชาชน โดยภท.เป็นพรรคการเมือง ที่มีอุดมการณ์ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ มาตั้วแต่วันแรกของการก่อตั้ง
และจะยึดมั่นอุดมการณ์นี้ไม่มีเปลี่ยนแปลง สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นผลมาจากรธน. ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนจำนวนมากพอสมควร แม้จะผ่านการทำประชามติของประชาชนมาแล้ว แต่เมื่อนำมาใช้แล้วพบว่าก่อให้เกิดปัญหาก็ต้องแก้ไข
พร้อมทั้งยืนว่า ภท.สนับสนุนให้แก้ไขรธน.มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกันใหม่ ยกเว้นหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข การแก้รธน.เป็นข้อเรียกร้องของประชาชนผู้ชุมนุมจะทำให้การเผชิญหน้ากันลดลง และรัฐสภาจะเป็นเวทีการแก้ปัญหาความขัดแย้งของประชาชนที่ดีที่สุด
ขณะที่ ”น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงจุดยืนของพรรค ต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ว่า อุดมการณ์ของชทพ.สืบทอดมาตั้ งแต่สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา คือยึดมั่นในชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ สมัยนายบรรหารยังอยู่ ไม่ว่าท่านจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงใด
และโดยเฉพาะเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านจะทำงานสนองงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างสุดตัวในทุกเรื่อง แนวทางนี้พวกเราชาวชทพ.รับสืบทอดมาอย่างมั่นคง เพราะพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์รักและอยากเห็นความผาสุกอยู่ดีกินดีของประชาชนชาวไทย นี่คือจุดยืนของพรรคต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
สำหรับประเด็นการแก้ไขรธน.นั้น ชทพ.สนับสนุนการแก้ไขรธน. โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในรูปแบบของการจัดตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสิ่งที่พรรคเคยทำจนสำเร็จลุล่วงเป็นรธน.ฉบับประชาชนปี 2540 มาแล้ว แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบหมวด 1และหมวด 2 ในฐานะเป็นพรรคการเมือง
ส่วนท่าทีของพรรคแกนนำรัฐบาล ”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ออกมาระบุว่าถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ว่า พรรคได้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ซึ่งพรรคมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์บ้านเมืองเช่นเดียวกับระชาชนคนไทยทุกๆ คน
โดยเฉพาะกรณีที่มีผลกระทบต่อสถาบันฯ จึงขอแถลงจุดยืนของพปชร. ดังนี้ 1.พปชร.ยึ ดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2.พปชร. มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้พี่น้องประชาชนอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 3.พปชร. สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญโดยกระบวนการทางรัฐสภา และเห็นว่าการแก้ไขรธน. ต้องไม่กระทบหมวด 1 และหมวด 2 อันเป็นลักษณะสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ซึ่งทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า จะธำรงรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
จะเห็นว่าท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลที่สื่อสารออกมา เหมือนต้องการส่งสัญญาณให้สังคม และกลุ่มผู้ชุมนุมภายใต้คณะราษฎรรับรู้ว่า ไม่ว่าจะมีข้อเรียกร้องอะไรก็ตาม อาจไม่เป็นปัญหาในทางปฎิบัติ แต่สิ่งที่กระทบกับสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ พรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถยอมรับได้ อย่าลืมว่า ข้อเสนอข้อเสนอของ ”ม็อบร้อยชื่อ” คือ ต้องมีการปฎิรูปสถาบัน นอกเหนือจากเรียกร้องให้ ”พล.อ.ประยุทธ์” ลาออกจากตำแหน่งนายกฯและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
cr : เพจ ไทยคู่ฟ้า
ส่วนท่าทีของหัวหน้ารัฐบาลหลังจากกลุ่มผู้ชุมนุม กระจายลงไปในพื้นที่ต่างๆ ได้ออกมาตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการขยายพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงหรือไม่ว่า ยังไม่มีการขยายพื้นที่ใดๆทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลต้องพยายามประนีประนอมอยู่แล้ว ก็ขออยู่ไม่กี่อย่างเอง อย่าทำลายทรัพย์สินทางราชการ อย่าทำลายทรัพย์สินประชาชน สิ่งสำคัญที่สุดคือการระมัดระวังการกระทบกระทั่งกันในกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเมื่อวานนี้ก็มีเหตุเกิดขึ้นมา ทะเลาะกันเอง ตีกันเอง ขอให้ระมัดระวังกันมากที่สุด
ภาพ / แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
แต่ประเด็นที่รัฐบาลจะต้องทำก็คือการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องดำเนินการเรื่องเหล่านี้ ซึ่งต้องขอร้องอยู่ไม่กี่เรื่อง โดยขอให้เป็นการชุมนุมโดยสงบ ก็เพราะผ่อนคลายไปบ้างแล้ว ในการใช้กำลังต่างๆก็พยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด ขออย่าให้มีการสร้างสถานการณ์ให้ไปถึงจุดนั้น…
ที่ผ่านมาใครที่ติดตามการปราศรัยหลายเวทีของกลุ่มม็อบร้อยชื่อ ซึ่งมีนักเรียนนักศึกษาและเยาวชนมีส่วนรวมอยู่ด้วย หลายครั้งมีการพาดพิงสถาบัน ซึ่งมีเนื้อหาอ่อนไหว นอกจากนี้ยังเกิดเหตุการณ์ขัดขวางขบวนเสด็จของสมเด็จพระราชินี เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา และผู้ชุมนุมบางคนแสดงกริยาไม่เหมาะสม จนนำไปสู่การออกกลไกพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์บานปลาย
ซึ่งสถานการณ์นับจากนี้ไป คงเป็นเรื่องที่คาดเดายากว่าบทสรุปอย่างไร ต้องขึ้นอยู่ยุทธวิธีในการขับเคลื่อนของแต่ละฝ่าย แม้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจะตกฝ่ายตั้งรับ ทั้งในสื่อโซเชียลและการสร้างไอโอ แต่ละฝ่ายก็ล้วนมีผู้สนับสนุนและอยู่เบื้องหลัง
เพียงแต่ว่า ”กลุ่มราษฎร” ที่ประกาศตัวสนับสนุนอย่างชัดจนชัดคงหนีไม่พ้น คณะก้าวหน้าและ พรรคก้าวไกล (กก.) ทีมี ”นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ ”นายปิยบุตร แสงกนกกุล” ถือธงนำ ซึ่งระยะหลังให้สัมภาษณ์พาดพิงถึงสถาบันอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่ว่า ”ไม่มียุคสมัยไหน ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ จะถูกคนบางกลุ่มคุกคามจาบจ้วงได้เท่ากับยุคนี้ ”
………………………………..
คอลัมน์ : ล้วง-ลึก-ลับ # แมวสีขาว