“สสว.” เผยผลการประเมินโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย เป็นไปตามเป้าหมาย ผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการได้รับอนุมัติเงินกู้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ประสิทธิภาพในการผลิตหรือการบริการเพิ่มขึ้น รักษาการจ้างงานได้เท่าเดิมถึงเพิ่มขึ้น
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยผลการประเมินโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อยว่า โครงการฯ บรรลุเป้าหมายในการทำให้ผู้ประกอบการสามารถยกระดับการพัฒนาคุณภาพการผลิตหรือการให้บริการ เงินกู้ที่ได้รับสามารถช่วยเสริมสภาพคล่อง สร้างรายได้ และประการสำคัญคือ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาการจ้างแรงงานไว้ได้ แม้อยู่ในภาวะวิกฤติที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ที่เปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563–31 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นโครงการของ สสว. ซึ่งดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยซึ่งเป็นสมาชิกของ สสว. ที่ประสบปัญหาทางการเงินให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ทั้งนี้ ในการอำนวยสินเชื่อดังกล่าว สสว. ได้มอบหมายให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่ง ภาพรวมของโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อยครั้งนี้ มีจำนวนผู้ยื่นขอกู้ทั้งสิ้น 7,142 ราย วงเงิน 8,107 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติเงินกู้จำนวน 2,285 ราย วงเงิน 3,676.30 ล้านบาท
ในการประเมินผลการดำเนินงานโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ได้สำรวจผู้ประกอบการที่ได้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,181 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5–23 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยเป็นการวิจัย
ทั้งเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินงานว่าเป็นไปตามเป้าหมายสำคัญมากน้อยเพียงใด
ในประเด็นแรก การประเมินเป้าหมายของการเสริมสภาพคล่องและเพิ่มรายได้ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.3 ระบุว่าเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติมีผลต่อกิจการโดยทำให้รายได้ดีขึ้น ผู้ประกอบการร้อยละ 14.5 ระบุเงินกู้ที่ได้รับมีผลต่อกิจการโดยทำให้รายได้ดีขึ้นมาก ในขณะที่ ผู้ประกอบการร้อยละ 26.2 ระบุว่าเงินกู้ทำให้รายได้ดีขึ้นค่อนข้างน้อย เมื่อสอบถามว่า เงินกู้ที่ได้รับส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวต่อปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใด พบว่าผู้ประกอบการร้อยละ 73.5 ระบุประโยชน์ที่ได้รับจากการได้รับอนุมัติเงินกู้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ร้อยละ 16.5 ระบุ เหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 10.0 ระบุ แย่ลง
ในประเด็นที่ 2 การสำรวจว่าผู้ประกอบการนำเงินกู้ไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
หรือการบริการในด้านใดบ้าง พบว่า ผู้ประกอบการส่วนมากหรือร้อยละ 49.0 ระบุว่านำเงินกู้ไปใช้จัดหาวัสดุ/อุปกรณ์ ร้อยละ 43.5 ระบุว่านำเงินไปลงทุนการผลิต ร้อยละ 34.1 ระบุว่านำเงินไปเพิ่มการจ้างงาน ร้อยละ 26.5 ระบุนำเงินไปใช้พัฒนาแรงงาน และร้อยละ 23.1 ระบุนำเงินไปเสริมเทคโนโลยีใหม่ ที่น่าพิจารณา คือ จากการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการระหว่างก่อนการได้รับเงินกู้และภายหลังจากการได้รับเงินกู้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.7 ระบุประสิทธิภาพในการผลิตหรือการบริการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.6 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 6.7 ระบุลดลง
ในประเด็นที่ 3 การประเมินว่าเงินกู้ที่ได้รับจากโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ช่วยรักษาการจ้างงานได้หรือไม่ อย่างไร พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.8 ระบุว่าการได้รับเงินกู้ทำให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาการจ้างงานได้เท่าเดิมถึงเพิ่มขึ้น ขณะที่ ร้อยละ 8.2 ระบุว่าการจ้างงานลดลง
ผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การดำเนินโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อยสามารถบรรลุเป้าหมาย
ในการช่วยรักษาสถานภาพการประกอบการ แม้โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด -19 ระลอก 3 ซึ่งขณะนั้นไม่มีผู้ใดคาดเดาได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 จะรุนแรง ดังเช่นที่เกิดอยู่ในขณะที่ทำการสำรวจ แต่ผลการสำรวจเพื่อประเมินผลการดำเนินโครงการ ฯ พบว่า แม้ผู้ที่ได้รับอนุมัติเงินกู้ไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพหรือสร้างรายได้ตามที่ตั้งความหวังไว้ แต่ก็ยังได้ใช้เงินกู้เป็นทุนหมุนเวียนและสามารถรักษาการจ้างงานได้ระดับหนึ่ง
นายวีระพงศ์ กล่าวอีกว่า “ผลการประเมินข้างต้นชี้ชัดว่า การดำเนินโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย เป็นการใช้เงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs โดยตรง”
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของนโยบายการอำนวยสินเชื่อ
เพื่อสนับสนุน SMEs รายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินเชื่อสำหรับวิสาหกิจรายย่อย (micro enterprise) ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 85 ของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ สสว. ในการนี้ มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่าควรมีการกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของโครงการให้ชัดเจนสำหรับผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะสำหรับวิสาหกิจรายย่อยที่อาจมีความเปราะบางกว่าผู้ประกอบการกลุ่มอื่นๆ
ล่าสุด เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ประกาศเปิดรับผู้ยื่นขอรับสินเชื่อ “โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย” วงเงิน 1,200 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ต่อปี เพื่อช่วยเหลือ SMEs กลุ่มท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ที่พัก และร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน โดยได้กำหนดเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เอสเอ็มอี โดยเฉพาะที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษได้สะดวก เหมาะสมกับสถานการณ์เร่งด่วน